posttoday

ทำความรู้จักกับ KYC (Know Your Customer) และ CDD (Customer Due Diligence)

07 สิงหาคม 2562

โดย...ธเนศ นวะบุศย์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย

โดย...ธเนศ นวะบุศย์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย

ในมุมธนาคารพาณิชย์ หลายคนอาจเคยได้ยินคำศัพท์ KYC (Know Your Customer) อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งหมายถึง กระบวนการรู้จักลูกค้าที่สามารถระบุตัวตน (Identification) และพิสูจน์ตัวตน (Verification) ได้อย่างถูกต้อง เรื่องนี้จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะลำพังแค่การเปิดบัญชีธนาคารหรือการทำธุรกรรมต่าง ๆ ผู้ใช้บริการยังต้องเปิดเผยข้อมูลและผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงในข้อมูลของลูกค้า (Customer Due Diligence) เพื่อเป็นการยืนยันและป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการโจรกรรม

โดยปกติธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จะกำหนดนโยบายเครดิตให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและกฏกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดเป็นระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการกำหนดนโยบายเครดิตให้สอดคล้องกับระเบียบของธนาคารดังกล่าวก็เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีแนวทางในการทำงานด้านเครดิต และป้องกันไม่ให้ธนาคารถูกใช้เป็นตัวกลางในการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อธนาคารทั้งความเสี่ยงด้านเครดิตในการไม่ได้รับคืนเงินกู้จากลูกค้าและในด้านชื่อเสียงของธนาคารเรื่องการไม่กระทำตามกฎข้อบังคับของทางราชการ

ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์จะกำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานด้านเครดิตต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวดังนี้

1. การรู้จักลูกค้า (Know Your Customer - KYC) การรู้จักลูกค้า หมายถึง การทำความรู้จักตัวตนของลูกค้า เพื่อทราบข้อมูลลูกค้าในการใช้เครดิตกับธนาคารก่อนที่ธนาคารจะให้สินเชื่อ โดยเป็นการจัดให้ลูกค้าแสดงตนเป็นขั้นตอนแรกของการรู้จักลูกค้า ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติงานต้องใช้ความพยายามอย่างมีเหตุผลในการตรวจสอบหลักฐานการรู้จักลูกค้า (KYC) เพื่อทราบข้อมูลของลูกค้าที่มาใช้บริการกับธนาคาร

2. การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence - CDD) การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า หมายถึง การตรวจสอบตัวตนที่แท้จริงของลูกค้า และตรวจสอบข้อมูลแสดงตนที่ลูกค้าให้ไว้กับธนาคาร เพื่อทราบถึงวัตถุประสงค์ ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ และธุรกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ ให้มีความสอดคล้องกับกิจการของลูกค้า ลูกค้าทุกรายที่ติดต่อทำธุรกรรมกับธนาคาร ซึ่งทำการรู้จักลูกค้าแล้ว ต้องทำ CDD ด้วย ทั้งนี้ การทำ CDD ประกอบด้วย

2.1 ทำการประเมินและจัดระดับความเสี่ยงในการฟอกเงินของลูกค้า ซึ่งอาจแบ่งความเสี่ยงในการฟอกเงินเป็นระดับต่ำ , ระดับปานกลาง หรือ ระดังสูง เป็นต้น โดยธนาคารใช้กฎเกณฑ์ในการประเมินความเสี่ยงในการฟอกเงินของลูกค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สมาคมธนาคารไทยกำหนด ซึ่งผู้ปฏิบัติงานจะต้องมีข้อมูล เช่น อาชีพ ประเภทธุรกิจของลุกค้า ที่อยู่ หรือที่ตั้งกิจการ และในกรณีที่ลูกค้ารายดังกล่าวเป็นนิติบุคคลธนาคารต้องมีข้อมูลเพื่อประเมินความเสี่ยงของผู้ที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลรายนั้นดัวย

2.2 การทบทวนข้อมูลการรู้จักลูกค้าและปรับปรุงระดับความเสี่ยงในการฟอกเงินของลูกค้า ซึ่งต้องคอยทำให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ทั้งนี้อาจมีกำหนดระยะเวลาในการทบทวนข้อมูลการรู้จักลูกค้าและปรับระดับความเสี่ยงในการฟอกเงิน เช่น ถ้าลูกค้าระดับ 1 ให้ทบทวนข้อมูลการรู้จักลูกค้าทุก 5 ปี หรือ ถ้าลูกค้าระดับ 2 ให้ทบทวนข้อมูลการรู้จักลูกค้าทุก 2 ปี หรือถ้าลูกค้าระดับ 3 ให้ทบทวนข้อมูลการรู้จักลูกค้าทุก 1 ปี เป็นต้น

2.3 การตรวจสอบ Sanction List ธนาคารต้องตรวจสอบว่าลูกค้ารายดังกล่าวไม่เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน หรือ การกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน หรือ การกระทำความผิดฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือ อยู่ในกลุ่มบัญชีรายชื่อเฝ้าระวังจากทางการและ ปปง. (Sanction List ทั้งรายชื่อในปัจจุบัน และรายชื่อที่จะเกิดใหม่ในอนาคต) ก่อนที่ธนาคารจะเริ่มความสัมพันธ์กับลูกค้ารายหนึ่ง กรณีลูกค้าเป็นนิติบุคคลให้ตรวจสอบ Sanction List ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย

2.4 การรายงานธุรกรรมทีมีเหตุอันควรสงสัย ธนาคารจำเป็นต้องรู้ว่าลักษณะของธุรกรรมแบบใดในแต่ละผลิตภัณฑ์ของธนาคารที่เห็นว่าเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการฟอกเงิน ซึ่งธนาคารจำเป็นต้องรายงานให้ ปปง.ทราบ

การทำ KYC และ CDD ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในบ้านเรา เกณฑ์นี้ทางราชการกำหนดให้ธนาคารต้องดำเนินการ ดังนั้น จำเป็นที่ผู้ปฏิบัติงานต้องยึดถือปฏิบัติในการทำงานให้ถูกต้องและจำเป็นต้องคอยหมั่นศึกษาจากคู่นโยบายในการปฏิบัติงานอย่างละเอียดถี่ถ้วน