posttoday

มารู้จักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกัน

01 สิงหาคม 2562

โดย...กรวิภา วรรณแสวง กองทุนบัวหลวง

โดย...กรวิภา วรรณแสวง กองทุนบัวหลวง

คนรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาวที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน อายุยังน้อย ก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัย เข้าสู่ชีวิตการทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนอย่างเต็มตัว อาจยังไม่เห็นความสำคัญของการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund เท่าไหร่ และยังมองภาพไม่ออกว่า ควรเริ่มวางแผนการเงินการลงทุนตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงานประจำอย่างไร เพราะคิดว่าเป็นเรื่องของอนาคตหรือเป็นเรื่องของวัยใกล้เกษียณ ยังอีกยาวไกล

ซึ่งความจริงแล้ว ควรเริ่มคิดวางแผนการเงินเพื่ออนาคตของตนเองและครอบครัวเสียแต่เนิ่นๆ เพราะมีระยะเวลาในการลงทุนอีกนานก่อนจะเข้าสู่วัยเกษียณ ทำให้มีโอกาสที่เงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเติบโตเป็นเงินก้อนใหญ่ในอนาคต และเป็นส่วนช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินได้

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจของนายจ้างและลูกจ้าง จึงไม่ใช่ทุกบริษัทเอกชนในประเทศไทยที่มีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่ลูกจ้าง

วัตถุประสงค์หลักของกองทุนเพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมไว้ใช้จ่ายยามเกษียณอายุ ลาออกจากงาน ออกจากกองทุน ทุพพลภาพหรือเสียชีวิต หากเป็นกรณีเสียชีวิตจะมอบให้ตามรายชื่อผู้รับผลประโยชน์ที่ระบุไว้ในเอกสารเมื่อครั้งสมัครเป็นสมาชิกกองทุน โดยจะดูจากวันที่ระบุในเอกสาร ถือตามเจตนาครั้งหลังสุดของสมาชิก

ในส่วนองค์ประกอบของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ เงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนเรียกว่า "เงินสะสม" ผลประโยชน์ที่เกิดจากการนำเงินสะสมไปลงทุน เรียกว่า “ผลประโยชน์เงินสะสม”

และเงินที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสมทบ" ผลประโยชน์ที่เกิดจากการนำเงินสมทบไปลงทุน เรียกว่า “ผลประโยชน์เงินสมทบ” โดยผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นมาจากการบริหารของผู้บริหารมืออาชีพที่เรียกว่า "บริษัทจัดการ" ที่จะนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ เพื่อหาผลตอบแทนตามนโยบายการลงทุน

ทั้งนี้ กองทุนมีสถานะเป็นนิติบุคคลโดยจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แยกต่างหากจากนายจ้างและบริษัทจัดการ จึงมั่นใจได้ว่าหากนายจ้างหรือบริษัทจัดการปิดกิจการ เงินจำนวนนี้ยังถือเป็นของลูกจ้างหรือสมาชิกทั้งหมด

หากบริษัทที่ทำงานอยู่นั้นมีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างต้องทำการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อน

โดยอัตราเงินสะสมเข้ากองทุนสามารถเลือกได้ตั้งแต่ร้อยละ 2 สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้าง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่นายจ้างกำหนดไว้ในข้อบังคับของกองทุน และเงินที่สะสมเข้ากองทุนนั้นยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ โดยสามารถนำยอดเงินสะสมมาลดหย่อนได้ตามจำนวนที่ได้จ่ายจริงในปีภาษี สุงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ของรายได้ และไม่เกิน 500,000 บาท โดยนายจ้างจะนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพร้อมๆกับเงินสะสมเริ่มตั้งแต่ร้อยละ 2 สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้าง ให้แก่สมาชิกซึ่งอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่นายจ้างกำหนดไว้ในข้อบังคับของกองทุน

ที่สำคัญ อย่าลืมรักษาสิทธิ์และผลประโยชน์ของตนเอง ติดตามผลการดำเนินงานของกองทุน โดยดูจากใบแจ้งยอดเงินสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริษัทจัดการจะส่งให้นายจ้างเพื่อแจกจ่ายแก่สมาชิกกองทุนทุกคนปีละสองครั้ง (ต้นปีและกลางปี) เอกสารฉบับนี้จะแสดงรายละเอียดยอดเงินสะสม-เงินสมทบในกองทุน ผลประโยชน์เงินสะสม-เงินสมทบ ยอดรวมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และอัตราผลตอบแทน

ทั้งนี้ ใบแจ้งยอดเงินสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเอกสารสำคัญ ควรเปิดดูและเก็บเอกสารนี้ไว้ให้ดี เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา