posttoday

ออมอย่างไรให้พอใช้หลังเกษียณ

18 กันยายน 2562

คอลัมน์ Wealth Management

คอลัมน์ Wealth Management

เรื่อง ออมอย่างไรให้พอใช้หลังเกษียณ

โดย ธวัชชัย วงศ์รัตนศิริกุล และ ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร

ทีมลงทุน บลจ.บางกอกแคปปิตอล

.......................................................

ปัจจุบันการออมเงินให้พอใช้หลังเกษียณมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น บทความของ World Economic Forum (WEF) เปิดเผยว่าประชาชนส่วนใหญ่มีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับชีวิตหลังเกษียณ โดยในปี 2015 ผู้คนมีเงินออมสำหรับเกษียณอายุขาดแคลนอยู่อีกประมาณ 70 ล้านล้านเหรียญฯ และจะขยับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 400 ล้านล้านเหรียญฯ ในปี 2050 ซึ่งดูแล้วก็เป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงไม่น้อย

สาเหตุหลักๆ 2 ข้อที่ทำให้เงินออมหลังเกษียณไม่เพียงพอ คือ ผลตอบแทนที่ผู้ออมได้รับจากเงินออมลดลงเนื่องจากมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยและอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แม้จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากวิกฤติในปี 2008 กลับขึ้นมาได้ แต่ก็ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนในพันธบัตรปรับลดลงตามลงมาด้วยเช่นกัน ปัจจุบันผลตอบจากพันธบัตร 10 ปีของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 1.65 ต่อปี

สาเหตุที่สอง คือ อายุขัยเฉลี่ยของประชากรที่ยืนยาวขึ้นจากการแพทย์ที่พัฒนาขึ้น โดยข้อมูลจากเวปไซต์ www.geobe.se อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยอยู่อันดับที่ 119 หรือเฉลี่ย 75.37 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 1990 ที่มีอายุเฉลี่ยเพียง 68.41 ปี นั่นคือ คนไทยต้องเตรียมเงินไว้ใช้ชีวิตหลังเกษียณนานถึง 15.37 ปี

ดูเหมือนว่าในปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นจะมีเผชิญปัญหาเรื่องเงินออมหลังเกษียณมากที่สุดในโลก เนื่องจากอายุขัยเฉลี่ยของประชากรอยู่ที่ 85.77 ปี แต่ประชาชนมีเงินออมไว้ใช้ได้เพียง 4.5 ปีภายหลังเกษียณเท่านั้น ในขณะที่ยังคงต้องใช้ชีวิตหลังจากเงินออมหมดอีกนานถึง 15.1 ปีสำหรับผู้ชาย และ 19.9 ปีสำหรับผู้หญิง

 

ออมอย่างไรให้พอใช้หลังเกษียณ

เป้าหมายการออมเงินเกษียณ คือ การเตรียมเงินให้เพียงพอสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันภายหลังชีวิตการทำงานจนกระเป้าหมายการออมเงินเกษียณ คือ การเตรียมเงินให้เพียงพอสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันภายหลังชีวิตการทำงานจนกระทั้งสิ้นอายุขัย ความยากในการบรรลุเป้าหมายคือผลตอบแทนที่ต่ำลงและอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น ส่งผลให้ผู้ออมจำเป็นต้องวางแผนและมีกลยุทธ์ในการออมที่ดี

เริ่มออมเงินเร็วและการลงทุนให้เหมาะสมกับช่วงอายุ

หัวใจหลักสำหรับการบรรลุวัตถุประสงค์เรื่องจากออมเงินสำหรับเกษียณอายุ คือ การวางแผนออมเงินตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นชีวิตการทำงานและออมเงินอย่างสม่ำเสมอ การออมเร็วและออมต่อเนื่องช่วยเพิ่มระยะเวลาการลงทุนและมูลค่าเงินออมสุทธิ วิธีที่จะช่วยให้ผู้ออมออมอย่างมีวินัย เช่นการตั้งเป้ายอดเงินออมต่อเดือนก่อนจะกำหนดส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่าย

อีกทั้งการปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับช่วงอายุ ลงทุนในสินทรัพย์ที่เน้นสร้างการเติบโต (Growth Assets) เช่น กองทุนรวมตราสารทุนหรือหุ้น ในช่วงต้นเพื่อช่วยเร่งมูลค่าของเงินต้นและปรับสัดส่วนเข้าสู่สินทรัพย์ที่เน้นรักษามูลค่า (Preservation Assets) เช่นกองทุนตราสารหนี้ ในช่วงปลายเพื่อสร้างความปลอดภัยของเงินต้น

ออมอย่างมีวินัย เข้าใจวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการลงทุน

ความผันผวนของตลาดอาจจะบั่นทอนกำลังใจของผู้ออม ทำให้เกิดกับดักในพฤติกรรมการลงทุนที่กลัวจะขาดทุนในระยะสั้นและตัดสินใจผิดพลาดโดยการปรับสัดส่วนเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย (ผลตอบแทนต่ำ) ในช่วงที่ตลาดแย่ และกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (ผลตอบแทนสูง) ในช่วงที่ราคาสินทรัพย์ได้วิ่งขึ้นไปแล้ว

นักลงทุนในสหรัฐฯ ที่ตกกับดักทางความคิดและมีพฤติกรรมไล่ตลาด กล่าวคือ ขายสินทรัพย์ที่ราคาต่ำและกลับเข้าซื้อที่ราคาสูง มีผลตอบแทนเฉลี่ย 25 ปีเพียง 4.6% ในขณะที่ผลตอบแทนของตลาดสูงถึง 9.2% ผู้ออมสามารถหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไล่ตลาดโดยการสร้างวินัยการออมกับแผนการลงทุน และเข้าใจวัตถุประสงค์ในการออมว่าเป็นการออมระยะยาวสำหรับเกษียณอายุ

ลดกับดักทางพฤติกรรม เลือกออมในกลยุทธ์ที่สามารถจำกัดความเสี่ยงได้

เลือกลงทุนในกลยุทธ์ที่สามารถจำกัดความเสี่ยงของผู้ออมเงิน โดยแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับประเภทสินทรัพย์ (Asset Class) และระดับหลักทรัพย์ (Security) กลยุทธ์ที่ช่วยลดวามเสี่ยงในระดับ Asset Class เช่น ลงทุนแบบ Multi-Assets Strategy ซึ่งหลักการคือกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เช่น ลงทุนในพันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ส่วนการปรับกลยุทธ์ในระดับ Security คือ พยายามลดทอนความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่ลงทุนภายในสินทรัพย์เสี่ยง ดังนั้นผู้ออมก็ยังจะลงทุนได้ตามแผนการลงทุนแม้ในช่วงผันผวน เช่นการลงทุนหุ้นในเครื่องมือที่เรียกว่า ETFs และเลือกลงทุนในกลยุทธ์แบบ Low-Volatility Strategy หรือ Smart Beta ซึ่งในกลยุทธ์ดังกล่าวจะถูกออกแบบและเลือกหุ้นที่จำกัดความเสี่ยงที่น้อยกว่า แต่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีเทียบเท่ากับหรือดีกว่าตลาด

สรุป

หัวใจในการออมเงินเพื่อให้เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ คือ การลงทุนให้เหมาะสมกับช่วงอายุโดยเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เน้นสร้างการเติบโต (Growth Assets) ในช่วงต้นและปรับสัดส่วนเข้าสู่สินทรัพย์ที่เน้นรักษามูลค่า (Preservation Assets) ในช่วงปลาย การเริ่มวางแผนการออมตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือตั้งแต่ช่วงตั้งต้นของชีวิตทำงานเพื่อทำให้ระยะเวลาในลงทุนใน Growth Assets ให้นานขึ้น อีกทั้งการหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการปรับพอร์ตการออมบ่อยๆ โดยเลือกลงทุนในกลยุทธ์ที่จำกัดความเสี่ยงและความผันผวนต่อตลาดต่ำ