posttoday

ตลาดหุ้นจะลงแรงขนาดไหน ถ้าเกิดรีเซสชั่น?

08 สิงหาคม 2562

โดย...คมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)

โดย...คมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)

นอกจากประเด็นความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่ตลาดกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิดแล้ว ตลาดหุ้นยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด

เช่น ดัชนีภาคการผลิตที่ลดลงต่ำสุดในรอบหลายปีในสหรัฐฯ และลดลงต่ำกว่า 50 จุด ซึ่งสะท้อนถึงการหดตัวของภาคการผลิตในจีน ญี่ปุ่น และยุโรป ประกอบกับสัญญาณจาก Yield Curve ที่กลับมา Invert อีกครั้ง ซึ่งชี้ว่าความน่าจะเป็นในการเกิด Recession ในสหรัฐฯ ในช่วง 1 ปีข้างหน้านั้นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 32 %

แผนภาพที่ 1 : ความน่าจะเป็นในการเกิด Recession ในสหรัฐฯ ในช่วง 1 ปีข้างหน้านั้นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 32%

ตลาดหุ้นจะลงแรงขนาดไหน ถ้าเกิดรีเซสชั่น? ที่มา : New York Fed, TISCO Economic Strategy Unit (TISCO ESU)

ในขณะที่ภาครัฐมีเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด ทั้งจากนโยบายการเงินที่ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ไม่สามารถลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากเท่ากับในอดีต

ยิ่งไปกว่านั้นการลดดอกเบี้ยในช่วงปลายวัฏจักรอาจไม่สามารถส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก เครื่องมือพิเศษอย่างคิวอี น่าจะถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจไม่ได้มีมากเท่ากับในอดีต

ส่วนเครื่องมือด้านการคลัง เช่น การลดภาษี หรือการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ นั้นถูกจำกัดจากงบประมาณสหรัฐฯ ที่ขาดดุลสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการลดภาษีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในปีที่แล้ว

เราประเมิน Downside ของตลาด ในกรณีที่เกิด Recession ขึ้น โดยศึกษาข้อมูลของการเกิด Recession ในสหรัฐฯ ย้อนหลังไป 7 ครั้งในอดีตตั้งแต่ปี 1969 (เนื่องจากมีความต่อเนื่องของข้อมูลยาวนานกว่าข้อมูลของไทย) ซึ่งเราพบว่าตลาดหุ้น (S&P500) มีการปรับฐานราว 20 - 60% โดยตลาดหุ้นมักทำจุดสูงสุดในช่วง 6 เดือนก่อนเกิด Recession และต่ำสุด 10 เดือนหลังจากเข้าสู่ Recession

ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความรุนแรงของการปรับฐานของตลาดหุ้น (S&P500) ในอดีต ได้แก่ 1) ความยาวนานของ Recession และ 2) พี/อี (Trailing) ของตลาดหุ้นในช่วงก่อนเกิด Recession กล่าวคือ หาก Recession มีความยาวนานมาก และตลาดหุ้นซื้อขายที่พี/อี สูง ก็จะทำให้ตลาดมีการปรับฐานรุนแรง

เราประเมินความรุนแรงในการปรับฐานของตลาดหุ้นในกรณีเกิด Recession โดยการวิเคราะห์สมการถดถอย (Linear Regression) โดยใช้ข้อมูลของการเกิด Recession ในอดีต พบว่าโมเดลดังกล่าวสามารถทำนายการปรับฐานของตลาดในอดีตได้ใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้นจริง

สำหรับการประเมินการปรับฐานในอนาคต เรายังไม่ทราบว่า Recession ครั้งหน้าจะเกิดขึ้นยาวนานแค่ไหน แต่เราสามารถแทนค่า พี/อี ของตลาดในปัจจุบันที่ 18.9 เท่า เข้าไปในสมการ และคำนวณความรุนแรงของการปรับฐานของตลาดหุ้นในหลายๆ กรณีของการเกิด Recession ซึ่งเราพบว่า หาก Recession ครั้งหน้าเป็น Recession ขนาดเล็กถึงกลาง ซึ่งกินเวลา 9 - 12 เดือน ดัชนี S&P500 ก็จะมีโอกาสปรับฐานราว 30 - 40%

ในกรณีที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ได้ส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน นักลงทุนจึงพึงระวังถึงความเสี่ยงในการเกิด Recession ที่จะทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มี Downside ถึงประมาณ 30% ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงตลาดหุ้นไทยซึ่งอยู่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ น่าจะเผชิญแรงเทขายอย่างหนักและทำให้ดัชนีปรับฐานลงแรงกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ