posttoday

"ไปต่อ"หรือ"พอแค่นี้"หลังภาษีกองทุนตราสารหนี้บังคับใช้

20 สิงหาคม 2562

คอลัมน์ เข็มทิศนักลงทุน

คอลัมน์ เข็มทิศนักลงทุน

เรื่อง "ไปต่อ"หรือ"พอแค่นี้"หลังภาษีกองทุนตราสารหนี้บังคับใช้

โดย กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ

ผู้บริหารฝ่าย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย

...........................................................................................

จากบทความก่อนหน้านี้ที่ได้กล่าวถึงการเรียนรู้ภาษีกองทุนตราสารหนี้ พร้อมทั้งแนะนำวิธีรับมือไปในเบื้องต้น ก็มีผู้ลงทุนหลายท่านสอบถามเข้ามาว่าควรโยกเงินจากกองทุนตราสารหนี้ไปลงทุนในกองทุนหุ้นเลยดีมั้ย ซึ่งทำเอาผมตกใจ และประหลาดใจมากว่า “เค้าสามารถรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้ทันทีเพื่อเลี่ยงภาษีกองทุนตราสารหนี้เลยเหรอ!!!” จึงคิดว่าต้องทำความเข้าใจในประเด็นนี้เพิ่มเติม ซึ่งไม่ควรมองมิติของการเสียภาษีเพียงมิติเดียว

กองทุนตราสารหนี้จะเสียภาษี 15% ในส่วนของรายได้ที่เป็นดอกเบี้ยและผลตอบแทนที่เหมือนดอกเบี้ย เช่น ส่วนลด (Discount) เท่านั้น

ส่วนกำไรที่เกิดจากส่วนต่างราคา (Capital gain) จะไม่ต้องเสียภาษี สำหรับผู้ทำหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ได้แก่ ผู้ออกตราสาร ผู้ออกหุ้นกู้ ผู้ออกพันธบัตร หรือ พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้ออกตราสารหนี้ที่กองทุนไปลงทุนจะหักภาษี ณ ที่จ่ายของดอกเบี้ยที่จ่ายออกหรือส่วนลดนั่นเอง

แล้วใครต้องรับต้นทุนจากการเก็บภาษี 15%

กองทุนอาจต้องปรับลดค่าธรรมเนียมลงส่วนหนึ่ง เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนในระดับที่ดีขึ้น แต่คงไม่สามารถรับต้นทุนได้ทั้งหมด ดังนั้น ผู้ถือหน่วยลงทุนจึงต้องยอมรับผลตอบแทนที่ลดลงตามด้วยเช่นกัน

แล้วเราควรไปต่อหรือพอแค่นี้ดีล่ะ?

ถึงแม้ว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้จะลดลงไปบ้าง แต่ก็ยังมีข้อดีในแง่สภาพคล่องที่มีมากกว่าเงินฝากประจำ อีกทั้งยังได้รับผลตอบแทนที่มากกว่า จึงมองว่ายังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่ เพียงแต่ผู้ลงทุนอาจจะต้องปรับวิธีการลงทุนจากระยะสั้นเป็นระยะยาว ปรับความเสี่ยงให้เหมาะกับช่วงอายุของตนเอง

และที่สำคัญอยากให้ผู้ลงทุนมองภาพการลงทุนเป็นลักษณะของพอร์ตการลงทุนมากกว่ามองเป็นรายตัว โดยกระจายการลงทุนไปในหลากหลายประเภทสินทรัพย์ (Asset Allocation) อาทิ เงินฝาก พันธบัตร หุ้นกู้ และหุ้น เป็นต้น เพื่อให้สินทรัพย์แต่ละประเภททำหน้าที่สร้างผลตอบแทนในสภาวะตลาดที่แตกต่างกัน

หากพิจารณาในมิติของสัดส่วนการลงทุน สำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ไม่มาก แนะนำให้ถือกองทุนตราสารหนี้ต่อไปไม่ว่าจะเป็น กองทุนตลาดเงิน (Money Market Fund) เป็นกองทุนที่ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ระยะสั้น มีความเสี่ยงต่ำ และสภาพคล่องสูง เหมาะสำหรับพักเงินแทนที่จะให้เงินอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ กองทุนตราสารหนี้ (Fixed Income Fund) มีลักษณะการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ อาทิ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ตั๋วเงินคลัง บัตรเงินฝาก หุ้นกู้เอกชน เป็นต้น

แม้ว่าราคาของตราสารหนี้อาจมีความผันผวนขึ้นลงได้ตามสภาวะตลาด แต่ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่ได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้ก็ยังมีความผันผวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับหุ้น

กองทุนเทอมฟันด์ (Term Fund) มีลักษณะการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ทั้งไทยและต่างประเทศ ที่สามารถเลือกระยะเวลาลงทุนได้ อาทิ 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี และ 3 ปี เป็นต้น เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการล็อกผลตอบแทนในระยะเวลาการลงทุนที่แน่นอน และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวและสม่ำเสมอสำหรับไว้ใช้จ่ายในวัยเกษียณ อีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในปีที่ลงทุนด้วย

สำหรับผู้ลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้สูงขึ้น แนะนำให้เพิ่มสัดส่วนมาลงทุนในกองทุนผสม (Balanced Fund) ที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้น และกระจายลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ เงินฝาก พันธบัตร หุ้นกู้ เป็นต้น จึงช่วยลดการขาดทุนจากตลาดใดตลาดหนึ่ง เนื่องจากมีการปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ให้เหมาะสมกับทุกสภาวะตลาด

...เพียงเท่านี้เชื่อว่าผู้ลงทุนจะสามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้อย่างราบรื่นแน่นอน