posttoday

ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน : มิติใหม่ของการลงทุน เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี

12 กันยายน 2562

คอลัมน์ รู้ทันลงทุน

คอลัมน์ รู้ทันลงทุน

เรื่อง ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน : มิติใหม่ของการลงทุน เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี

โดย ปริย เตชะมวลไววิทย์

ผู้อำนวยการ ฝ่ายสื่อสารและบริการผู้ลงทุน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

.............................................................................................

“ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน” อาจจะยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ลงทุนไทย แต่ในต่างประเทศตราสารหนี้ประเภทนี้มีข้อดีกว่าตราสารหนี้ทั่วไปอยู่หลายประการ เช่น สภาพคล่องในตลาดรองตราสารมักจะดีกว่า เพราะมีฐานผู้ลงทุนที่กว้างกว่าตราสารหนี้ทั่วไป และยังอาจทำให้ต้นทุนในการออกตราสารลดลง

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (green bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (social bond) และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) จะมีมูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก ในปี 2561 และมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุที่ทำให้ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนได้ความนิยมมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความตื่นตัวในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้มีโครงการจำนวนมากที่มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่ยังขาดเงินทุนจึงหันมาระดมทุนด้วยการออกเสนอขายตราสารหนี้ เพื่อนำไปใช้จ่ายในโครงการต่าง ๆ ที่รณรงค์ในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี นอกจากนี้ กิจการต่าง ๆ ยังสามารถนำกลยุทธ์ Environmental Social and Governance (ESG) มาปรับใช้ในธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะเดียวกันยังเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยจากการลงทุน ทั้งผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายบุคคล โดยในปัจจุบันมีผู้ลงทุนสถาบันที่มีทรัพย์สินภายใต้การบริหารรวม 60 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ลงนามในข้อตกลง Principles for Responsible Investment (PRIs) และผู้ลงทุนรุ่นใหม่ (กลุ่ม millennials) ซึ่งคาดว่าจะครอบครองทรัพย์สินมูลค่า 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 30-40 ปีข้างหน้า ก็ให้ความสนใจอย่างมากต่อการลงทุนที่ส่งผลทางด้านบวกต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น “ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน” มีแนวโน้มที่จะพัฒนาจากตลาดที่เจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะ (niche) กลายเป็นตลาดกระแสหลัก (mainstream)

จากการสัมมนาหัวข้อ Towards the Sustainable Finance & Investment in Thailand ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดขึ้นร่วมกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีผู้เชี่ยวชาญจากในและต่างประเทศร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในการส่งเสริมให้ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน ทำให้รู้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้ออกเสนอขายตราสารดังกล่าวแล้ว 4 ราย และมีมูลค่าการระดมทุนรวมกว่า 23,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอีกมากที่ต้องการแหล่งเงิน ซึ่งสามารถตอบโจทย์ได้ด้วยการออก “ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน” เนื่องจากโครงการมักมีระยะยาว และสามารถกำหนดต้นทุนดอกเบี้ยในระยะยาวได้ อีกทั้งยังสามารถเลือกอายุของตราสารหนี้ให้สอดคล้องกับอายุของโครงการและออกได้หลายรุ่นตามระยะเวลาที่ต้องการใช้เงิน

ขณะที่ผู้ลงทุนไทยให้การตอบรับที่ดี เห็นได้จากการออกตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (green bond) ที่มีความต้องการซื้อตราสารมากกว่าที่ออกจำหน่ายถึงกว่า 8 เท่า และยังมีผู้ลงทุนกลุ่มใหม่ที่ไม่เคยซื้อตราสารประเภทนี้มาก่อนเข้ามาซื้อ ซึ่งช่วยให้ผู้ออกตราสารสามารถกระจายฐานผู้ลงทุนไปยังกลุ่มใหม่ได้

สำหรับผู้ออกตราสารหนี้ก็ไม่ได้มีต้นทุนเพิ่มอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน โดยผู้ออกตราสารสามารถออก green bond โดยลดต้นทุนจากอัตราดอกเบี้ยในตราสารรุ่น 10 ปีได้ และสำหรับตราสารรุ่นอื่นมีต้นทุนดอกเบี้ยไม่แตกต่างเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ปกติที่เคยออกเสนอขายก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี ผู้ร่วมสัมมนาต่างเห็นตรงกันว่าการผลักดันให้เกิดความสำเร็จอย่างแท้จริง ต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันกำหนดเป็นนโยบายระดับชาติ และออกมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ ที่จะช่วยลดภาระให้กับผู้ออก การกระตุ้นบทบาทของผู้ลงทุนสถาบันให้ตระหนักถึงประโยชน์ของการลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ก.ล.ต. ขอเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการเสนอขายตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขออนุญาต และค่ายื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (filing) จนถึง 31 พฤษภาคม 2563 เพื่อให้เกิดการลงทุนและการระดมทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืน อันเป็นบทบาทหนึ่งของระบบตลาดทุนในการช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนครับ