posttoday

หรือถึงเวลาแล้วที่กองทุนดัชนีจะครองโลก

31 กรกฎาคม 2562

โดย...ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร หัวหน้าสายงานจัดการลงทุน บลจ.บางกอก แคปปิตอล

โดย...ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร หัวหน้าสายงานจัดการลงทุน บลจ.บางกอก แคปปิตอล

ในโลกของการลงทุนผ่านกองทุนรวมจะมีแนวคิดในการลงทุนหลักๆ อยู่สองค่าย ซึ่งต้องขอบอกเลยครับว่าทั้งสองค่ายนี้มีการถกกันอย่างเป็นจริงเป็นจังในช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมาว่าค่ายไหนเป็นวิธีการลงทุนที่ดีกว่า

ค่ายแรกเชื่อในกลยุทธ์เชิงรุก หรือ active management การลงทุนที่เน้นการสร้างผลตอบแทนด้วยการขวนขวายหาข้อมูล เพื่อหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาข้อมูลงบการเงินของบริษัท การวิเคราะห์ติดตามแผนกลยุทธ์ของฝ่ายบริหาร หรือแม้กระทั่งการทดลองใช้สินค้าและบริการเพื่อตรวจสอบคุณภาพ ทุกการกระทำล้วนนำไปสู่การหาข้อมูลที่เจาะลึกในการเลือกหุ้น รวมถึงการวิเคราะห์มุมมองและจังหวะการลงทุน การขายทำกำไรและการหยุดขาดทุน เป็นต้น เพื่อที่จะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าผลตอบแทนโดยเฉลี่ยจากการลงทุนของนักลงทุนอื่นในตลาด

ส่วนอีกค่ายเชื่อในการลงทุนตามดัชนี โดยการถือหุ้นทุกตัวตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ในดัชนีที่เรียกกันว่าอินเด็กซ์ ฟันด์ ที่ใช้กลยุทธ์เชิงรับ หรือ passive management ซึ่งดัชนีส่วนมากมักจะถือหุ้นทุกตัวในตลาดที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายได้ และถือหุ้นดังกล่าวระยะยาวโดยไม่ค่อยซื้อขายปรับพอร์ต เน้นการบริหารต้นทุนในการจัดการให้ต่ำ ดัชนีเหล่านี้จะถูกใช้เป็นเกณฑ์วัดผลการดำเนินงานอ้างอิงของกองทุนแบบเชิงรุก

ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนตามดัชนี SET100 ที่ซื้อหุ้นทุกตัวใน SET100 ตามสัดส่วนที่มีอยู่ตามดัชนี แต่เนื่องจากดัชนีนี้กำหนดให้มีการปรับน้ำหนักหุ้นในดัชนีปีละสองครั้ง ทำให้การลงทุนตามดัชนีนี้ทำได้ไม่ยากนักโดยการซื้อแล้วถือยาวจนถึงรอบปรับน้ำหนัก

เราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนครับว่าพัฒนาการของอุตสาหกรรมกองทุนรวมในโลกนี้ เริ่มต้นเกือบร้อยปีที่แล้ว ที่มีไอเดียในการออกกองทุนรวมเป็นกองแรกในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นักลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงโดยอาศัยมืออาชีพในการตัดสินใจเลือกการลงทุนแทนนักลงทุน

ธุรกิจกองทุนรวมจึงถือกำเนิดขึ้นและเติบโตอย่างต่อเนื่องบนรากฐานของการบริหารแบบเชิงรุกมาตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งปี ค.ศ. 1976 บริษัท Vanguard ในสหรัฐอเมริกาได้ปฏิวัติวงการกองทุนรวมโดยการนำเสนอกองทุนรวมดัชนีกองแรกของโลกที่มีโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่ต่ำ โดยใช้กลยุทธ์การลงทุนเชิงรับที่เกาะตามดัชนี

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆของ Vanguard ทุกวันนี้ได้ก้าวมาสู่การเป็นบริษัทจัดการกองทุนใหญ่อันดับสองของโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สินที่บริหารรวมถึง 5.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ตัวเลขล่าสุดที่รวบรวมโดยมอร์นิ่งสตาร์ แสดงภาพรวมความสำเร็จของกองทุนดัชนีในสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดกองทุนรวมที่ใหญ่ที่สุดในโลกให้เห็นว่า ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สินทรัพย์ภายใต้การจัดการโดยกลยุทธ์เชิงรับได้มีขนาดใหญ่กว่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการโดยกลยุทธ์เชิงรุกเรียบร้อยแล้ว

หรือถึงเวลาแล้วที่กองทุนดัชนีจะครองโลก

แนวโน้มการเติบโตของกองทุนดัชนียังไม่มีทีท่าจะลดลง และที่สำคัญไปกว่านั้น ตัวเลขกองทุนรวมทั้งโลกก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สินทรัพย์ภายใต้การจัดการโดยกลยุทธ์เชิงรับทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วนถึง 48% ของสินทรัพย์ภายใต้กองทุนรวมทั่วโลก และได้รับการคาดการณ์ว่าขึ้นไปถึง 60% ในอีก 5 ปีข้างหน้า

แล้วทำไมกองทุนดัชนีถึงได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลก อะไรที่ทำให้กลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จได้ถึงขนาดนี้ ควรเป็นคำถามที่นักลงทุนไทยควรหาคำตอบให้ได้เพราะนักลงทุนไทยส่วนใหญ่อาจไม่เคยได้ยินเรื่องการลงทุนแบบเชิงรับตามดัชนีเสียด้วยซ้ำ นั่นเป็นเพราะว่าประเทศไทยเราไม่ค่อยสร้างค่านิยมในการลงทุนแบบเชิงรับและอาจไม่เข้าถึงข้อมูลกันเท่าไรนัก ไม่ค่อยมีใครยกประเด็นนี้ขึ้นมาถกให้นักลงทุนฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่การเสนอขายของกองทุนรวมในประเทศไทยมักจะเป็นกลยุทธ์เชิงรุกเพราะมันสามารถสร้างจุดขายได้ง่ายกว่าเลยไม่ค่อยพูดถึงกลยุทธ์เชิงรับกัน

ดังนั้น วันนี้ผมจะขอเสนอตัวเลขที่จัดทำโดย บริษัท S&P Dow Jones Indices ที่ได้รับการเปิดเผยสู่นักลงทุนในสหรัฐฯในช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งผมมั่นใจว่าข้อมูลชุดนี้จะต้องทำให้นักลงทุนไทยต้องหันมามองดูกองทุนดัชนีกันอย่างจริงจังกันคราวนี้

15 ปีที่ผ่านมา 89 % ของกองทุนแบบเชิงรุกที่ลงทุนในหุ้นสหรัฐฯมีผลตอบแทนต่ำกว่าดัชนีอ้างอิง ในขณะที่ 76-96 % ของกองทุนที่ลงทุนในหุ้นทั่วโลกมีผลตอบแทนต่ำกว่าดัชนีอ้างอิง โดยกองทุนหุ้นขนาดเล็กมีโอกาสชนะดัชนีสูงสุด แต่ก็มีเพียงแค่ 24% เท่านั้นที่สามารถเอาชนะดัชนีหุ้นขนาดเล็กได้ ข้อมูลนี้สำหรับผลตอบแทน 10 ปี หรือ 5 ปี ที่ผ่านมา และในทุกประเทศที่มีข้อมูล เป็นไปในทิศทางเดียวกันหมด

ทุกวันนี้ทางเลือกกองทุนที่ลงทุนตามดัชนีหุ้นไทย ทั้งกองทุนเปิดธรรมดาและกองทุนอีทีเอฟ ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เริ่มมีหลากหลายขึ้น ทั้งที่ตามดัชนี SET ดัชนี SET100 ดัชนี SET50 และดัชนี MSCI Thailand ที่เป็นมาตรฐานการลงทุนในไทยของนักลงทุนต่างชาติ

ผมว่าถึงเวลาแล้วที่นักลงทุนไทยควรหันมาดูกองทุนดัชนีซึ่งได้รับการพิสูจน์ความสำเร็จมาแล้วในระดับโลกเหล่านี้อย่างจริงจังกันซะที

หรือถึงเวลาแล้วที่กองทุนดัชนีจะครองโลก

หรือถึงเวลาแล้วที่กองทุนดัชนีจะครองโลก