posttoday

ไขข้อสงสัยกับภาษีกองทุนรวมตราสารหนี้ใหม่

03 กันยายน 2562

คอลัมน์ Investment Tracker

คอลัมน์ Investment Tracker

เรื่อง ไขข้อสงสัยกับภาษีกองทุนรวมตราสารหนี้ใหม่

โดย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร

........................................................................

สรุปสาระสำคัญของกฎหมายใหม่

พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ.2562 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญกำหนดให้กองทุนรวมมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ดอกเบี้ยรับและส่วนลด ในอัตรา 15% โดยให้ผู้ออกตราสารทุกรายต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายก่อนนำส่งผลประโยชน์ที่เหลือมาให้กองทุน ทั้งนี้กองทุนรวมตราสารหนี้จะได้รับกระทบโดยตรงจากกฎหมายฉบับนี้ ในขณะที่กองทุนรวมผสมที่ลงทุนในตราสารหนี้บางส่วนจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวได้ยกเว้นภาษีสำหรับกองทุนที่ส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมที่เสนอขายหน่วยลงทุนให้กับสำนักงานประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)

ผลกระทบต่อนักลงทุนทั่วไป

สำหรับผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ไม่มีภาระเสียภาษีเพิ่มใดๆ ผู้ลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดายังได้รับการยกเว้นภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้นเมื่อขายหน่วยลงทุนเช่นเดิม อย่างไรก็ดี นักลงทุนอาจได้รับผลตอบแทนคาดหวังจากการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ลดลงเนื่องจากกองทุนมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น 15% ก่อนนำผลตอบแทนจากการลงทุนมาแบ่งให้ผู้ถือหน่วยลงทุน ทั้งนี้การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เป็นความพยายามที่จะปรับฐานภาษีให้มีความเท่าเทียมกับผู้ลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง ที่มีหน้าที่เสียภาษี 15% ของรายได้ดอกเบี้ยที่ได้จากตราสารหนี้ตามกฎหมายใหม่ที่ประกาศใช้

กลยุทธ์รับมือภาษีกองทุนตราสารหนี้

ผลกระทบจากการประกาศใช้กฎหมายน่าจะส่งผลอย่างค่อยเป็นค่อยไป นักลงทุนไม่ควรตื่นตระหนกรีบด่วนตัดสินใจลดการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ เพราะแม้ว่าอัตราผลตอบแทนคาดหวังจากการลงทุนอาจจะจะลดลงไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นระดับผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แต่มีสภาพคล่องสูงกว่าเงินฝากประจำ ทั้งนี้ผู้ลงทุนอาจจะต้องปรับมุมมองการลงทุน โดยต้องเข้าใจเรื่องอัตราผลแทนคาดหวังและประเมินระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับอย่างเหมาะสม ทั้งนี้การกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่หลากหลายยังมีความสำคัญ โดยสรุปคือ การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ มี 3 แนวทางหลักที่นักลงทุนควรนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน ดังนี้

1.กลุ่มนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำและให้ความสำคัญกับการรักษาเงินต้นเป็นหลัก การถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารหนี้ต่อไปถือว่าไม่ได้เลวร้าย เนื่องจากกองทุนตราสารหนี้ยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก แม้ว่าจะถูกเก็บภาษีตามกฎหมายใหม่ก็ตาม

ไขข้อสงสัยกับภาษีกองทุนรวมตราสารหนี้ใหม่

2.กลุ่มนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางและต้องการคงระดับอัตราผลตอบแทนคาดหวังที่เท่าเดิม นักลงทุนกลุ่มนี้อาจพิจารณาเลือกกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่มากกว่า อีกทั้งขอบเขตการลงทุนกว้างมากขึ้นเมื่อเทียบกับกองทุนตราสารหนี้ในประเทศ แต่ต้องพิจารณาความเสี่ยงส่วนเพิ่ม ทั้งเรื่องความเสี่ยงด้านเครดิต และความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไปพร้อมๆ กัน

ไขข้อสงสัยกับภาษีกองทุนรวมตราสารหนี้ใหม่

3.กลุ่มนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงและแสวงหาระดับอัตราผลตอบแทนคาดหวังที่สูงขึ้น นักลงทุนกลุ่มนี้อาจประเมินกองทุนผสมเป็นทางเลือก เพราะกองทุนผสมกระจายการลงทุนไปยังตราสารทุนบางส่วน ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าในระยะยาว ถือว่าเป็นการลดผลกระทบภาษีกองทุนตราสารหนี้ลงไปพร้อมกับการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่หลากหลาย ปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ให้เหมาะสมกับทุกสภาวะตลาด สามารถช่วยลดการขาดทุนจากตลาดใดตลาดหนึ่ง

ไขข้อสงสัยกับภาษีกองทุนรวมตราสารหนี้ใหม่