posttoday

พื้นฐานการลงทุน เริ่มต้นที่ครอบครัว

15 สิงหาคม 2562

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง

เรื่อง พื้นฐานการลงทุน เริ่มต้นที่ครอบครัว

โดย อรพรรณ บัวประชุม CFP®

ทีม BF Knowledge Center กองทุนบัวหลวง

..................................................................

ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ ความรู้ การเรียนรู้ต่างๆ เราอาจจะคิดว่า ความรู้หาได้ที่โรงเรียน ที่สถานศึกษา แต่ว่า ความรู้อยู่ใกล้ๆ ตัวเรานี่เอง อยู่ที่บ้าน อยู่ที่ครอบครัว เพราะฉะนั้น เรื่องการลงทุนก็เช่นกัน สามารถเริ่มได้ง่ายๆ ที่ครอบครัว

ยกตัวอย่าง เช่น คุณพ่อคุณแม่ให้เงินลูก อาจจะเป็นรายวัน สำหรับลูกเล็ก รายสัปดาห์สำหรับลูกที่เริ่มโตขึ้น หรือรายเดือนสำหรับลูกที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น การให้เงินลูกในลักษณะแบบนี้ จะเป็นการฝึกความรับผิดชอบในการบริหารจัดการเงินที่มีอยู่ให้เพียงพอ

นอกจากการบริหารเงินให้กับลูกแล้ว การสอนให้ลูกออมเงินก็เป็นสิ่งสำคัญ แนะนำให้เขารู้จักการออมเงินก่อนนำเงินไปใช้จ่าย อย่างลูกเล็ก ให้เงินวันละ 20 บาท อย่าให้เป็นแบงก์ 20 แนะนำให้เป็นเหรียญ 10 บาท 1 เหรียญ เหรียญ 5 บาท 1 เหรียญ และเหรียญ 2 บาทหรือ 1 บาท เพื่อให้เขาหยอดกระปุกก่อนนำเงินไปใช้ พูดคุยกับเขาเรื่องการออมก่อนใช้จ่าย เพื่อให้แน่ใจว่า มีเงินออมแน่ๆ อย่างน้อย 2 บาท (10%) เผื่อใช้หมด ก็ยังมีออมไว้แล้ว และเมื่อหมดวัน หากมีเงินเหลือก็ให้เขาออมเงินที่เหลือได้อีก

พื้นฐานการลงทุน เริ่มต้นที่ครอบครัว

ในส่วนของลูกโตและวัยรุ่น เงินรายสัปดาห์หรือรายเดือนที่ให้เขาไป ก็ทำเช่นเดียวกัน ให้เขากันเงินออมส่วนหนึ่งไว้ก่อน แล้วนำส่วนที่เหลือไปใช้ หากมีเงินเหลือในแต่ละสัปดาห์ หรือรายเดือน ก็สามารถออมเพิ่มเติมได้ แต่เพื่อไม่ให้เขาออมอย่างไร้จุดหมาย ต้องให้เขามีเป้าหมายด้วย เช่น อยากได้ของเล่น หรืออุปกรณ์ที่ต้องใช้เงินในปริมาณมาก ให้เขาเขียนสิ่งที่อยากได้ พร้อมกับจำนวนเงินที่ต้องใช้ในการซื้อ และให้เขา

เอาเงินออมใส่กล่องที่เขาเขียนสิ่งที่อยากได้ พร้อมกับจำนวนเงินเอาไว้ หากจะให้ดี อาจจะกำหนดระยะเวลาที่ต้องการด้วย จะได้รู้ว่า ต้องหาเงินเพิ่ม หรือต้องออมเงินเพิ่มเติมอีกเท่าไหร่ ในส่วนนี้ หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการสนับสนุนลูกๆ ก็สามารถทำได้ โดยการให้ลูกรับผิดชอบงานบ้านมากขึ้น ให้เขารู้เรื่องความสัมพันธ์ของงานกับเงิน

เพราะหากไม่มีงาน ก็ไม่มีเงิน เหมือนที่คุณพ่อคุณแม่ต้องไปทำงานอยู่ทุกวัน ก็เพื่อหาเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว และใช้จ่ายสำหรับลูกๆ หากลูกต้องการช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่ หรือต้องการหางานพิเศษทำในบ้าน และคุณพ่อคุณแม่สนับสนุนก็สามารถทำได้

โดยลองกำหนดงานบ้าน และใส่เงินเอาไว้สำหรับการทำงานชิ้นนั้นสำเร็จ เช่น กวาดบ้านเสร็จจะได้ 20 บาท ล้างจานจะได้เงิน 10 บาท ซักผ้า-รีดผ้าจะได้เงิน 50 บาท สิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่ลูกสามารถทำได้ อีกทั้งเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการความช่วยเหลือและความรับผิดชอบจากลูกๆ ซึ่งหากลูกทำเสร็จแล้วก็สามารถนำเงินที่คุณพ่อคุณแม่ใส่เอาไว้ให้ ไปใส่ในกล่องที่เขียนสิ่งที่ต้องการเพื่อเพิ่มปริมาณเงินออมได้ ทำให้ลูกรู้คุณค่าของงาน รู้คุณค่าของเงินที่ได้มา และจะเกิดความภาคภูมิใจเมื่อเขาสามารถบรรลุเป้าหมายในสิ่งที่เขาต้องการด้วยความพยายามของเขาเอง

นอกจากนี้ หากลูกมีเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น เช่น อยากเก็บเงินไว้เรียนปริญญาเอก อยากมีเงินลงทุนหลังเรียนจบ ก็ให้เขามีกล่องอีกกล่องหนึ่งเขียนจำนวนเงินที่ต้องการเอาไว้ โดยกล่องนี้ ทุกสิ้นเดือนจะต้องนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ถึงเป้าหมายในอนาคต การลงทุนสามารถกำหนดเงินลงทุนเริ่มต้นเป็นจำนวนเงินก้อน เช่น 1,000 บาท 5,000 บาท หรือมากกว่านี้ก็แล้วแต่ความพร้อม

จากนั้นต้องมีความสม่ำเสมอในการลงทุน เช่น จะลงทุนทุกเดือน เดือนละ 500 บาท ก็ต้องขยันทำงานหาเงินมาสะสมให้ได้ หากต้องการนำเงินนี้ไปลงทุนระยะยาว และเป็นการเพิ่มโอกาสในการลงทุนก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นต่างประเทศ หรือนวัตกรรมต่างๆ ที่จะสอดรับกับอนาคต ก็สามารถทำได้ หากลูกยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์) คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยเปิดบัญชีกองทุนรวมให้ก่อน โดยใช้ชื่อคุณพ่อคุณแม่ หลังจากที่เขาสามารถเปิดบัญชีเองได้แล้ว ก็สามารถโอน หรือขายคืนและซื้อใหม่ในบัญชีลูกก็ได้

นอกจากนี้ เพื่อจะได้รู้ว่า ในแต่ละวันเงินที่ได้มาหมดไปกับอะไรบ้าง ทำไมถึงมีเงินเก็บน้อยจัง ก็ลองทำบันทึกรับ-จ่ายในแต่ละวันดู จะได้เห็นว่าเราหลงไปใช้จ่ายอะไรโดยไม่จำเป็นแบบไม่รู้ตัวหรือเปล่า จะช่วยให้มีสติในการใช้จ่ายด้วย

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ลูกๆ สามารถเริ่มได้จากครอบครัว หากคุณพ่อคุณแม่ให้การสนับสนุนก็ไม่ใช่เรื่องยาก เริ่มลงทุนก่อนก็มีโอกาสรวยได้ก่อนเช่นกัน