posttoday

เลือกประกันสะสมทรัพย์ให้โดนใจ ในยุคดอกเบี้ยขาลง

27 สิงหาคม 2562

คอลัมน์ I wish you wealth

คอลัมน์ I wish you wealth

เรื่อง เลือกประกันสะสมทรัพย์ให้โดนใจ ในยุคดอกเบี้ยขาลง

โดย วัทธิกร กิจจาวิจิตร AFPT™

Assistant Wealth Manager ธนาคารทิสโก้

................................................................

นับตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2562 สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะลดวงเงินความคุ้มครองเงินฝากเหลือ 5 ล้านบาท ต่อ 1 ชื่อผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน และในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 จะปรับลดลงเหลือเพียงแค่ 1 ล้านบาท ประกอบกับ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 1.50% ตามเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้นักลงทุนเริ่มมองหาช่องทางลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยมากกว่าการฝากประจำหรือฝากออมทรัพย์ที่ผลตอบแทนต่ำ ขณะที่ราคาอาหาร ต้นทุนการเดินทาง ก็มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่การจะนำเงินที่เก็บหอมรอมริบทั้งหมดไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูงอย่างหุ้นนั้น ก็ดูเหมือนจะเสี่ยงเกินไป ถึงแม้จะมีการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศแล้วก็ตาม ในสภาวะที่ความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้ โดยส่วนตัวคิดว่าการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่ปลอดภัยอย่างประกันสะสมทรัพย์ดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากขึ้น หากเทียบกับในอดีตท่ามกลางดอกเบี้ยที่ต่ำและตลาดหุ้นที่มีความผันผวนสูงจนจับจังหวะได้ยาก ถึงแม้ประกันสะสมทรัพย์จะสร้างผลตอบแทนได้ไม่สูงเท่ากับหุ้น แต่หากโจทย์คือ “อยากลงทุนให้เงินงอกเงย แต่ก็ไม่อยากให้เงินออมสูญหาย เหมือนการฝากเงินในบัญชีเงินฝากประจำ หรือพันธบัตรรัฐบาล” ประกันสะสมทรัพย์จะเข้ามาตอบโจทย์ในทันที

ประกันสะสมทรัพย์นั้น บริษัทประกันจะจัดสรรเงินส่วนหนึ่งไปเป็นค่าประกันชีวิต อีกส่วนหนึ่งจะเป็นส่วนของเงินออม ซึ่งนำไปลงทุนต่อ เพื่อให้เกิดดอกผลและนำมาจ่ายให้กับผู้ซื้อ

โดยประกันสะสมทรัพย์นั้นเงินที่ส่งไปเป็นเงินออมเกือบทั้งหมด จะได้รับผลตอบแทนในลักษณะคล้ายกับการฝากประจำ แต่จะได้ความคุ้มครองกลับมาเล็กน้อยกรณีเสียชีวิต เช่น ได้ 110% จากทุนประกัน ซึ่งความคุ้มครองจะถือว่าน้อยกว่าประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term Life) ที่เน้นความคุ้มครองสูงกว่า แต่มูลค่าเงินสดจะน้อยจนแทบจะไม่มี ทำให้ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลานั้นจะเหมาะกับการคุ้มครองชีวิต แต่ไม่เหมาะกับการออมเหมือนประกันสะสมทรัพย์ ที่จะได้ผลประโยชน์คืนทุกๆ ปี ในรูปแบบเงินคืนให้ตามสัญญา และถึงเวลาที่สิ้นสุดจะจ่ายเงินครบสัญญาตามที่ตกลง

นอกจากนี้ ประกันสะสมทรัพย์ในส่วนของเงินต้น นอกจากจะถูกคุ้มครองแล้ว ยังสามารถเอาไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีภาษี โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมเล็กน้อยว่าแบบประกันต้องมีอายุของประกัน 10 ปีขึ้นไป

ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างประกันสะสมทรัพย์สองแบบเปรียบเทียบกันเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ โดยอิงสมมติฐานผู้ทำประกันเป็นเพศชาย อายุ 35 ปี ซึ่งแบบที่เลือกมานั้นเป็นแบบของบริษัทประกันหนึ่ง คือ แบบ 10/5 และ แบบ 14/7 (ตัวเลขด้านหน้า คือ จำนวนปีที่ชำระเบี้ยประกัน ส่วนตัวเลขด้านหลัง คือ จำนวนปีที่คุ้มครอง)

แบบที่ 1 คือ 10/5 คุ้มครอง 10 ปี จ่ายเบี้ย 5 ปี ชำระเบี้ยประกันภัยปีละ 97,000 บาท ต่อจำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท นั่นคือ หากส่งทั้งหมด 5 ปีจะรวมเบี้ยประกันที่ส่งทั้งหมด 485,000 บาท (ความคุ้มครองชีวิต 500,000 บาท) หากครบกำหนดจะได้รับเงินคืน 509,000 บาท

นอกจากนี้บริษัทประกันได้กำหนดเงินคืนทุกสิ้นปี โดยปีที่ 1-4 จะจ่ายเงินคืน 7% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย (100,000 x 7/100 = 7,000 บาท) ปีที่ 5-7 จ่ายคืน 8% (ปีละ 8,000 บาท) และปีที่ 8-9 จ่ายคืน 9% (ปีละ 9,000 บาท) ทำให้สุทธิแล้วหากถือจนครบสัญญา จะได้เงินทั้งหมด 579,000 บาทจากเงินลงทุน 485,000 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทน (IRR) ประมาณ 2.4%

แบบที่ 2 คือ 14/7 คุ้มครอง 14 ปี จ่ายเบี้ย 7 ปี ชำระเบี้ยประกันภัยปีละ 91,000 บาท ต่อจำนวนเงินเอาประกันภัย 350,000 บาท นั่นคือ หากส่งทั้งหมด 7 ปีจะรวมเบี้ยประกันที่ส่งทั้งหมด 637,000 บาท (ความคุ้มครองชีวิต 700,000 บาท) หากครบกำหนดจะได้รับเงินคืน 630,000 บาท และบริษัทประกันได้กำหนดเงินคืนทุกสิ้นปี

โดยปีที่ 1-5 จะจ่ายเงินคืน 3% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย (350,000 x 3/100 = 10,500 บาท) ปีที่ 6-10 จ่ายคืน 4% (ปีละ 14,000 บาท) และปีที่ 11-13 จ่ายคืน 5% (ปีละ 17,500 บาท) ทำให้สุทธิแล้วหากถือจนครบสัญญา จะได้เงินทั้งหมด 805,000 บาทจากเงินลงทุน 637,000 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทน (IRR) ประมาณ 2.7%

จากตัวอย่างของทั้งสองแบบประกันจะเห็นว่า อัตราผลตอบแทนอยู่ระดับ 2.4% และ 2.7% ซึ่งถือว่ายังสูง หากเทียบกับการฝากประจำ และเงินคืนที่ได้รับจากประกันสะสมทรัพย์นั้นก็ไม่ต้องเสียภาษี ทำให้เมื่อคิดสุทธิแล้ว ต้องฝากประจำในอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า 2.9% เมื่อหักดอกเบี้ยออกมาแล้วจึงจะเหลือผลตอบแทนเท่ากับประกันสะสมทรัพย์ที่ 2.4% และการฝากประจำยังไม่ได้รับความคุ้มครองที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งไม่ได้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี

หากพิจาณาข้อแตกต่างระหว่าง 10/5 และ 14/7 นั้นคือ 14/7 จะได้ความคุ้มครองกับผลตอบแทนที่มากกว่า 10/5 แต่ต้องแลกมากับการชำระเบี้ยประกันที่นานขึ้น รวมถึงระยะเวลาครบสัญญาที่นานขึ้นเช่นกัน จึงต้องนำแบบประกันมาเปรียบเทียบกันหลายๆ แบบเพื่อหาสิ่งที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งคำว่าเหมาะสมที่สุดนั้น แต่ละคนก็มีมาตรฐานที่ไม่เหมือนกัน

จึงสรุปได้ว่า การเลือกประกันสะสมทรัพย์นั้น นอกจากจะดูจากผลตอบแทนแล้ว ควรเลือกแบบประกันที่เหมาะสมกับความต้องการตัวเอง โดยคำนึงถึง ระยะเวลาของเป้าหมายที่ต้องการใช้เงิน สิทธิประโยชน์ทางภาษี ภาระผูกพันเบื้องหลัง และสุดท้ายแล้วความน่าเชื่อถือและบริการของบริษัทประกัน

ซึ่งหากเลือกแบบประกันที่ใช่ได้แล้ว แนะนำให้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 100,000 บาทแรกให้เต็มจำนวน เพราะประกันสะสมทรัพย์นั้นถือได้ว่าเป็นส่วนของการออมเงินที่ปลอดภัย ได้เงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดสัญญา ไม่ต้องรับมือกับความผันผวน และหากเงินต้นของเราอยู่ในส่วนของสินทรัพย์ที่ปลอดภัยมากพอแล้ว เงินลงทุนส่วนเกินก็สามารถนำไปใช้ลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่มีผลตอบแทนที่สูงขึ้น (ความผันผวนสูงขึ้นตาม) อย่างเช่น กองทุน LTF RMF เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมอีกก็ย่อมทำได้