posttoday

เริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ อะไรดี ที่ไปได้ตลอด

18 กันยายน 2562

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...กำพล สุทธิพิเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...กำพล สุทธิพิเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย

ในโลกของทุนนิยมเรามักจะได้ยินคำว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็กกันอยู่บ่อยๆ ถ้าใครดูสารคดีสัตว์ก็จะเห็นวงจรห่วงโซ่อาหาร สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็ก สัตว์ที่ใหญ่กว่าก็กินสัตว์ใหญ่อีกที สัตว์ที่ร่างกายแข็งแรง ตัวใหญ่ก็จะอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร ส่วนสัตว์เล็กๆ ก็จะมีจำนวนมากๆ เพื่อให้เหลือสืบพันธุ์ต่อไป ในโลกธุรกิจก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไรเลย ใครที่มีกำลังเยอะ เช่น มีเงินทุนมาก มีสายป่านยาวๆ ก็จะได้เปรียบคนอื่น เอาเงินทุ่มเข้าไป

พักหลังเราจะเห็นกันเยอะไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจโรงแรม โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ที่ถูกเทคโอเวอร์กันไปเกือบหมด แทบจะหายากแล้วสำหรับห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น โรงพยาบาลท้องถิ่น โรงภาพยนตร์ท้องถิ่น ร้านสะดวกซื้อในท้องถิ่นก็แทบไม่เหลือ ซึ่งบางทีบริษัทที่ใหญ่ก็ไม่ได้เก่งกาจอะไรมากมาย แต่อาศัยว่าเงินหนา รอธุรกิจเล็กๆ ตาย ตัวเองก็อยู่รอดต่อไป ซึ่งบางทีดูเผินๆ ก็เหมือนไม่ยุติธรรม เพราะถ้าเงินเท่าๆ กันเขาอาจไปไม่เป็นเลยก็ได้ การแข่งขันกีฬายังมีการแบ่งดิวิชั่นกันเลย แต่ในโลกธุรกิจที่เป็นทุนนิยม เงินทุนไหลได้อย่างเสรีก็อย่าไปถามหาความยุติธรรม ต้องพยายามรอดชีวิตกันเอง

บางคนเก่งก็รอดไป บางคนถึงขั้นล้มยักษ์ได้ก็ฮือฮากันไป ดังนั้นคนที่เริ่มทำธุรกิจเล็กๆ ก็ไม่ต่างอะไรไปจากปลาตัวเล็กๆ ที่ต้องเจอปลาตัวใหญ่ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศจ้องฮุบอยู่ ก็อยู่ที่เราจะเลือกเอาว่าจะเป็นปลาเล็กที่กล้าหาญชาญชัยไปกัดกับปลาใหญ่ให้ชนะจนโลกระบือ (ซึ่งส่วนใหญ่มักเห็นตายคาสนามรบมากกว่า) หรือจะเป็นปลาเล็กที่คอยหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ให้ปลาใหญ่หาเจอ แล้วก็รอดชีวิตไป หรือจะเลือกเป็นปลาเล็กที่ปลาใหญ่ไม่สนใจจะกิน หรือกินไม่ได้การเริ่มธุรกิจเล็กๆ ถ้าได้พิจารณาก่อนว่าเป็นธุรกิจที่บริษัทใหญ่ๆ ไม่สนใจหรือไม่สามารถมาฮุบได้ เราก็น่าจะปลอดภัย

จริงๆ ก็มีหลายธุรกิจที่เป็นปลาเล็กที่ปลาใหญ่ไม่อยากกิน เช่น ร้านทำผม ร้านกรอบรูป ร้านทำผ้าม่าน ธุรกิจรับจัดสวน หรือรับออกแบบบ้าน เป็นต้น ซึ่งสังเกตได้ว่าจะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานคนเป็นวัตถุดิบ โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ ดังนั้นการที่บริษัทใหญ่ๆ จะใช้เงินทุ่มซื้อเครื่องจักรมาทำแทนคงยาก ก็จะไม่ได้ความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนต่อหน่วย หรือเรียกว่าไม่ได้เปรียบจากการประหยัดจากขนาด เช่น ร้านตัดผม บริษัทใหญ่ๆ ต่อให้มีเงินมากมายสามารถซื้อเครื่องจักรราคาแพงๆ ได้ แต่ก็ไม่มีใครทำเครื่องจักรที่ตัดผมได้ขาย ลักษณะแบบนี้บริษัทใหญ่ๆ ก็ไม่ได้เปรียบบริษัทเล็กๆ ในธุรกิจตัดผม ดังนั้นปลาเล็กตัวนี้ก็ไม่โดนปลาใหญ่กิน

หรืออย่างร้านอาหารก็ต้องเป็นร้านที่มีจุดขายเฉพาะ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องเมนูเด็ดๆ และรสชาติ เช่น ร้านอาหารไทย ร้านอาหารจีน ร้านอาหารประจำชาติ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นร้านอาหารที่มีจุดขายอื่นๆ ที่ไม่เฉพาะ เช่น ความสะดวกรวดเร็ว ทำเล ความทันสมัยต่างๆ อาจจะเสียเปรียบบริษัทใหญ่ๆ ที่มีเงินทุนหนาก็ได้ เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด เพราะการใช้เครื่องจักรผลิตแฮมเบอร์เกอร์ ใช้ทอดไก่ครั้งละมากๆ ได้ และมีสูตรที่กำหนดเป็นมาตรฐานง่ายๆ ใช้เครื่องจักรทำให้ได้ว่าทอดกี่นาที อบกี่นาที และการทำครั้งละมากๆ รสชาติก็ไม่ผิดเพี้ยนไป อันนี้จะเสียเปรียบบริษัทใหญ่ๆ แต่ถ้าเป็นภัตตาคารจีนชื่อดังที่ต้องใช้พ่อครัวที่มีฝีมือ อันนี้บริษัทใหญ่ๆ ก็จะไม่ได้เปรียบจากการประหยัดจากขนาด เพราะพ่อครัวที่มีฝีมือไม่สามารถหามาได้เยอะๆ

อีกลักษณะหนึ่งของธุรกิจเล็กๆ คือ ธุรกิจที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์สูง เช่น ธุรกิจออกแบบบ้าน ออกแบบเว็บไซต์ ออกแบบสวนจัดสวน เพราะเหล่านี้เครื่องจักรทำแทนคนได้น้อยมากหรืออาจไม่ได้เลย ดังนั้นธุรกิจพวกนี้แทบจะไม่ต้องกังวลว่าบริษัทใหญ่ๆ จะมาฮุบกิจการ ในทางกลับกัน ธุรกิจที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์แบบนี้ เมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้น มีชื่อเสียงมากขึ้น มีสาขามากขึ้น คุณภาพงานกลับยิ่งแย่ลง เพราะสภาพแวดล้อมและกระบวนการทำงานที่เป็นระบบของบริษัทใหญ่ๆ มักจะไม่เหมาะกับการผลิตงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ อย่างที่เราเห็นค่ายเพลงขนาดใหญ่ๆ แก้ปัญหาเหล่านี้โดยการตั้งบริษัทลูกที่มีทีมงานแยกไปทำ แล้วเอาผลงานกลับมาขายบริษัทแม่

หากใครที่คิดว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวเพียงเพื่อจะให้เลี้ยงตัวเองได้ ไม่ได้คิดการใหญ่ว่าจะต้องเป็นนายทุนระดับพันล้านหมื่นล้าน ธุรกิจที่มีลักษณะดังกล่าวก็เป็นตัวเลือกที่เหมาะสม เพราะธุรกิจเล็กๆ เหล่านี้จะอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าสักวันหนึ่งจะถูกพวกบริษัทยักษ์ใหญ่มาฮุบกิจการไป ถ้าใครชอบดูรายการอาหารหรือชวนชิมต่างๆ สังเกตในประเทศญี่ปุ่นจะมีร้านอาหารเล็กๆ ที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง และคนต้องมาเข้าคิวกิน โดยเจ้าของเป็นเจ้าของคนเดียวมากมายเต็มเกาะญี่ปุ่น

แต่ถ้าหากมีเป้าหมายว่าอยากทำธุรกิจและถ้าดีจะขยายธุรกิจให้ใหญ่โต ธุรกิจเหล่านี้ก็อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก เพราะถ้าเราทำธุรกิจได้ดีแล้วอยากจะขยายให้ใหญ่ขึ้น หรือเพิ่มสาขามากขึ้น อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก สังเกตจากภัตตาคารจีนชื่อดังต่างๆ มักไม่ค่อยมีสาขา หรือมีก็จำนวนไม่มาก เพราะการขยายธุรกิจหรือเพิ่มสาขา ก็ต้องเพิ่มพ่อครัว แต่พ่อครัวที่มีฝีมือใช่ว่าจะหากันง่ายๆ หรือจะสร้างกันได้เร็ว ถ้าไม่สามารถทำได้ การเพิ่มสาขาก็จะทำให้รสชาติอาหารของสาขาที่เพิ่มด้อยลงไป พาลจะทำให้เสียชื่อเสียงของร้านที่อุตส่าห์สร้างมาจากอดีต

ดังนั้นก่อนเริ่มธุรกิจเล็กๆ สักอย่างหนึ่งก็ควรพิจารณาว่าจะเป็นธุรกิจเล็กๆ แบบไหน จะเป็นปลาเล็กที่ปลาใหญ่ไม่กิน แต่ก็มีข้อจำกัดในการขยายตัว หรือจะเสี่ยงสู้กับปลาใหญ่