posttoday

ธรรมะกับการออม : อธิษฐานบารมีกับการออม

05 กันยายน 2562

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง

เรื่อง ธรรมะกับการออม : อธิษฐานบารมีกับการออม

โดย บัญชา ตรีบวรสมบัติ

กองทุนบัวหลวง

.............................................................

ก่อนอื่นขอบอกก่อนว่า คำว่า “อธิษฐาน” ในที่นี้ ไม่ใช่ “การขอ” อย่างในความหมายของบุคคลทั่วไป แต่จริงๆ แล้วในความหมายของธรรมะ แปลว่า การตั้งมั่นสมาทานอย่างไม่หวั่นไหวในความดี หรือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและ/หรือผู้อื่น ในทางธรรมะ ใช้ในความหมายว่า การมุ่งมั่นปฏิบัติตนจนหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ซึ่งทุกท่านสามารถนำธรรมะข้อนี้มาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

รวมถึงการออมและการลงทุนด้วยการอธิษฐานเหมือนการวางแผนชีวิตในอนาคต เป็นการตั้งใจที่ไม่หวั่นไหว เหมือนภูเขาหินที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวด้วยแรงพายุ การสร้างอธิษฐานบารมีนี้ จึงมีลักษณะว่า "การไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ ไม่ยอมถอดใจอะไรง่ายๆ" ด้วยการฝึกฝนใจให้เข้มแข็งดุจเพชรเด็ดเดี่ยว ไม่ยอมให้สิ่งใดมาสั่นคลอนเป้าหมาย

ตัวอย่างหนึ่ง เช่น หลักการ Stayed Invest “ความอดทนรอคอยในการลงทุน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนคาดหวังที่ดีในระยะยาว” โดยไม่ซื้อเข้า-ขายออกด้วยความตื่นตระหนกไปตามภาวะตลาด เป็นต้น จะเห็นได้ว่า การอธิษฐานเป็นประดุจหางเสือเรือที่คอยคัดท้ายนาวาชีวิต โดยตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำการให้สำเร็จลุล่วงนำเราไปสู่จุดหมายปลายทาง ถ้าไม่มั่นคงในแรงอธิษฐานก็จะเป็น ประดุจเรือที่เคว้งคว้างกลางทะเล หาฝั่งไม่เจอ

เช่นเดียวกับการออมและการลงทุนเพื่อเป้าหมายให้มีเงินเก็บเพียงพอที่จะนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ข้อใดข้อหนึ่ง โดยเฉพาะการเก็บออมเพื่อการเกษียณอายุ หากแม้นว่า ท่านอาจจะรู้จักเครื่องมือในการออมและการลงทุนต่างๆ มีการวางแผนจำนวนเงินที่จะเก็บออมในแต่ละเดือน แต่ระหว่างทาง ย่อมมีเหตุการณ์ต่างๆ เข้ามากระทบกับแผนการใช้เงินของท่าน หากท่านไม่มีอธิษฐานบารมีหรือการวางแผนที่ดีแล้ว รับรองว่า ท่านคงเก็บสะสมเงินออมไม่ได้ตามแผนอย่างแน่นอน

จงเตรียมการสำหรับอนาคตไว้ให้พร้อม

คนในวัยเพิ่งเริ่มทำงานอาจไม่ได้คำนึงถึงอนาคตมากนัก โดยเฉพาะวันที่ตนเองต้องเกษียณจากการทำงาน เพราะคิดว่า ยังเป็นเวลาอีกยาวไกล ทั้งที่จริงแล้ว ชีวิตหลังเกษียณก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ บางรายการอาจมากกว่าวัยหนุ่มสาวด้วยซ้ำ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ยิ่งอายุขัยเฉลี่ยของคนเรามีแนวโน้มยืนยาวมากขึ้นในอนาคต เงินที่ต้องเตรียมไว้สำหรับการเกษียณก็มากขึ้นตาม เราจึงควรออมเงินเพื่อการเกษียณผ่านหลากหลายช่องทาง อาทิ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และประกันแบบบำนาญ เป็นต้น

สุดท้ายนี้ ด้วยอธิษฐานบารมีที่ท่านได้ตั้งใจไว้ดีแล้ว เชื่อมั่นว่า จะสามารถนำพาท่านให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ท่านได้วางแผนไว้ในที่สุด