posttoday

จุดจบของตลาดเกิดใหม่

13 กันยายน 2562

คอลัมน์ Global Investment Advisory

คอลัมน์ Global Investment Advisory

เรื่อง จุดจบของตลาดเกิดใหม่

โดย คมศร ประกอบผล

หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)

...............................................................................................

การลงทุนในหุ้นตลาดเกิดใหม่ (EM) อยู่ในความสนใจของนักลงทุนทั่วโลกมาอย่างยาวนาน เนื่องจากเชื่อกันว่าตลาดเกิดใหม่มีศักยภาพการเติบโตที่สูงกว่า ซึ่งก็น่าจะนำไปสู่ผลลัพธ์ของการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าตามไปด้วย แต่แท้จริงแล้วตลาดเกิดใหม่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว (DM) เสมอไป

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งตลาดเกิดใหม่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจถึงสองครั้ง ได้แก่ ครั้งแรกวิกฤตเ เตกีล่าในเม็กซิโกในช่วงปี 1994 - 1995 และวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 ซึ่งทำให้ดัชนี MSCI Emerging Market ได้ผลตอบแทนติดลบ 1% ในช่วงปี 1995 – 1999 ในขณะที่หุ้นใน Developed Market ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 130% ในช่วงเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ทศวรรษถัดมา (ปี 2000 – 2009) เป็นช่วงเวลาที่ตลาดเกิดใหม่สร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนได้อย่างโดดเด่น ด้วยปัจจัยบวกจากการที่จีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2001 ซึ่งเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน รวมไปถึงตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และส่งผลให้ ดัชนี MSCI Emerging Market ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว (102%) ในช่วงปี 2000 – 2009 ในขณะที่หุ้นใน Developed Market ปรับตัวลดลง 18% ในช่วงเดียวกัน

มาถึงทศวรรษปัจจุบันที่กำลังจะผ่านพ้นไป (ปี 2010 – 2019) หุ้น EM ที่เคยเป็นดาวเด่น กลับให้ผลตอบแทนที่ย่ำแย่ โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2010 จนมาถึงปัจจุบัน ดัชนีหุ้น EM ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 2% ในขณะที่หุ้น DM ขึ้นมาแล้วถึง 86% ในช่วงเดียวกัน

ปัจจัยหลักที่กดดันตลาดหุ้น EM ในช่วงที่ผ่านมาได้แก่

1) การหยุดอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในช่วงปี 2013 – 2014

2) ราคาน้ำมันที่ลดลงแรงในช่วงปี 2014-2015

3) การลดค่าเงินหยวนในปี 2015

4) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2018 และยังยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน

 

แผนภาพที่ 1: ผลตอบแทนของดัชนีหุ้น EM เทียบกับ DM ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

จุดจบของตลาดเกิดใหม่

มองไปข้างหน้า เรามองว่าปัจจัยกดดันการลงทุนใน EM จะยังคงอยู่ต่อไป โดยเฉพาะสงครามการค้าที่คาดว่าจะยังยืดเยื้อและไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้จีนเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการถ่ายโอนความรู้ของบริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาทำธุรกิจในจีน (Technology Transfer) และการให้เงินอุดหนุนในบางอุตสาหกรรมของรัฐบาลจีนนั้นยังเป็นประเด็นขัดแย้งที่สำคัญในการเจรจา

นอกจากนั้น เรายังมองว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนกำไรของตลาดหุ้น EM จะยังมีแนวโน้มอ่อนแอ เนื่องจากความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ของจีนที่ลดลงตามแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนที่ต้องการลดการลงทุนและเพิ่มการบริโภคในประเทศ

 

แผนภาพที่ 2: กำไรของตลาดหุ้น EM เติบโตช้ากว่าตลาด DM ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากถูกกดดันจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงแรง

จุดจบของตลาดเกิดใหม่

โดยสรุป เรายังมองว่าตลาดหุ้น EM จะยังให้ผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดหุ้น DM ต่อไป ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัจจัยเสี่ยงที่ยังมีอยู่มากในสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้นเราแนะนำให้นักลงทุนทยอยลดการลงทุนในตลาดหุ้น EM ซึ่งมีความผันผวนสูง และให้ผลตอบแทนไม่คุ้มความเสี่ยง