posttoday

ปรับพอร์ตรับมือความผันผวนพิษสงครามการค้า

26 สิงหาคม 2562

คอลัมน์ Wealth Management

คอลัมน์ Wealth Management

เรื่อง ปรับพอร์ตรับมือความผันผวนพิษสงครามการค้า

โดย ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกรู

บลจ.บางกอกแคปปิตอล

................................................

เกือบสามสัปดาห์ที่ผ่านมาของเดือนสิงหาคมนี้ ต้องบอกเลยครับว่าเป็นตลาดการลงทุนที่มีปัจจัยเข้ามาสร้างความผันผวนอย่างมากมาย บวกวันลบสองวันอย่างกับรถไฟเหาะกันเลยทีเดียวครับ

ปัจจัยหลักที่ตลาดกังวลก็ยังไม่พ้นพิษสงครามการค้าที่ไม่มีความชัดเจนในทิศทางที่จะเดินต่อด้วยสไตล์การบริหารประเทศผ่านการส่งทวีตเตอร์ของทรัมป์ที่ดูจะหาความชัดเจนและข้อยุติได้ยากขึ้นทุกวัน ล่าสุดทรัมป์ขู่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากจีน ซึ่งทำให้ตลาดให้ความหวังว่านโยบายอัดฉีดเงินเข้าระบบที่เฟดทำในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์จะกลับมาอีกครั้ง แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะประธานเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณความต่อเนื่อง ถึงแม้จะลดดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมรอบที่เพิ่งผ่านมานี้

ช่วงสัปดาห์ที่เพิ่งผ่านมา ตลาดกังวลซ้ำเหตุอัตราดอกเบี้ยระยะยาว (10 ปี) ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่ำกว่าดอกเบี้ยระยะสั้น (2 ปี) หรือที่เรียกกันว่า inverted yield curve เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี โดยในอดีตปรากฏการณ์นี้มักเกิดก่อนหน้าภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ถึงแม้ inverted yield curve จะเกิดเพียงระยะเวลาสั้นๆแต่ก็สร้างความผันผวนกับทั้งตลาดหุ้นและตราสารหนี้อย่างมาก

คำถามที่ผมได้รับมากที่สุดช่วงนี้คือ คำแนะนำการปรับพอร์ตเพื่อรับมือภาวะตลาดและการลงทุนครั้งนี้ โดยนักลงทุนส่วนมากมักมีความรู้สึกว่าการขายสินทรัพย์เสี่ยงทิ้งเพื่อถือเงินสดหรือตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำไว้อย่างเดียวเพื่อรอตลาดปรับตัวลงแรงๆก่อนกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งดูเผินๆเหมือนจะเป็นกลยุทธ์ที่ควรทำในสถานะการณ์ตลาดเช่นนี้

แต่ผมต้องบอกเลยครับว่าผมไม่แนะนำการปรับพอร์ตสุดโต่งเพื่อการจับจังหวะตลาดเช่นนี้ จากประสบการณ์การลงทุนเกือบยี่สิบปีในฐานะผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศที่ดูแลเรื่องการปรับพอร์ตและจัดสรรสินทรัพย์โดยตรง ต้องบอกเลยครับว่า การจับจังหวะตลาดหรือ market timing แบบนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุดแบบหนึ่งซึ่งจะหาคนที่ทำถูกได้สม่ำเสมอยากมาก

ความเห็นผมมองว่าเรายังไม่สามารถด่วนสรุปได้ว่าสภาวะเศรษฐกิจโลกกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั้งโลกอยู่ในระดับต่ำมาก ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกสามารถดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายได้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเฟดของสหรัฐฯ ตัวเลขในอดีตแสดงให้เห็นว่าโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในขณะที่เฟดดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายแทบจะไม่มี ในภาวะเช่นนี้ตลาดหุ้นอาจปรับตัวขึ้นต่อไปได้ถ้าสงครามการค้ามีการปรับไปในทิศทางที่คลี่คลายลง

ด้วยดอกเบี้ยระดับต่ำมากในตลาด ข้อแนะนำในการปรับพอร์ตรับมือสภาวะความผันผวนในตลาดแบบองค์รวมที่ผมมีดังนี้

1. การเตรียมให้พอร์ต defensive มากขึ้น โดยปรับพิ่มสัดส่วนการถือเงินสดหรือตราสารหนี้ความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาล แต่ยังคงสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงเช่นหุ้นไว้ในพอร์ตพอควร โดยให้เน้นหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ หุ้นที่สามารถจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอในอดีตโดยไม่ขึ้นลงตามวัฏจักรมากเกินไป

2. การจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มในการเพิ่มมูลค่าเวลาตลาดหุ้นปรับตัวลงรุนแรง ซึ่งในสภาวะตลาดนี้ ผมแนะนำการถือครองพันธบัตรรัฐบาลประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐฯ

3. เพิ่มสินทรัพย์ทางเลือกที่จะมีผลตอบแทนดีในสภาวะดอกเบี้ยขาลง หรือ เศรษฐกิจถดถอย เช่น กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ที่มีรายได้ค่าเช่าชัดเจนไม่ขึ้นลงตามเศรษฐกิจมากเกินไป ซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้จะได้ประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยโลกที่กลับมาสู่ขาลงอีกครั้ง และอาจมีทองคำบางส่วนในพอร์ตเป็นการป้องกันความเสี่ยง

4. การหาจังหวะถั๋วเฉลี่ยต้นทุนเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงเมื่อมีการปรับตัวลงมาก ถ้าเราเตรียมพอร์ตตามข้อ 1-3 ข้างต้นไว้อย่างดี เราจะมีกระสุนให้ยิงเสมอเวลาสินทรัพย์เสี่ยงมีการปรับตัวลง เปลี่ยนความเครียดในการลงทุนตลาดขาลงเป็นการหาจังหวะและโอกาสสะสมสินทรัพย์เสี่ยงในราคาที่ลดลง

แน่นนอนครับการลงทุนในตลาดที่ผันผวนไม่ง่ายเลย แต่ถ้าเราเตรียมความพร้อมและมีแผนไว้ล่วงหน้าอย่างที่ผมแนะนำ เราจะลดความกังวลและตัดสินในลงทุนระยะยาวได้ดีขึ้นครับ กลยุทธ์การลงทุนที่แย่ที่สุดคือ การลงทุนที่ไม่มีกลยุทธ์ชัดเจนและปรับไปตามอารมณ์และความกลัวครับ