posttoday

ทฤษฎีเกมกับการรักษาโรคมะเร็ง

03 กันยายน 2562

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.ทองใหญ่ อัยยะวรากูล คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.ทองใหญ่ อัยยะวรากูล คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th

ผมต้องขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่แพทย์และไม่มีความรู้ใด ๆ เกี่ยวกับการรักษามะเร็ง แต่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่พอรู้เรื่องทฤษฎีเกมอยู่บ้าง และไม่นานมานี้ได้มีโอกาสอ่านบทความเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับทฤษฎีเกมกับการรักษามะเร็ง จึงขออนุญาตสรุปความในบทความเรื่องนั้นมาถ่ายทอดเพื่อเล่าสู่กันฟังครับ บทความเรื่องที่ว่านี้มีชื่อว่า Using game theory to treat cancer ซึ่งไม่ใช่บทความทางวิชาการเสียทีเดียว แต่เป็นบทความที่ได้จากการถอดบทสนทนาระหว่าง Dr. Katerina Stankova ซึ่งเป็นอาจารย์ทางด้านทฤษฎีเกมที่มหาวิทยาลัย Maastricht ประเทศเนเธอร์แลนด์ และนายแพทย์ Norman Swan ผู้ดำเนินรายการ ในรายการวิทยุชื่อว่า ABC Radio National ซึ่งเป็นรายการวิทยุที่มีชื่อเสียงรายการหนึ่งในประเทศออสเตรเลีย

ก่อนที่เราจะพูดถึงเนื้อหาของบทความเรื่องนี้ ผมขอพูดถึงแนวคิดเรื่องทฤษฎีเกมเล็กน้อยนะครับ ทฤษฎีเกมคือเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผู้เล่นที่มีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างกัน ปฏิสัมพันธ์ในที่ว่านี้คือการที่การกระทำของผู้เล่นคนหนึ่งส่งผลต่อสิ่งที่ผู้เล่นคนอื่นได้รับ เช่น ในเกมหมากรุก การที่ผู้เล่นฝ่ายหนึ่งเลือกว่าจะเดินหมากของตัวเองไปในทางไหน ย่อมส่งผลต่อโอกาสแพ้ชนะของผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ทฤษฎีเกมจึงเป็นเครื่องมือที่มีพลังมาก เพราะสามารถใช้ในการวิเคราะห์ผลลัพธ์ของเกมได้ว่าเกมจะจบลงเช่นใด และยังสามารถประยุกต์ใช้ได้กับศาสตร์ที่หลากหลาย ทั้งเศรษฐศาสตร์ การบริหารธุรกิจ การเมืองการปกครอง การทหาร หรือแม้กระทั่งศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตทั่ว ๆ ไปที่ไม่จำเป็นต้องเป็นมนุษย์ เช่น พันธุกรรมศาสตร์ และแนวคิดจากพันธุกรรมศาสตร์นี้เองครับที่เป็นต้นกำเนิดของทฤษฎีเกมแขนงหนึ่งที่เรียกว่าทฤษฎีเกมเชิงวิวัฒนาการ (Evolutionary game theory) ซึ่งเป็นพื้นฐานของแนวคิดเรื่องทฤษฎีเกมกับการรักษาโรคมะเร็งในครั้งนี้

การรักษามะเร็งแบบดั้งเดิมหรือแบบมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลกนั้นเป็นไปในลักษณะที่ว่า แพทย์ผู้รักษาจะพยายามต่อสู้กับเซลล์มะเร็งโดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การฉายรังสีหรือการใช้เคมีบำบัดซ้ำ ๆ กันในปริมาณที่มากเท่าที่ร่างกายของผู้ป่วยจะรับได้ จนกว่าเซลล์มะเร็งจะฝ่อไปทั้งหมด ซึ่งวิธีดังกล่าวมักไม่ได้ผลหรือได้ผลแต่เพียงในระยะแรกเท่านั้น เนื่องจากเซลล์มะเร็งมักพัฒนาตัวเองให้สามารถต่อต้านกับยาที่ใช้ในการรักษาได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามทฤษฎีวิวัฒนาการที่ว่าสิ่งมีชีวิตย่อมต้องดิ้นรนหาทางพัฒนาตัวเองให้อยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่ตนเองอาศัยอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ การรักษาในครั้งถัดไปจึงต้องใช้การฉายรังสีหรือการใช้เคมีบำบัดในปริมาณที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดผู้ป่วยก็อาจไม่สามารถทนกับการรักษาได้อีกต่อไป

ในทางตรงข้าม การรักษามะเร็งที่นำเอาแนวคิดของทฤษฎีเกมมาประยุกต์ใช้ในการรักษาจะตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า แพทย์ผู้รักษาเหมือนเป็นผู้เล่นของเกมที่สามารถเลือกได้ก่อน (First mover) ว่าจะใช้วิธีการรักษาแบบใด และการตอบสนองของเซลล์มะเร็งซึ่งเปรียบเสมือนเป็น “ผู้เล่น” คนที่สองของเกมนี้ก็ย่อมแตกต่างกันไปตามแต่ละวิธีที่ผู้เล่นคนแรกเลือก นอกจากนี้ เซลล์มะเร็งในร่างกายของผู้ป่วยเองก็สามารถแบ่งออกได้เป็นเซลล์มะเร็งที่ตอบสนองต่อการรักษา และเซลล์มะเร็งที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาซึ่งสามารถพัฒนาตนเองให้ดื้อยาได้ ซึ่งเซลล์ทั้งสองกลุ่มนี้ต่างก็ต้องการขยายแบ่งตัวให้ได้มากที่สุดเพื่อแย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในร่างกายผู้ป่วย แนวทางการรักษาแบบดั้งเดิมที่มุ่งทำลายเซลล์มะเร็งทั้งหมดให้หมดไปจึงอาจไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับการหาแนวทางให้กลุ่มเซลล์มะเร็งที่ตอบสนองต่อการรักษา “เอาชนะ” กลุ่มเซลล์มะเร็งที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาให้ได้ก่อน จากนั้นจึงกำจัดให้เซลล์มะเร็งที่ตอบสนองต่อการรักษาหมดไปในที่สุด

แนวทางการรักษาที่อาศัยความรู้จากทฤษฎีเกมข้างต้นนี้ ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมในวิธีการรักษามะเร็งแบบค่อยเป็นค่อยไป แทนที่จะรักษาด้วยวิธีฉายแสงหรือเคมีบำบัดในระดับที่สูงที่สุดเท่าที่คนไข้จะทนได้ ก็เปลี่ยนมาเป็นแบบรักษาบ้างหยุดรักษาบ้างสลับกันไป โดยในช่วงที่หยุดรักษานั้น แม้เซลล์มะเร็งจะโตขึ้น ก็เป็นการเพิ่มสัดส่วนของกลุ่มเซลล์มะเร็งที่ไม่ดื้อยาและลดสัดส่วนของกลุ่มเซลล์มะเร็งที่ดื้อยาไปในตัว ซึ่งผลลัพธ์ที่พบได้ในผู้ป่วยที่ใช้การรักษาวิธีนี้หลายรายเป็นที่น่าพอใจมาก เช่น เซลล์มะเร็งใช้เวลานานกว่าเดิมกว่าที่จะกลับมาโตอีกครั้ง ปริมาณสารเคมีที่ต้องใช้ในการบำบัดลดลง และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นมาก

แน่นอนครับว่า การรักษามะเร็งด้วยวิธีซึ่งค่อนข้างใหม่นี้จะเกิดประสิทธิผลเป็นที่แน่ชัดเพียงใดและสามารถนำมาใช้เป็นทางเลือกหลักในการรักษาหรือไม่นั้น เป็นประเด็นการวิจัยทางการแพทย์ที่คงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป แต่เรื่องนี้นับได้ว่าเป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นพลังของทฤษฎีเกมได้เป็นอย่างดีครับ