posttoday

การเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนมีแนวโน้มดีขึ้น...จับตาผลการประชุมเฟด

16 กันยายน 2562

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 30.20-30.60 โดยประเมินว่าเงินบาทจะยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง โดยในสัปดาห์นี้การประชุมนโยบายการเงินของเฟดจะเป็นเหตุการณ์สำคัญ โดยตลาดได้คาดไว้แล้วว่าเฟดจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 25 bps ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายลดลงมาอยู่ที่ 2.00% และในการประชุมรอบนี้เฟดจะมีการประกาศคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย (dot-plot) ที่จะสะท้อนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า ซึ่งแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินจะกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงบ้าง นอกจากนี้ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่นจะมีการประชุมนโยบายการเงินเช่นกัน ซึ่งคาดว่าธนาคารกางญี่ปุ่นจะยังคงการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ด้านประเด็นการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนนั้น สัญญาณบวกจากแนวโน้มการบรรลุข้อตกลงทางการค้าชั่วคราวจะสนับสนุนให้ค่าเงินหยวนและตลาดเกิดใหม่ในเอเชียแข็งค่าขึ้น

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ สอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค โดยค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากความเชื่อมั่นในฝั่งค่าเงินยูโรลดลงตลอดทั้งสัปดาห์ก่อนการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จากการคาดการณ์การออกมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินครั้งใหญ่ โดยในการประชุมเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมาอีซีบีประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 10 bps มาอยู่ที่ -0.5% ปรับเงื่อนไขในมาตรการปล่อยกู้ TLTROs-3 ให้ผ่อนคลายมากขึ้นและกลับมาดำเนินมาตรการซื้อสินทรัพย์ (QE) ใหม่ที่ 20 พันล้านยูโรต่อเดือนโดยไม่มีกำหนดวันสิ้นสุดของมาตรการ พร้อมกันกับประกาศมาตรการ 2- tier system ซึ่งเป็นระบบการจัดชั้นการกำหนดดอกเบี้ยบนเงินสำรองส่วนเกิน ซึ่งจะมีบางส่วนที่ไม่โดนกำหนดดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ ในด้านของประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนผ่อนคลายลงเนื่องจาก สหรัฐฯ เลื่อนกำหนดการขึ้นภาษีกับสินค้าจีนจาก 25% เป็น 30% เป็นวันที่ 15 ตุลาคม ส่วนจีนยกเว้นการขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ บางชนิด รวมทั้งสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเลื่อนหรือยกเลิกภาษีบางส่วนเพื่อให้ได้ข้อตกลงชั่วคราวกับจีน โดยรวมส่งผลให้ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยลดลง และค่าเงินสกุลในเอเชียรวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดวันศุกร์ที่ 30.448(ณ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังถูกกดดันจากปัจจัยบวกเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้น ภายหลังจากที่จีนประกาศยกเว้นการขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯบางรายการ ในขณะที่ฝั่งของสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเลื่อนกำหนดการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในกลุ่มมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 30% ออกไปจากกำหนดเดิมในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ซึ่งท่าทีจากทั้งสองฝ่ายถือเป็นสัญญาณที่ดีก่อนที่ทั้งคู่จะมีการเจรจาการค้าระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ยังมีข่าวว่าประธานาธิบดีทรัมป์กำลังพิจารณาข้อตกลงการค้าชั่วคราวกับจีน เป็นปัจจัยสนับสนุนให้นักลงทุนยังคงเปิดรับความเสี่ยง ขณะที่การประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง 10bps มาอยู่ที่ -0.50% เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ รวมไปถึงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติม ต่อจากนี้นักลงทุนต้องติดตามว่าประเทศเศรษฐกิจหลักจะทยอยกันออกมาผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ภายหลังจากที่ธนาคารกลางยุโรปได้เดินหน้าผ่อนคลายไปอีกก้าวแล้ว โดยไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 17-18 กันยายน 2562 โดยตลาดฟิวเจอร์ยังคงให้โอกาสที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 25 bps ในการประชุมเดือนกันยายนนี้อยู่ที่ 92% (ณ วันที่ 13 กันยายน 62 เวลา 16.00 น.)

ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยจะมีขึ้นในวันที่ 25 กันยายน 2562 ต้องติดตามว่า กนง.จะมีท่าทีต่อการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินอย่างไร ท่ากลางสภาพแวดล้อมที่ธนาคารกลางในหลายประเทศดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายมากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงท้ายสัปดาห์ โดยล่าสุดเงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 30.50 บาท (ณ วันที่ 13 กันยายน 62 เวลา 16.00 น.) จะเป็นปัจจัยให้ทาง กนง. ต้องคิดหนักในการประชุมเดือนกันยายนนี้อย่างแน่นอน โดยปิดสัปดาห์วันที่ 13 กันยายน 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.41% 1.39% 1.41% 1.41% 1.54% และ 1.62% ตามลำดับ

การเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนมีแนวโน้มดีขึ้น...จับตาผลการประชุมเฟด

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 9,627 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 8,754 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 3,603 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 2,730 ล้านบาท