posttoday

ติดการพัฒนาการสงครามการค้าและตัวเลขเศรษฐกิจจีน

12 สิงหาคม 2562

คมลัมมันนี่วีก (Money week) โดย... พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

คมลัมมันนี่วีก (Money week) โดย... พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 30.50-30.90 ปัจจัยกดดันตลาดในสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังอยู่ที่พัฒนาการความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต่างมีมาตรการตอบโต้ทางการค้าทั้งที่เป็นภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี

ความตึงเครียดทางการค้าอาจส่งผลให้ยังมีความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยและกดดันเงินบาท ในด้านตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ ยูโรโซนจะมีการประกาศตัวเลขจีดีพีซึ่งตัวเลขเบื้องต้นสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงทั่วทั้ง
ภูมิภาค ขณะที่จีดีพีของเยอรมนีซึ่งจะประกาศเป็นครั้งแรกจะเป็นจุดสนใจของตลาด ด้านจีน จะมีการประกาศยอดการขยายตัวของสินเชื่อและยอดค้าปลีกซึ่งอาจมีผลต่อความเชื่อมั่นในการซื้อขายสินทรัพย์ของฝั่งเอเชีย

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมาก สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากจีนประกาศระงับการซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ และปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงเกินระดับ
จิตวิทยาที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2008 หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนรอบใหม่ ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า ทำให้สหรัฐฯ ประกาศว่าจีนเป็นผู้แทรกแซงค่าเงินและ
สหรัฐฯ อยู่ระหว่างหารือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศเพื่อหาบทลงโทษกับจีน ทำให้ความต้องการสินทรัพย์ ปลอดภัยสูงขึ้น และทำให้เงินบาทแข็งค่า ทั้งนี้ ในวันพุธที่ 7 สิงหาคม เงินบาทกลับมาอ่อนค่าเล็กน้อยหลังจากที่
ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps มาอยู่ที่ระดับ 1.50% ซึ่งเหนือความคาดหมายของตลาด

อย่างไรก็ตาม ประเด็นความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยยังคงกดดันให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าต่อ เนื่องจากสหรัฐฯ และจีนเริ่มมีมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันมากขึ้นที่นอกเหนือจากการจัดเก็บภาษี สหรัฐฯ ประกาศชะลอการให้ใบอนุญาตทำธุรกิจกับหัวเว่ยแก่บริษัทสหรัฐฯ และสั่งห้ามไม่ให้องค์กรของรัฐ อาทิ นาซ่าและเพนตากอน ซื้ออุปกรณ์จากบริษัท Huawei และบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีนอื่นๆ ได้แก่ ZTE Hikvision & Dahua
และ Hytera โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 สิงหาคม เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจึงปิดตลาดวันศุกร์ที่ 30.728 (ณเวลา 17.13 น.)

ตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไฮไลท์สำคัญสำหรับตลาดตราสารหนี้คือการประชุมของธนาคารกลางในหลายประเทศ ซึ่งภาพที่เห็นเป็นการสะท้อนมุมมองที่ธนาคารกลางกำลังเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีธนาคารกลาง 5 ประเทศ จาก 11 ประเทศที่ออกมาประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

โดยธนาคารกลางอินเดียลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 35 bps มาอยู่ที่ 5.4% ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ย 4 ครั้งติดต่อกันในปีนี้ ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 50bps มาอยู่ที่ 1.0% ซึ่งเป็นการปรับลดมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ขณะที่ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25bps มาอยู่ที่ 4.25%

เมื่อธนาคารกลางในหลายประเทศกำลังดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย จึงเป็นแรงกดดันให้ทางคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps มาอยู่ที่ระดับ 1.50% โดยสาเหตุหลักของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีที่แนวโน้มชะลอตัวลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเห็นปัจจัยเสี่ยงจากทั้งการส่งออกที่หดตัวต่ำกว่าคาด การท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง การบริโภคและการลงทุนของเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง รวมไปถึงการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ได้ประเมินไว้ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย จึงเห็นควรให้มีการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพื่อประคองเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากถ้อยแถลงในครั้งนี้ดูเหมือนว่า ธปท. จะให้ความสำคัญของการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจเป็นหลัก และการลดดอกเบี้ยลง 25bps ในครั้งนี้อาจจะไม่เพียงพอ ตราบใดที่ธนาคารกลาง ในหลายประเทศยังคงเดินหน้าลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องและปัจจัยเสี่ยงจากเรื่องสงครามการค้าดูจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นนักวิเคราะห์หลายๆ ท่านคาดหวังการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งภายในปีนี้

ติดการพัฒนาการสงครามการค้าและตัวเลขเศรษฐกิจจีน

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้จึงทำให้นักลงทุนยังคงปิดรับความเสี่ยง (Risk-off) และเลือกเข้าถือสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10 ปี อยู่ที่ 1.44% 1.41% 1.42% 1.42% 1.45% และ 1.54% ตามลำดับ

ในส่วนของกระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 3,134 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 7,225 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 10,559 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 200 ล้านบาท