posttoday

ติดตามการประกาศจีดีพีไทยในไตรมาส 2 และงานสัมมนาของเฟด

19 สิงหาคม 2562

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 30.70-31.00 ปัจจัยกดดันตลาดในสัปดาห์นี้จะยังคงเป็นประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ หลังจีนประกาศจะตอบโต้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ และสัญญาณแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในงานสัมมนาประจำปีของเฟดที่แจ็คสัน โฮล

ด้านการประกาศตัวเลขจีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 2 ในวันจันทร์จะมีผลต่อความเคลื่อนไหวของตลาดค่าเงินบาทเช่นกัน เนื่องจากนักเศรษฐศาสตร์ต่างออกมาคาดกันว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอลงมากจากไตรมาสที่ 1 ที่เห็นการขยายตัวที่ 2.8%YoY และในวันพุธจะมีการประกาศตัวเลขการส่งออกไทยของกระทรวงพาณิชย์ โดยก่อนหน้านี้ ธปท. ได้ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลงชัดเจนทั้งในภาคการส่งออก การลงทุน และการบริโภคในประเทศ จนได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งภาพเศรษฐกิจไทยที่อ่อนคาดว่าจะทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า ธปท. อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อ ซึ่งจะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่า

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลง โดยเป็นผลจากความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ที่สูงขึ้นเป็นสำคัญจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ผ่อนคลายลงบ้าง หลังจากสหรัฐฯ ชะลอการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนบางส่วนซึ่งรวมถึงโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และของเล่นสำหรับเด็ก ออกไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม ขณะที่สินค้าหลายรายการ อาทิ สินค้าเกษตร เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องใช้ครัวเรือน จะยังถูกเก็บภาษีตามกำหนดเดิมในวันที่ 1 กันยายน ประกอบตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศที่แข็งแกร่งจากตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ เดือนกรกฎาคมขยายตัวมากกว่าที่ตลาดคาด

ในทางกลับกันตลาดกังวลความเสี่ยงที่เยอรมนีอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยจีดีพีเยอรมนีในไตรมาสที่ 2 หดตัวลง 0.1%QoQ จากที่ขยายตัว 0.4%QoQ ในไตรมาสก่อน และดัชนีการผลิตของยูโรโซนในเดือนมิถุนายนหดตัวลงมากที่สุดในรอบมากกว่า 3 ปีส่งผลให้เงินยูโรอ่อนค่าลงมาก และตลาดเพิ่มการคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่อีซีบีจะลดดอกเบี้ยนโยบายถึง 20bps ในการประชุมเดือนกันยายน โดยรวมส่งผลให้ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ปิดตลาดวันศุกร์ที่ 30.90 (ณ เวลา 17.10 น.)

ตลาดตราสารหนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2562 เวลา 16.00 น. พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของเยอรมนีมีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ -0.70% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของญี่ปุ่นมีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ -0.23% เป็นระดับที่ใกล้เคียงจุดต่ำสุดเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯมีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 1.56% ใกล้เคียงกับระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2012 และปี 2016 นอกจากนี้ได้เกิดสัญญาณ Inverted Yield Curve ในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี กับ 10 ปี กล่าวคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีลดลงต่ำกว่าพันธบัตรระยะสั้น 2 ปี โดยสัญญาณ Inverted Yield Curve ของคู่นี้เคยเกิดขึ้นล่าสุดในปี 2007 สะท้อนความกังวลที่นักลงทุนมีต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้

ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงทั้งเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกหากอังกฤษออกจากยูโรโซนแบบ No Deal Brexit รวมไปถึงสัญญาณการชะลอตัวลงของประเทศเศรษฐกิจหลัก ยิ่งเป็นแรงกดดันให้ธนาคารกลางในหลายประเทศต้องออกมารับมือกับปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ให้เร็วที่สุด โดยธนาคารกลางที่นักลงทุนเฝ้าติดตามมากที่สุดคงหนีไม่พ้นธนาคารกลางของสหรัฐฯ ที่จะมีการประชุมครั้งถัดไปในเดือนกันยายน ถ้าพิจารณาจากตลาด Future

ในขณะนี้ ตลาดได้ให้โอกาสที่ FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 50 bps ในการประชุมเดือนกันยายน อยู่ที่ระดับ 34% และให้โอกาสที่ FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 25 bps อยู่ที่ระดับ 66% ในส่วนของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวโดยมีความชันลดลง ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.47% 1.42% 1.41% 1.40% 1.41% และ 1.48% ตามลำดับ

ติดตามการประกาศจีดีพีไทยในไตรมาส 2 และงานสัมมนาของเฟด

ในส่วนของกระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 10,549 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 3,906 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 5,994 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 649 ล้านบาท