posttoday

จากปัจจัยที่กำหนดจำนวนบุตรของคนไทยและเวียดนาม...สู่โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็ก

13 สิงหาคม 2562

คมลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย.. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

คมลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย.. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
www.econ.nida.ac.th; [email protected]

ปัญหาสำคัญที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเนื่องจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทย คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน หลายประเทศที่ประสบปัญหานี้ได้ดำเนินนโยบายการให้เงินอุดหนุนสำหรับครอบครัวที่มีบุตร เพื่อจูงใจให้ตัดสินใจมีบุตรเพิ่มขึ้น ตัวอย่างประเทศที่ดำเนินนโยบายนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอิตาลี อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้มิได้ประสบความสำเร็จจากนโยบายนี้เท่าใดนัก

จากปัญหาข้างต้น ทำให้ผู้เขียนตั้งคำถามในการทำวิจัยว่า ปัจจัยอะไรที่ส่งผลต่อจำนวนบุตร โดยได้ทำการเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยและเวียดนาม ซึ่งเหตุผลที่เลือกเปรียบเทียบสองประเทศนี้เนื่องจากเป็นประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ประสบปัญหาอัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate (TFR) หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่สตรีวัยเจริญพันธุ์คนหนึ่งจะมีได้ตลอดวัยเจริญพันธุ์) ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน แต่ในช่วงหลัง TFR ของประเทศเวียดนามนั้นมีค่าคงที่ดังรูปข้างล่างนี้ ในขณะที่ไทยยังคงมีค่า TFR ลดลงอย่างต่อเนื่อง

จากปัจจัยที่กำหนดจำนวนบุตรของคนไทยและเวียดนาม...สู่โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็ก

ผู้เขียนได้ใช้ข้อมูลจาก Multiple Indicator Cluster Survey (MICS) ซึ่งการสำรวจนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund: UNICEF) เพื่อทำการสำรวจเกี่ยวกับครอบครัวและเด็กในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยและเวียดนาม โดยใช้ข้อมูลส่วนที่ทำการสอบถามผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 49 ปี ผู้เขียนได้กำหนดปัจจัยที่ส่งผลต่อจำนวนบุตรเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ลักษณะของพ่อและแม่ ลักษณะของครัวเรือน และฐานะทางการเงิน

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อจำนวนบุตรของทั้งไทยและเวียดนามที่มีความคล้ายคลึงกัน ได้แก่ ทั้งคนไทยและเวียดนามที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองจะมีแนวโน้มที่มีบุตรจำนวนน้อยกว่าผู้ที่อาศัยในเขตชนบท ซึ่งอาจมีผลมาจากค่าครองชีพในเขตเมืองสูงกว่าค่าครองชีพในเขตชนบท และยังพบว่า ครัวเรือนที่มีระดับรายได้สูงขึ้นจะมีจำนวนบุตรลดลง นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีระดับการศึกษาสูงขึ้น จะตัดสินใจมีลูกน้อยลง ซึ่งอาจเป็นเพราะ ผู้หญิงที่มีการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นมีต้นทุนค่าเสียโอกาสของการมีบุตรเพิ่มขึ้น ซึ่งต้นทุนค่าเสียโอกาสในกรณีนี้คือ การสูญเสียรายได้ระหว่างลาพักคลอดบุตร และการลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลงเนื่องจากต้องจัดสรรเวลามาเลี้ยงดูบุตรจึงทำให้เสียรายได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ศึกษาโดยใช้แบบจำลอง Bivariate Negative Binomial Model ซึ่งศึกษาผลของปัจจัยต่าง ๆ ต่อจำนวนบุตรและการแต่งงานไปพร้อมกันนั้น พบว่า การศึกษาในระดับสูงจะมีผลทำให้มีจำนวนบุตรลดลง แต่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการแต่งงาน

ข้อค้นพบที่สำคัญเกี่ยวกับปัจจัยที่กำหนดจำนวนบุตรที่แตกต่างกันระหว่างไทยกับเวียดนาม คือ โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยมีบุตรเมื่ออายุมากกว่าคนเวียดนาม และการมีสถานภาพแต่งงานไม่มีผลต่อจำนวนบุตรของคนเวียดนาม แต่ส่งผลให้คนไทยมีบุตรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้อาจเป็นสิ่งที่ส่งผลให้ TFR ของเวียดนามมีค่าคงที่ ในขณะที่ TFR ของไทยมีค่าลดลงเรื่อย ๆ

รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคตเช่นกัน จึงให้ความช่วยเหลือครัวเรือนที่ยากจนหรือเสี่ยงต่อความยากจนที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 36,000 บาท ต่อคนต่อปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 ด้วยการให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดให้กับเด็กอายุ 0 – 1 ปี คนละ 400 บาทต่อเดือน และได้ขยายระยะเวลาและเพิ่มเงินอุดหนุด เป็นอายุ 0 – 3 ปี คนละ 600 บาทต่อเดือน ซึ่งล่าสุดจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ได้อนุมัติให้ขยายระยะเวลาเป็นอายุ 0 – 6 ปี และขยายฐานรายได้เป็นไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี

เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ การให้เงินช่วยเหลือโดยรัฐนั้นอาจไม่สามารถกระตุ้นให้ประชาชนมีบุตรจำนวนเพิ่มขึ้นได้ หากแต่เป็นการอำนวยความสะดวกเพื่อเพิ่มคุณภาพของบุตรที่อยู่ในครัวเรือนที่ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงบริการของรัฐ อาทิ บริการทางสาธารณสุขได้สะดวกขึ้น ซึ่งทำให้พ่อและแม่มีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้อย่างเหมาะสมด้วย ข้อค้นพบจากงานวิจัยข้างต้น อาจช่วยให้รัฐสามารถออกแบบนโยบายได้เหมาะสมยิ่งขึ้น อาทิ การให้เงินอุดหนุนจำนวนต่างกันสำหรับครัวเรือนที่อาศัยในเขตเมืองและชนบท การส่งเสริมให้มีการแต่งงานในวัยที่เหมาะสม หรือเมื่อทราบว่า คู่สมรสไทยมีความพร้อมและต้องการมีบุตรเมื่ออายุมาก ทำให้มีโอกาสมีบุตรลดลงแล้ว หากคู่สมรสไม่สามารถมีบุตรได้ด้วยวิธีธรรมชาติซึ่งทำให้ต้องไปพบแพทย์นั้น คู่สมรสสามารถลางานไปพบแพทย์โดยนับว่าเป็นวันลาป่วยได้ หรือมีการพิจารณาว่า การมีบุตรยากนับเป็นโรคอย่างหนึ่งดังเช่นในต่างประเทศ และให้สิทธิในการรับค่ารักษาบางส่วนได้ เป็นต้น

*************************

เอกสารอ้างอิง
Satimanon, Monthien, and Satimanon, Thasanee. 2019. “Factors Influencing Changes in Marriage and Low-Fertility: Evidence from Thailand and Vietnam.” In Singapore: Singapore Economic Review. https://editorialexpress.com/conference/SERC2019/program/SERC2019.html#61.
World Bank. 2019. “Fertility Rate, Total (Births per Woman).” 2019. https://data.worldbank.org/indicator/sp.dyn.tfrt.in.