posttoday

นักลงทุนรุ่นใหม่อย่าหัวร้อน ก้าวทีละขั้นจะดีกว่าไหม? 

18 สิงหาคม 2562

นักลงทุนรุ่นใหม่อย่าหัวร้อน ก้าวทีละขั้นจะดีกว่าไหม? 

นักลงทุนรุ่นใหม่อย่าหัวร้อน ก้าวทีละขั้นจะดีกว่าไหม? 

โดย พูลศรี เจริญ

..........................

ใครที่ก้าวเข้ามาสู่โลกการลงทุนแล้วรู้สึกว่าสับสน มึนงง จะเริ่มต้นลงทุนอย่างไรดี จะลงทุนในหุ้นก็ไม่รู้จะเริ่มต้นหุ้นตัวไหน จะลงทุนผ่านกองทุนรวมก็ไม่รู้จะลงทุนกองทุนแบบไหนดี อย่ามัวแต่ส่องหาในโลกโซเชียลว่าใครจะปล่อยหุ้นเด็ด หรือกองทุนเด็ด ขอบอกว่าชีวิตการลงทุนของคุณมีความเสี่ยงแน่นอน

ถอยออกมาก่อนดีกว่ามั้ย แล้วมาเริ่มต้นใหม่จากบันไดขั้นที่หนึ่ง แล้วค่อย ๆก้าวไปทีละขั้นจะดีกว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนหรือเป้าหมายการเงินส่วนตัวของคุณ แนะนำว่าคุณต้องเริ่มต้นจากการสำรวจตัวเองก่อน

นอกจากนี้ เพราะนักลงทุนแต่ละกลุ่มมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน จึงอาจจะต้องมีแผนการลงทุนที่ต่างกันไป หรือต้องออกแบบการลงทุนให้เหมาะกับตัวเอง จะลอกเลียนแบบกันไม่ได้

กลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ ยังเป็นที่หมายปองของเหล่าโบรกเกอร์หุ้น การลงทุนผ่านกองทุนรวม ตลอดจนการออมผ่านกรมอธรรม์ประกันชีวิต ไม่เพียงเท่านี้ ปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิทัล เหรียญโทเคน ก็ยังมาแรง รวมถึงการเทรดค่าเงินสกุลต่าง ๆ หรือฟอเร็กซ์ (forex) ปัจจุบันนี้ก็เป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่

มีคำแนะนำดี ๆจากบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย ) ก่อนอื่นมอร์นิ่งสตาร์ฯ มองว่านักลงทุนที่อยู่ในช่วงอายุ 20 ถึง 30 กว่าปี เป็นกลุ่มที่เพิ่งเข้าสู่วัยทำงานหรือเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวอาจจะไม่มีต้นทุนด้านการเงินมากนัก แต่นักลงทุนกลุ่มนี้มีสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนที่อายุมากกว่าอาจต้องอิจฉา นั่นคือ การมีระยะเวลาการออมเงินที่ยาวนานกว่า รวมทั้งสามารถรับความเสี่ยงต่อความผันผวนได้มาก ทำให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า

คำแนะนำสำหรับนักลงทุนในช่วงวัยดังกล่าวมี 5 ขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1 จัดการหนี้สิน

สำหรับท่านใดที่จะเริ่มออมเงินอาจจะต้องจัดการหนี้สินกันก่อนที่จะมีการลงทุนเพราะการนำเงินไปลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนในขณะที่ยังมีหนี้สินอยู่นั้น สุดท้ายแล้วผลตอบแทนจากการลงทุนอาจน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยของหนี้สินที่ต้องชำระก็เป็นได้ ดังนั้นแนวทางคือ ควรจัดการหนี้สินก่อนที่จะนำเงินที่เหลือมาลงทุน

ขั้นที่ 2 ลงทุนด้านการศึกษา 

หากเราพูดถึงการลงทุนแล้ว ช่วงวัย 20 ถึง 30 กว่านี้ถือเป็นวัยที่เหมาะสมอย่างมากสำหรับการลงทุนด้าน Human Capital ซึ่งหมายถึงการศึกษาหาความรู้ ฝึกฝนเพื่อพัฒนาความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นศึกษาต่อในระดับปริญญาโทหรือสูงกว่าหรือการเทรนนิ่งใดก็ตาม หากยิ่งเริ่มได้เร็วก็จะมีโอกาสและเวลาสร้างผลตอบแทนได้นานยิ่งขึ้น

ขั้นที่ 3 สำรองเงินไว้ยามฉุกเฉิน

สิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุนที่เริ่มออมเงินคือ การรักษาเงินออมรวมทั้งมีเงินอีกส่วนหนึ่งไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน ตัวอย่างที่ควรพิจารณาอาจเป็นการทำประกันด้านที่จะส่งผลด้านการเงินโดยตรงหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ประกันสุขภาพ ประกันทุพพลภาพ ประกันภัยรถยนต์ ประกันชีวิต เป็นต้น การมีเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉินนั้นเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากการมีเงินไว้ใช้ทำให้เราไม่ต้องหันไปหาแหล่งเงินทุนอื่น เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล หรือนำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมาใช้กรณีว่างงานหรือมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

ขั้นที่ 4 เริ่มออมเงินเพื่อวัยเกษียณ

กลุ่มคนที่เริ่มออมเงินมักจะยังไม่คำนึงถึงการออมเงินเพื่อวัยเกษียณด้วยเหตุผลหลายอย่าง อาจเกิดจากการเน้นออมเพื่อเป้าหมายระยะสั้นเช่น เพื่อดาวน์บ้าน/คอนโดมิเดียมหลังแรก รถยนต์คันแรก หรือการแต่งงาน หรือเหตุผลด้านจิตวิทยาก็ส่งผลเช่นกัน เราอาจมองว่ามีเวลาอีกตั้ง 30-40 ปีที่จะออมทำให้ไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้มากนัก แต่หากมองประโยชน์ของดอกเบี้ยทบต้น (compounding interest) แล้วกลุ่มคนอายุน้อยจะได้ประโยชน์มากที่สุด

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก อายุ 22 ปี เริ่มออมเงินเดือนละ 200 บาท ได้ผลตอบแทนที่ 5% ต่อปี จะมีเงินมากกว่า 362,000 บาท เมื่ออายุ 65 ปี ในขณะที่ นาย ข เริ่มออมเงินตอนอายุ 35 ปี ด้วยเงิน 300 บาทต่อเดือน และได้ผลตอบแทนที่ 6% เมื่ออายุ 65 ปี จะมีเงินราว 3 แสนบาทเศษ จาก 2 กรณีนี้แสดงให้เห็นว่าการออมช้าไป 10 ปีทำให้พลาดโอกาสการได้ประโยชน์จากการดอกเบี้ยทบต้น แม้ว่าจะออมด้วยเงินที่มากกว่าและได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าซึ่งก็เป็นการย้ำประโยชน์ของการยิ่งออมเร็วยิ่งดี (แม้จะด้วยจำนวนเงินไม่มาก)

ขั้นที่ 5 ลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

นักลงทุนที่มีการลงทุนในกองทุนจะต้องเคยมีการประเมินความเสี่ยงก่อนการลงทุนเพื่อให้ผู้แนะนำสามารถแนะนำผลิตภัณฑ์การลงทุนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งหัวใจสำคัญของการประเมินที่นักลงทุนควรคำนึงถึงคือ ผลขาดทุนมากที่สุดเท่าไหร่ที่ไม่ส่งผลกับแผนการเงินหรือการดำเนินชีวิต ดังนั้นในกรณีของนักลงทุนที่อายุไม่มากนั้นมักจะมีระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ที่สูงกว่าเนื่องจากยังไม่มีความต้องการใช้เงินออม พอร์ตการลงทุนจึงเหมาะกับการมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่สูงกว่า ในทางกลับกันหากท่านใดมีวัตถุประสงค์การลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะสั้น เช่น การซื้อบ้าน การลงทุนในตลาดหุ้นที่ผันผวนอาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมเท่าใดนัก

อ่านและศึกษาคำแนะนำทั้ง 5 ขั้นตอนจากมอร์นิ่งสตาร์แล้วอย่ารอช้า และอย่าอิดออด อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง เพราะคุณอาจเสียโอกาสใช้ให้เงินทำงานแทนคุณ

สำหรับคนที่มีรายได้ต่อเดือนน้อย ก็สามารถลงทุนด้วยจำนวนเงินที่น้อยๆได้ เช่น การลงทุนผ่านกองทุนรวมของหลายๆบลจ.ก็มีให้ลงทุนขั้นต่ำเพียง 500 บาท ส่วนใครที่ต้องการลงทุนในหุ้น หรือออมหุ้นรายเดือนก็มีให้ลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาทต่อเดือน

เห็นไหมว่าโอกาสนั้นมี แต่คุณจะคว้ามันไว้หรือไม่ ผู้เขียนไม่ได้ท้า แต่อยากให้คุณเริ่มก้าวจากบันไดขั้นแรก อย่ากระโดดข้ามขั้น เชื่อซิคุณไปถึงเป้าหมายการลงทุนอย่างแน่นอน