posttoday

ตลาดตอบรับสัญญาณนโยบายการเงินของเฟด...จับตาตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดไทย

26 สิงหาคม 2562

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 30.65-30.85 ในช่วงต้นสัปดาห์ตลาดมีแนวโน้มตอบรับกับสัญญาณของทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินจากธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางหลักอื่นๆ รวมทั้งความคืบหน้าทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงประเด็น Brexit หลังการพบปะกันระหว่างผู้นำจี 7 ในช่วงสุดสัปดาห์ ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงสัปดาห์นี้มาจากการประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 (ปรับปรุงรอบ 2) ของสหรัฐฯ ซึ่งตลาดคาดว่าจะลดลงจากรอบแรก และในเอเชีย จับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางเกาหลีที่ตลาดคาดว่าจะยังเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ ยังต้องรอดูสัญญาณจากธนาคารกลางว่ามีแนวโน้มจะผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อตามธนาคารกลางอื่นๆ ในเอเชียหรือไม่ ในฝั่งของไทยจะมีการประกาศตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งการเกินดุลต่อเนื่องจะยังสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาท

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาททเคลื่อนไหวในกรอบ 30.70 – 30.90 ในช่วงต้นสัปดาห์เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์แม้เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ขยายตัวชะลอลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี โดยเฉพาะการส่งออกที่หดตัวจากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้า เงินบาทยังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องหลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 3.16 แสนล้านบาท ซึ่งช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้บ้าง ทั้งนี้ เงินบาทเคลื่อนไหวทรงตัวในช่วงสัปดาห์แม้การส่งออกไทยตามระบบศุลกากรเดือนกรกฎาคมกลับมาขยายตัว 4.28% โดยเฉพาะการส่งออกเร่งขึ้นจากผลของมูลค่าการส่งออกทองคาที่ขยายตัวสูงขึ้นมากเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นมากในช่วงปลายสัปดาห์ สะท้อนการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติก่อนการประชุมของธนาคารกลางประจำปี ณ เมืองแจ็คสัน โฮล ซึ่งตลาดการเงินรอติดตามถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่อสภาพเศรษฐกิจและแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ปิดตลาดวันศุกร์ที่ 30.715 (ณ เวลา 17.00 น.)

ตลาดตราสารหนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาบรรยากาศการลงทุนโดยรวมกลับมาสู่โหมดเปิดรับความเสี่ยงเล็กน้อย จากที่รัฐบาลเยอรมนีเตรียมประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังเม็ดเงิน 5 หมื่นล้านยูโร หากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นจากความเห็นของสมาชิกเฟดหลายท่านที่เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมที่จะมาถึงในเดือนกันยายนนี้ อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจาก Implied Rate ในตลาดฟิวเจอร์ ตลาดยัง Priced In โอกาสที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2-3 ครั้งภายในปีนี้ จากระดับปัจจุบันที่ 2.20% - 2.25%

ตลาดตอบรับสัญญาณนโยบายการเงินของเฟด...จับตาตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดไทย

ทั้งนี้นักลงทุนยังรอติดตามถ้อยแถลงของคุณเจอร์โรม พาวเวล ในการประชุมประจำปีที่เมืองแจ็คสัน โฮล เพื่อหาปัจจัยใหม่ที่จะมาชี้นำทิศทางตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้านี้ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นทุกช่วงอายุ และเป็นการปรับตัวโดยเส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันสูงขึ้น สอดคล้องกับตลาดพันธบัตรรัฐบาลในต่างประเทศ รวมไปถึงสอดคล้องกับแรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่ขายต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2 โดย ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.49% 1.46% 1.46% 1.48% 1.52% และ 1.54% ตามลำดับ

ตลาดตอบรับสัญญาณนโยบายการเงินของเฟด...จับตาตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดไทย

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 26,796 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 2,047 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 24,661 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 88 ล้านบาท