posttoday

มองหาสาระจากการประชุมรัฐสภาในเรื่องนโยบายรัฐ

29 กรกฎาคม 2562

โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

จากการที่ได้ติดตามข่าวสาร ร่วมรับฟังในบางช่วงของการอภิปรายของการประชุมรัฐสภาในเรื่องการแถลงนโยบายตลอดช่วง 2 วัน? และหากเราตัดเอาเรื่องดราม่า หรือเรื่องที่หาสาระไม่ได้ในส่วนของถ้อยคำที่แซะ ที่กระแทกกันออกไปให้หมด แล้วทำใจร่มๆ คิดแบบผู้เจริญแล้ว คิดแบบคนที่มุ่งค้นหาแก่น?แบบไม่สนส่วนที่เป็นเปลือก เราจะเห็นสิ่งที่สะท้อนถึงปัญหาของประเทศ เหตุที่ขับเคลื่อนให้ไปข้างหน้าได้ยาก และการที่คนในแต่ละระดับไม่ว่าจะมีเกณฑ์แบ่งอย่างไร มันก็ยากที่จะเท่าเทียมกันโดยเฉพาะการเข้าถึงทรัพยากร การเข้าถึงแหล่งทุน การเข้าถึงความเท่าเทียมเท่าทันของกฎหมาย เรื่องเด็ดๆ ที่ผมต้องหยิบปากกามาจดสาระเพื่อเอามาเขียนเป็นบทความในมุมของตัวเองมีดังนี้ครับ

1. การเขียนนโยบายเป็นไปในรูปของแนวคิดแนวทางที่คิดที่กำหนดว่าจะทำแต่จะมีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ ไม่ตึงตัวตายตัวจนเกินไป ในมุมคนที่อยากจะไล่บี้ ไล่ขุด ไล่วิจารณ์ ไล่ด่า มันจึงทำได้ยาก เพราะจากชุดแนวนโยบาย มันจะนำไปสู่มาตรการที่จะทำ แผนงานที่จะทำ งบประมาณที่จะใช้ เป้าหมายที่จะกำหนดเพื่อติดตามประเมินผลต่อไป

2. มีการพูดถึงการเขียนแนวนโยบายที่ไม่อยู่ในระนาบเดียวกัน บางเรื่องเป็นเหตุที่ทำให้เกิด บางเรื่องเป็นผลที่ต้องแก้ บางเรื่องเป็นกระบวนการที่ต้องปรับเปลี่ยนเช่น ปัญหาที่เกษตรกรขาดที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง พอจะทำมาหากินก็มีต้นทุนค่าเช่ามารอ ปลูกก็ต้องรีบทำให้ได้ผลผลิตเร็วๆ เพื่อขายเอามาชำระหนี้ ชำระหนี้ได้ยากก็เป็นหนี้นอกระบบ พอมาถึงจุดหนึ่งที่มันต้องอยู่ให้รอดแล้ว แม้ว่าจะต้องผิดกฎหมาย ต้องบุกรุกป่าก็ต้องทำ ไม่ทำก็อดตาย จำนวนเกษตรกรก็มีสามสิบล้านคนดังที่ท่านรองนายกว่าไว้ แต่สร้างรายได้ประชาชาติได้เพียง 10% มันไม่มีทางจะพอกิน รายได้สามหมื่นบาทต่อปี สองพันบาทต่อเดือน มันอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีพวกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค เบี้ยยังชีพคนชรา คนด้อยโอกาส คนพิการ ก็ต้องมีเป็นฟองน้ำรองรับการล้มลงมาของคนในฐานราก เพราะเขาคือคนไทยด้วยกัน

3. มีการพูดถึง สมัยหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ใช้เวลาหกปีในการซ่อม ไม่มีเวลาสร้าง รัฐบาลไม่ต่อเนื่อง โครงสร้างพื้นฐานล้าสมัย พอจะเริ่มทำก็เจอน้ำท่วมใหญ่ หายนะมากมาย รณรงค์ปลูกยางทั่วประเทศแต่ไม่มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม จำนำข้าวแบบเริ่มต้นดีต่อมากลายเป็นทุจริต พอมีข้าวมากองในมือรัฐถึง 17 ล้านตันมันก็ไปทำลายกลไกตลาด ราคามันไม่ไป คนขายคนปลูกที่เล็งว่าจะมีรายได้ดันไปก่อหนี้แล้ว รายได้อนาคตไม่มา แต่หนี้ปัจจุบันมีดอก มันก็จบข่าว ครั้นต่อมาจะเริ่มขยับก็ทะเลาะกันทุกระดับ แตกแยกชนิดไม่เคยพบเห็น ทำลายกันและกัน ไม่มีใครอยากมาประเทศเรา ท่องเที่ยวก็จบ การลงทุนไม่มีมาเติม ชีพจรประเทศแผ่วมาก ถ้าเป็นคนก็เรียกว่าจะหายใจด้วยตัวเองไม่ได้แล้ว เมื่อมีคณะเข้ามาควบคุมอำนาจ ก็ทำอะไรได้ไม่มากเท่าที่คิดไว้ เวลาหมดก็เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยผ่านตัวแทน แต่ก็เริ่มการกล่าวหาว่าปล้นอำนาจ โกงเข้ามา จุดนี้ผู้เขียนคิดว่า คนที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้ว ควรเคารพตัวเองบ้าง นึกจะพูดจะทำอะไร คิดถึงความเหมาะควร ที่เรียกว่าความสงบและศีลธรรมอันดีบ้าง ใช่ว่าจะเก่งแล้วเป็นอมตะไม่วันล้มหายตายจากกันเมื่อไหร่หล่ะ

4. เราได้เห็นศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่ร้อนวิชามาร วิชาเทพ วิชาการ และวิชาเกิน มันจำลองมาให้เห็นเลยว่าจะดีจะชั่วมันไม่ได้อยู่ที่อายุมาก อายุน้อยเลยทีเดียว ในหมู่คนดีๆมีคนแย่ๆ ในหมู่คนที่เราคิดว่าเป็นคณะที่คิดในทางซ้ายแบบสาธารณรัฐ (Republic) ก็มีคนที่คิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุข คนรุ่นใหม่ที่ให้แนวคิด แนวทาง ข้อเสนอในการปรับแต่งแนวนโยบายเพื่อที่ตอนที่ตอนลงไปทำมาตรการ โครงการ มันจะได้สอดคล้องต้องกัน คนอายุน้อยพูดได้น่าคิด คนอายุมากที่เป็นรัฐมนตรีก็กล่าวขอบคุณและรับจะนำไปคิดไปทำต่อ หากเป็นแบบนี้เชื่อว่าชาติเดินหน้าได้แน่นอน

5. สุดท้ายเราได้เห็นสิ่งที่เรียกว่าความวุ่นวายปั่นป่วนในการประชุมที่ดูได้ว่าเจตนาจะให้เกิดการเผชิญหน้า ได้เห็นการประท้วงที่ไม่มีสาระ ได้เห็นการใช้ความเก๋า ความแม่นในตัวบท เอามากำกับพฤติกรรมของคนที่พยายามหรือแม้ไม่พยายามแต่ก็ไมให้ความร่วมมือ ให้คนเหล่านั้นเกิดความสงบเรียบร้อย อันนี้ต้องขอชื่นชมท่านอดีตนายกชวน ที่เป็นครูใหญ่ในการประชุมได้เด็ดขาดทีเดียว

ประเทศยังมีความท้าทายอีกมากมาย สงครามการค้ายังไม่จบ การปกครองและดุลอำนาจเปลี่ยน วัฒนธรรม ความคิด ความเห็นเปลี่ยน วิธีการค้า การซื้อ การขายเปลี่ยนไป สิ่งเดียวที่เหมือนกันคือ ทุกคนที่มีส่วนจะต้องโดนคือภาษีและการปฏิบัติตนให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ท้ายที่สุดคือเราทุกคนล้วนต้องตาย ไม่มีใครเอาอะไรไปได้สักอย่างเดียว

ขอบคุณครับ