posttoday

เมื่อระบบการศึกษาเริ่มส่งสัญญาณผิดพลาด

27 สิงหาคม 2562

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย... ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย... ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
www.econ.nida.ac.th; piriya.pholphirul.blogspot.com

ในการคัดกรองคนมีความรู้ (ทักษะ) สูงออกจากคนไม่มีความรู้ (ทักษะ) นั้น เรามักนิยมใช้ “วุฒิการศึกษา” เป็นตัวคัดกรอง โดยมีความเชื่อว่า คนที่ผ่านระบบการศึกษาและได้รับวุฒิการศึกษาที่สูงย่อมที่จะมีความรู้ (ทั้งความรู้ทั่วไปและความรู้เฉพาะสาขา) และความสามารถที่สูงกว่าคนที่มีการศึกษาต่ำกว่า

นอกจากนี้ คนที่มีการศึกษาสูงก็น่าที่จะมีคุณธรรมและจริยธรรมที่สูงกว่าคนที่มีการศึกษาต่ำกว่าเช่นกัน ซึ่งในมิติทางเศรษฐศาสตร์แล้ว สามารถกล่าวได้ว่า “การศึกษาทำหน้าที่ในการ “ส่งสัญญาณ (Signal)” ให้กับตลาดแรงงานได้รับทราบถึงความรู้ความสามารถของคนที่จบในสาขาหรือในระดับการศึกษานั้น ๆ โดยที่ตลาดแรงงานจะนำ “สัญญาณ” ที่ถูกส่งผ่านวุฒิการศึกษานี้ไปใช้ในการกำหนด “ค่าจ้างค่าตอบแทนเริ่มต้น” ที่พึงจะได้รับในแต่ละบุคคล ซึ่งผลที่ออกมาก็คือ ถ้าคนไหนที่จบการศึกษาสูง (ต่ำ) คน ๆ นั้นย่อยได้รับค่าจ้างค่าตอบแทนที่สูงขึ้น (ต่ำลง) ตามมา ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะมีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรมจริยธรรมตามวุฒิการศึกษานั้นจริงหรือไม่ก็ตาม

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดปัญหา “การว่างงาน” สูงในหมู่บัณฑิตจบใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัย รวมไปถึงปัญหาการเข้าออกงานบ่อย ๆ ของคนทำงาน ประกอบการเสียงบ่นถึงคุณภาพของบัณฑิตที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของนายจ้าง จึงทำให้เราต้องกลับไปคิดถึงบทบาทของระบบการศึกษาในบ้านเราว่า “การศึกษายังคงทำหน้าที่ในการเป็นผู้ส่งสัญญาณที่ดี (ในการคัดกรองคนเก่งและคนไม่เก่ง) อยู่หรือไม่??

แน่นอนว่าคำตอบตอนนี้ก็คือ “ไม่” ระบบการศึกษาในขณะนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ในการเป็นผู้ส่งสัญญาณที่ดีต่อการคัดเลือกคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่ระบบการศึกษาในบ้านเรา “กำลังเกิดความไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน” (Education Mismatch) ในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งความไม่สอดคล้องทางการศึกษาดังกล่าวได้ส่งผลต่อการลดลงของผลิตภาพในการทำงาน (Labor Productivity) อันเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวซึ่งผมขอจำแนกความไม่สอดคล้องทางการศึกษาที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยนี้เป็น 6 ด้านด้วยกันดังนี้

1) ความไม่สอดคล้องเชิงปริมาณ (Quantity Mismatch) – เมื่อจากระบบเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาภาคการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อสำรวจความต้องการในภาคเอกชนแล้วจะพบว่า ภาคเอกชนกำลังขาดแคลนแรงงานที่จบในสายอาชีพอย่างสายช่างหรือในสายอาชีวะ ในขณะที่นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่จะเลือกเรียนในสายสามัญจนจบรั้วมหาวิทยาลัย (หรือพอจบวุฒิ ปวส.แล้วก็มักเรียนต่อให้จบในระดับปริญญาตรี) จากการสำรวจพบว่า ภาคธุรกิจเองก็ไม่ได้ขาดแคลนคนจบจากรั้วมหาวิทยาลัยดังกล่าว ซึ่งความต้องการที่ไม่สอดคล้องนี้จึงส่งผลให้บัณฑิตจากร้วมหาวิทยาลัยต้องประสบกับปัญหาการว่างงาน

2) ความไม่สอดคล้องเชิงคุณภาพ (Quality Mismatch) – โดยจากการสำรวจโดยธนาคารโลก (World Bank) พบว่า ต่อให้องค์กรสามารถรับพนักงานเพื่อมาเติมเต็มในตำแหน่งงานที่ขาดแคลนได้ก็ตาม แต่ยังพบว่าพนักงานเหล่านั้นก็ยังคงมีระดับทักษะที่ต่ำกว่าความคาดหวังของนายจ้างอยู่มาก โดยระดับทักษะที่ต่ำกว่าความคาดหวังมากที่สุดได้แก่ 1) ภาษาอังกฤษ (ภาษาจีน) 2) ทักษะการใช้เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ และ 3) ทักษะด้านการคิดคำนวณและการวิเคราะห์ ซึ่งทักษะเหล่านี้ก็ไม่ได้มีการฝึกอบรมเพิ่มเติมในสถานประกอบการแต่อย่างไร

3) ความไม่สอดคล้องในแนวราบ (Horizontal Mismatch) – หรือความไม่สอดคล้องในสาขาที่จบออกมา จากงานวิจัยของผมเอง (Pholphirul, 2017) ได้ทำการศึกษาและพบว่า เนื่องจากร้อยละ 70 ของนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยมักเลือกเรียนในสาขาทางด้านสังคมศาสตร์ (เช่นบริหารธุรกิจ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และอื่น ๆ) ซึ่งถือว่าเป็นทักษะเชิง Soft Skill ดังนั้นสาขาดังกล่าวจึงไม่ใช่สาขาที่ขาดแคลน ในขณะที่สาขาที่ขาดแคลนอย่างสาขาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ หรือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสาขาในสาย Hard Skill กลับเป็นสาขาที่มีนักศึกษาเลือกเรียนจบมาน้อยมาก หรือต่อให้จบมา มากกว่าร้อยละ 60 ก็จะไม่ได้เลือกที่งานให้ตรงกับสาขาดังกล่าว ซึ่งงานศึกษาของผม (Pholphirul, 2017) พบว่า แรงงานที่จบมาสาขาหนึ่ง แต่เลือกทำงานในสาขาที่ตนเองไม่ได้จบมาโดยตรงจะได้รับค่าตอบแทนลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

4) ความไม่สอดคล้องในแนวดิ่ง (Vertical Mismatch) – เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมที่ให้ความยกย่องคนจากวุฒิการศึกษาเป็นสำคัญ ดังนั้นการจบเพียงระดับชั้นปริญญาตรีเหมือนสมัยก่อนนั้นจึงเป็นสิ่งที่ธรรมดาไปแล้วในโลกปัจจุบัน การขวนขวายที่เพื่อเรียนต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของเด็กไทยจึงเป็นเรื่องที่ปกติ จึงส่งผลทำให้ตลาดแรงงานไทยเราจึงมีคนจบวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกที่มากอย่างดาษเดื่อน ในขณะที่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตเหล่านั้นกลับไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ตนเองเรียนมากับงานที่ทำ หรือกล่าวได้ว่า งานที่ทำจริงจะต่ำกว่าวุฒิการศึกษาที่จบมา (Under Education) ซึ่งงานศึกษาของผม (Pholphirul, 2017) พบว่า แรงงานที่ทำงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษาของตนจะได้รับค่าตอบแทนลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

5) ความไม่สอดคล้องเชิงพื้นที่ (Geographical Mismatch) – เนื่องจากรัฐบาลต้องการขยายความเจริญออกไปสู่ภูมิภาคจึงได้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งในเขตพื้นที่ที่มีการลงทุนสูงเหล่านั้นล้วนมีความต้องการในการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูง ทั้งในระดับอาชีวะศึกษาไปจนถึงระดับทักษะเฉพาะขั้นสูง (เช่นสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์) ในขณะที่แรงงานที่มีทักษะสูงเหล่านั้นกลับไม่อยากที่จะเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ดังกล่าว แต่กลับเลือกที่จะทำงานในเขตเมืองใหญ่ที่มีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตมากกว่า

6) ความไม่สอดคล้องเชิงทัศนคติ (Attitude Mismatch) ต้องยอมรับว่า คนรุ่นเจน Z ที่กำลังอยู่ในรั้วการศึกษาในปัจจุบันล้วนมีทัศนคติต่อการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากคนในสมัยก่อนมาก คนรุ่นใหม่ไม่อยากทำงานเป็นลูกจ้างและอยากทำธุรกิจเป็นของตนเอง ซึ่งแน่นอนว่า คนเหล่านี้จึงไม่เห็นความสำคัญกับวุฒิการศึกษา เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิตัลที่ส่งผลให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย เขาเหล่านี้กลับมองว่า “การศึกษาในรั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่เสียเวลา และไม่มีความจำเป็น ความรู้ทั้งหมดสามารถหาได้ตามสื่ออินเทอร์เน็ตต่าง ๆ ทั้งจากสื่อสังคมออนไลน์ YouTube รวมไปถึงหลักสูตรการฝึกอบรมต่าง ๆ จากสถาบันการศึกษาทั่วโลก

ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ปัญหาความไม่สอดคล้องทางการศึกษานี้เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งส่งผลต่อการถดถอยของผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) อันเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่ระบบการศึกษาจำเป็นต้องมีปรับยกเครื่องขนานใหญ่ โดยการปรับการเรียนการสอนเพื่อให้ตรงกับตลาดแรงงานที่มีพลวัติการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพื่อที่ระบบการศึกษาจะยังคงทำหน้าที่เป็น “ผู้ส่งสัญญาณ” ที่ยังคงมีประสิทธิภาพอยู่ ไม่เช่นนั้นเราคงจะได้เห็นสถาบันการศึกษาจำเป็นต้องปิดตัวเร็วขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นี้

อ้างอิง
Pholphirul, Piriya (2017) "Educational Mismatches and Labor Market Outcomes: Evidence from both Vertical and Horizontal Mismatches in Thailand", Education and Training, 59(5): 534-546.