posttoday

เลือกอะไรดีระหว่าง RMF กับประกันบำนาญ

22 สิงหาคม 2562

คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว โดย...นันท์นภัส จันทเสรีนนท์ ศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว โดย...นันท์นภัส จันทเสรีนนท์ ศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

การออมเพื่อวัยเกษียณถือเป็นเรื่องที่ภาครัฐให้ความสำคัญไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากการออกมาตรการจูงใจด้วยการให้สิทธิลดหย่อนภาษีการออมเพื่อวัยเกษียณในรูปแบบต่างๆ อาทิ เงินสะสมเข้า กบข. เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และเบี้ยประกันบำนาญ

การนำส่งเงินสะสมเข้า กบข. สำหรับข้าราชการที่เป็นสมาชิก และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างภาคเอกชนนั้น เป็นการยินยอมให้หน่วยงานหรือนายจ้างหักเงินเดือนบางส่วนเพื่อนำส่งเข้ากองทุนในอัตราที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ สมาชิกหรือลูกจ้างสามารถเลือกอัตราสะสมส่วนเพิ่มและนโยบายการลงทุนตามที่ตนเองสนใจได้ หลังจากนั้นกระบวนการจะเป็นไปแบบอัตโนมัติทำให้เกิดการออมอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน

อย่างไรก็ดี เครื่องมืออีกสองตัวคือ RMF และประกันบำนาญนั้น ผู้มีเงินได้ต้องศึกษาทำความเข้าใจและตัดสินใจด้วยตนเอง จึงมีคำถามสำคัญเกิดขึ้นคือ หากต้องการสะสมความมั่งคั่งเพื่อวัยเกษียณแล้ว ควรเลือก RMF หรือประกันบำนาญดีกว่ากัน ศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข. จึงแนะนำให้พิจารณาจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ทั้งสองในแต่ละประเด็น ดังนี้

- ความแน่นอนของเงินที่จะได้รับในอนาคต

กองทุนรวม RMF จะเป็นการลงทุนเน้นสร้างผลตอบแทนให้เงินงอกเงย ผู้ลงทุนจึงไม่สามารถรู้จำนวนเงินที่จะได้รับแน่นอนเมื่อเกษียณ เนื่องจากสินทรัพย์ที่ลงทุนมีความผันผวน ผลตอบแทนที่ได้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับนโยบายที่เลือก ซึ่ง RMF ก็มีให้เลือกหลากหลายตั้งแต่ที่มีความเสี่ยงต่ำไปถึงความเสี่ยงสูง หากอ้างอิงผลตอบแทนในอดีตที่ผ่านมาถ้าเลือกลงทุน RMF ในนโยบายที่มีสัดส่วนหุ้นอยู่บ้างจะเพิ่มโอกาสให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าประกันแบบบำนาญ ทั้งนี้ควรเลือกนโยบายลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้

ประกันแบบบำนาญ จะได้รับเงินจำนวนแน่นอนทุกปีหลังเกษียณจนสิ้นสุดสัญญา ช่วยให้สามารถวางแผนการใช้เงินหลังเกษียณได้ง่ายขึ้น แถมยังมีวงเงินความคุ้มครองชีวิตให้ทั้งก่อนและหลังเกษียณอีกด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกรมธรรม์

- การนำส่งเงินออม/ลงทุน

กองทุนรวม RMF ไม่จำเป็นต้องซื้อหน่วยลงทุนจำนวนเงินเท่ากันทุกปี เพียงแค่ลงทุนขั้นต่ำทุกปีปีละ 5,000 บาท ต่อเนื่องจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี หากเว้นการลงทุนสามารถเว้นได้ปีเว้นปีจึงจะไม่ผิดเงื่อนไข หากผิดเงื่อนไขจะมีผลต่อภาษีที่ที่เคยลดหย่อนไปและกำไรที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนอาจถูกเรียเก็บเสียภาษี

ประกันบำนาญ ต้องส่งค่าเบี้ยประกันจำนวนเงินคงที่ตั้งแต่ทำสัญญาจนถึงระยะเวลาที่กำหนดไว้ หากหยุดส่งค่าเบี้ยก่อนจะทำให้ผิดสัญญาส่งผลกับความคุ้มครองและจำนวนเงินที่จะได้รับไม่เป็นไปตามที่ระบุในกรมธรรม์ หรืออาจทำให้สัญญาประกันสิ้นสุดลงทันที (ขึ้นอยู่กับตารางมูลค่าในกรมธรรม์) และที่สำคัญเมื่อรับเงินเป็นรายงวดหลังเกษียณแล้ว จะไม่สามารถเวนคืนกรมธรรม์เพื่อรับเป็นเงินก้อนได้ จะต้องรอรับเงินคืนรายงวดต่อไปจนสิ้นสุดสัญญา

- เงื่อนไขการลดหย่อนภาษี

เงินค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ลดหย่อนภาษีได้ ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ส่วนค่าเบี้ยประกันบำนาญลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและต้องไม่เกิน 200,000 บาท ที่สำคัญต้องนำทั้งเงินค่าซื้อหน่วยลงุทน RMF รวมกับค่าเบี้ยประกันบำนาญ และรวมกับเงินนำส่งเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี

โดยสรุปจากข้อความข้างต้นทั้งกองทุนรวม RMFและประกันบำนาญต่างมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นปัจจัยในการเลือกขึ้นอยู่กับเป้าหมายต้องการอะไร

- ถ้าต้องการเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นในอนาคต รับความเสี่ยงได้และเข้าใจการลงทุนเป็นอย่างดี ควรเลือกกองทุนรวม RMF โดยไม่เป็นซื้อจำนวนเท่ากันทุกปี เพียงแค่ลงทุนสม่ำเสมอทุกปีขั้นต่ำ 5,000 บาทต่อเนื่องจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องยอมรับความไม่แน่นอนของเงินที่จะได้รับในอนาคตเนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยง

- ถ้าต้องการรู้จำนวนเงินแน่นอนที่จะได้รับในอนาคต รับความเสี่ยงได้น้อยและได้ความคุ้มครองชีวิตด้วย ควรเลือกประกันแบบบำนาญ โดยต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันจำนวนคงที่ตามสัญญา

สำหรับสมาชิก กบข.หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าควรเลือกลงทุนในกองทุนรวม RMF นโยบายไหนจึงจะเหมาะสมหรือเลือกประกันบำนาญแบบใด สามารถนัดหมาย ศูนย์ข้อมูลการเงิน ได้ที่ My GPF Application