posttoday

สงครามการค้ายังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาท

09 กันยายน 2562

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 30.40-30.80 ในช่วงต้นสัปดาห์ เงินบาทมีแนวโน้มตอบสนองต่อตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อวันศุกร์ อีกทั้งความสนใจของนักลงทุนจะยังคงอยู่ที่พัฒนาการการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนซึ่งจะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคม อีกทั้ง นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรยังคงพยายามยับยั้งการเลื่อนกำหนดวันออกจากสหภาพยุโรปออกไป ก่อนจากปิดสมัยประชุมสภา ปัจจัยดังกล่าวอาจมีผลต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเช่นกัน นอกจากนี้ ปัจจัยที่อยู่ในความสนใจของตลาดอีกปัจจัยหนึ่ง คือ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปในวันพฤหัสบดี

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบระหว่าง 30.55 – 30.68 ตามปัจจัยต่างประเทศ เงินบาทอ่อนค่าในช่วงต้นสัปดาห์เนื่องจากความเสี่ยงของประเด็น Brexit รุนแรงขึ้น ในช่วงต้นสัปดาห์ แม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักรมีมติ 328 ต่อ 301 เสียงในขั้นแรกให้ยับยั้งการออกจากยุโรปแบบไม่มีข้อตกลง (no-deal Brexit) เพื่อเปิดทางให้เลื่อนกำหนดการออกจากยุโรปไปอีกสามเดือนเป็นวันที่ 31 มกราคม 2020 แต่กลับทำให้ความเสี่ยงที่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันจะประกาศเลือกตั้งใหม่มีสูงขึ้น ในวันต่อมา ในวันถัดมา เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น เนื่องจากสภาสหราชอาณาจักรจะสามารถยับยั้งการออกจากยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงพร้อมทั้งยับยั้งการประกาศเลือกตั้งใหม่ได้

ทั้งนี้ ในวันทำการสุดท้าย เงินบาทกลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง เนื่องจากประเด็นเรื่องสงครามการค้ามมีสัญญาณที่ดีขึ้น และทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า โดยทางการจีนประกาศว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และจีนตกลงพบปะเพื่อเจรจาการค้ากันอีกครั้งในช่วงต้นเดือนตุลาคม และตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ โดย ADP ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก ทำให้ตลาดคาดหวังว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในวันศุกร์จะออกมาดีเช่นกัน ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดวันศุกร์ที่ 30.673 (ณ เวลา 17.23 น.)

ตลาดตราสารหนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น โดยนักลงทุนกลับเข้าสู่โหมดเปิดรับความเสี่ยง ทำให้เห็นการโยกเงินจากสินทรัพย์ปลอดภัยเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ดูผ่อนคลายลง ภายหลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายกลับมาเจรจาการค้ากันอีกครั้งในช่วงต้นเดือนตุลาคม รวมไปถึงตลาดยังได้รับแรงสนับสนุนจากตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ โดย ADP เดือนสิงหาคมประกาศเพิ่มขึ้น 195,000 ตำแหน่ง มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 148,000 ตำแหน่ง เป็นการยืนยันภาพตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง รวมไปถึงตัวเลขผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐระบุว่าดัชนีภาคบริการของสหรัฐฯ (ISM non-manufacturing) ออกมาที่ระดับ 56.4 ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 54.0 และอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนกรกฎาคมออกมาสอดคล้องกับที่ตลาดคาด โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯซึ่งวัดจากการบริโภคส่วนบุคคล (PCE Price Index) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.4%YoY ในเดือนกรกฎาคม จากระดับ 1.3%YoY ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 1.6%YoY ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจดังกล่าวช่วยลดความกังวลต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามตลาดฟิวเจอร์ยังคงให้โอกาสที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 25 bps ในการประชุมเดือนกันยายนนี้อยู่ที่ 96% (ณ วันที่ 6 กันยายน 62 เวลา 16.00 น.) ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับตลาดโลก โดยปิดสัปดาห์วันที่ 6 กันยายน 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.41% 1.38% 1.40% 1.42% 1.50% และ 1.54% ตามลำดับ

สงครามการค้ายังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาท

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 11,590 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 155 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 6,163 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 5,582 ล้านบาท