posttoday

โอกาสการลงทุนแบบ Smart Beta ในยุคดิจิทัล

25 สิงหาคม 2562

คอลัมน์ คุยเฟื่องเรื่องลงทุน

คอลัมน์ คุยเฟื่องเรื่องลงทุน

เรื่อง โอกาสการลงทุนแบบ Smart Beta ในยุคดิจิทัล

โดย ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์

...................................................................

ในยุคที่ดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันของเรานั้น แนวโน้มของอุตสาหกรรมการลงทุนกำลังถูกเปลี่ยนไปในทิศทางใหม่จากปัจจัยรอบด้านที่สำคัญ เช่น ความรู้ความเข้าใจของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่หลากหลายและน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุน Smart Beta หรือ Thematic Fund ที่มีการลงทุนโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลงานวิจัยที่มีความหลากหลายและสามารถเข้าถึงได้ง่ายก็ยังมีส่วนช่วยให้แนวโน้มการลงทุนเปลี่ยนไปด้วย

ในผลงานวิจัยฉบับหนึ่งบ่งชี้ว่าในระยะยาว กองทุนเชิงรุก (Active Fund) มีผลตอบแทนส่วนเกินที่หลังจากหักค่าใช้จ่ายไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากกองทุนเชิงรับ (Passive Fund) ผลงานวิจัยนี้ได้ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในกองทุนเชิงรับมากขึ้นกว่าในอดีตอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ผลงานวิจัยที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณะทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมการลงทุนเพิ่มมากขึ้น นั่นคือ นักลงทุนมีความรู้และได้รับข่าวสารที่มีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถช่วยลดต้นทุนค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการกองทุนในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์และทำให้รูปแบบการลงทุนเปลี่ยนไป

นอกเหนือจากที่กล่าวมา แนวโน้มของอุตสาหกรรมการลงทุนที่กำลังเปลี่ยนแปลงยังเกิดจากการใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า รวมทั้งนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ อีกด้วย

การลงทุนแบบ Factor Investing หรือที่นิยมเรียนกันว่า Smart Beta นั้นถือเป็นนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์การลงทุนอย่างแท้จริง เนื่องจากถูกออกแบบมาให้มี exposures ตามปัจจัยหลักๆ ของปรัชญาการลงทุนแบบเชิงรุก (active management) โดยกองทุนประเภทนี้มักจะออกมาเป็นชุด เช่น การลงทุนในกลุ่มหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก (Size) การลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน (Value) การลงทุนในกลุ่มหุ้นที่มีผลตอบแทนดีในช่วงที่ผ่านมา (Momentum) และการลงทุนในกลุ่มหุ้นที่มีคุณภาพของสถานะทางการเงินที่ดี (Quality) เป็นต้น

นอกจากนี้ กองทุนในกลุ่ม smart beta ยังมีความโปร่งใสและตรงไปตรงมาในการลงทุน ทั้งยังมีค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการใกล้เคียงกับกองทุนที่บริหารแบบเชิงรับ (Passive Management) กองทุนจำพวกนี้จึงมีการเติบโตอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ยิ่งไปกว่านั้นการลงทุนแบบ Factor Investing ยังทำให้เราสามารถนำประโยชน์จากการใช้งานบิ๊กดาต้า และ Artificial Intelligence มาผสมผสานและสะท้อนออกมาในรูปแบบการลงทุนแบบ Factor Rotating ซึ่งคอยสลับผลัดเปลี่ยนการเลือก Factor โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเอาชนะตลาดตามช่วงเวลาต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ (Systematic) อีกด้วย

หากย้อนกลับไปในอดีตในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมานั้น การเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของบริษัทในตลาดหุ้น เช่น price-to-book ratios ถือเป็นข้อได้เปรียบในการลงทุนและเป็นข้อมูลที่มีคุณค่ามาก แต่ในปัจจุบันนักลงทุนทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงินเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ข้อได้เปรียบจำพวกนี้จึงมีความสำคัญลดลง

ดังนั้น การลงทุนให้ประสบความสำเร็จในยุคปัจจุบันจึงต้องอาศัยข้อมูลอื่น เช่น ข้อมูลที่ประมวลผลจากข้อความในข่าว บทวิเคราะห์หุ้น โซเชียลมีเดีย ข้อมูลจากการค้นหาในอินเทอร์เน็ต ตลอดจนถึงข้อมูลจากภาพถ่ายและวิดีโอต่างๆ แต่ทว่ามนุษย์ไม่สามารถรับรู้แล้วพิจารณาข้อมูลเหล่านี้พร้อมๆ กันได้อย่างครอบคลุม ข้อได้เปรียบจากข้อมูลเหล่านี้จึงต้องอาศัยการประยุกต์ใช้ความรู้ในเชิง Machine learning และ Artificial Intelligence เข้ามาช่วยเพื่อหาความสัมพันธ์และเปลี่ยนจากข้อมูลมาเป็นข้อได้เปรียบในการลงทุน

ทั้งนี้ Factor Investing ยังทำให้เราสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ลงทุนได้อีกด้วย

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในกองทุน Smart Beta ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยลงทุนในกองทุน Smart Beta หลายกองทุนพร้อมกันในอัตราส่วนเท่ากัน เช่น ลงทุนในกองทุน Value 25% กองทุน Quality 25% กองทุน Momentum 25% และ กองทุน Size 25% ซึ่งในระยะยาวการลงทุนแบบนี้ก็สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าตัวเทียบวัดได้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลต่างๆ สำหรับประกอบการตัดสินใจลงทุนถือว่าเป็นหัวใจสำคัญมิควรมองข้าม เพื่อประโยชน์ต่อการลงทุนของเราเองนะครับ