posttoday

AIกับความเหลื่อมล้ำภายใต้เศรษฐกิจใหม่

30 กรกฎาคม 2562

โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th

เมื่อมาถึงยุคนี้ที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องปรับตัว เมื่อปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence หรือที่เรียกสั้น ๆ กันว่า "AI" มาป่วนโลก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 หรือแม้แต่ธุรกิจบริการทางการเงินก็กำลังใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์กันทั้งสิ้น ความยิ่งใหญ่ของ AI นั้น น่าเกรงขามยิ่งนักเพราะเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกที่ผมคิดว่าจะเป็นศูนย์อำนาจของความมั่งคั่งในอนาคต สมมติฐานนี้ มีเค้าลางให้เห็นว่าจะเป็นจริงได้

หากมองย้อนกลับไป เริ่มตั้งแต่ยุค ค.ศ. 1990 ที่กิจการโทรคมนาคมเริ่มต้นขึ้นจนทำให้โทรศัพท์มือถือเข้ามาป่วนชีวิตประจำวันของคนทั่วไปในสังคมจนกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ที่คนเราขาดไม่ได้ในสมัยนั้น จนทำให้บริษัทหลายแห่งกลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางด้านการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็น NOKIA หรือ Ericsson หรือแม้กระทั่งในประเทศเราเอง เช่น กิจการโทรศัพท์มือถือค่ายต่างๆ ก็ล้วนมีขนาดบริษัทที่ใหญ่โต มูลค่ากิจการเติบโตสูง และผลกำไรที่เติบโตแซงหน้าหลายๆ

ธุรกิจที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสื่อสารหรือโทรคมนาคม ที่เห็นกันชัดเจนมากขึ้นก็คือยุค dot com ในช่วงปี ค.ศ. 2000 ที่เป็นยุครุ่งเรืองของอินเทอร์เน็ตที่ก่อให้เกิดกระแส Tech Boom ที่บริษัทด้านเทคโนโลยี (Tech com) ต่างๆ ตั้งแต่ Microsoft Google Apple Huawei Netflix Tencent Softbank ก็ล้วนแล้วแต่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) ที่เติบโตสูงมากในแต่ละปี เป็นต้น

จริงอยู่ว่า ในมุมหนึ่ง AI จะช่วยขจัดปัญหาความยากจน เพราะจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงาน และช่วยให้เข้าถึงความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น แต่มันก็อาจจะถูกใช้เป็นอาวุธในการสร้างความร่ำรวยแล้วทิ้งคนอื่นไว้ข้างหลังก็เป็นได้เหมือนกัน เพราะในอนาคต มีความเป็นไปได้มากที่ คนเราจะมีการแบ่งชนชั้นด้วยเทคโนโลยี โดยชนชั้นสูงคือชนชั้นที่สร้างสรรค์และสื่อสาร (coding) กับ AI ได้ ชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่ใช้งานผลิตภัณฑ์/ใช้ประโยชน์จาก AI และชนชั้นล่างคือชนชั้นที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี AI และไม่ได้มีโอกาสใช้งาน AI

ดังนั้น หากเป็นไปตามสมมติฐานนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่า ในด้านหนึ่ง AI จะก่อให้เกิดประโยชน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มธุรกิจที่เห็นประโยชน์และนำมาใช้งานได้มาก แต่ในเหรียญอีกด้านของ AI ก็อาจแฝงไว้ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อาจเป็นอุปสรรคในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้ เพราะอาจทำให้การลดความเหลื่อมล้ำเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น เพราะการมุ่งที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นโดยใช้ AI มาช่วยนั้น มีความเป็นไปได้ที่มูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นอาจจะกระจุกตัวอยู่กับองค์การที่เข้าใจและเข้าถึง AI จนสามารถนำมาแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวยได้

ในขณะที่ผู้ที่ไล่ตามเทคโนโลยีไม่ทันก็จะตกเป็นกลุ่มชนชั้นล่างซึ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างไม่ตั้งใจ เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้มักจะถูกเพิกเฉย เพราะในช่วงแรกมันจะหลบซ่อนตัวอยู่หลังความหอมหวานของความมั่งคั่ง

เหมือนอย่างสมัยที่โทรศัพท์มือถือยังมีราคาแพงเพราะเทคโนโลยีเพิ่งเกิด คนที่จะใช้มือถือได้ก็มีแต่ชนชั้นกลางและคนที่มีรายได้สูงเท่านั้น ไม่มีใครมองเห็นว่าเป็นปัญหา เพราะทำให้ชีวิตคนสะดวกสบายขึ้น เทคโนโลยีมีมุมที่ดี แต่ก็สร้างความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้มากขึ้นด้วย เพราะความมั่งคั่งร่ำรวยไปกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มธุรกิจเพียงไม่กี่รายเท่านั้น

ดังจะเห็นได้จากผลของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา จะทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้น และทำให้สัดส่วนของคนจนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนกลับไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก และอาจยิ่งรุนแรงขึ้นในยุคที่ AI รุ่งเรืองก็ได้ หากไม่ได้มีการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านดิจิตัลไว้ล่วงหน้ากันก่อน

หากต้องการป้องกันปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้อันเกิดจาก AI ตราบที่เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นหนทางในการสร้างรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นได้ หากมีการนำไปใช้กับกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากด้วยแล้ว ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมในวงกว้างได้ ผมคิดว่าเราจำเป็นที่จะต้องมีนโยบาย “AI เพื่อประชาชน” โดยเฉพาะในด้านการเกษตร เช่น การนำข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของพืชผลทางการเกษตร ความชื้นของดิน และโรคและศัตรูพืช เพื่อนำมาคำนวณการคาดการณ์ผลผลิตต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าวลงได้ครับ

ดังนั้น ภาครัฐจึงควรส่งเสริมการนำ AI มาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เกษตรกร ตลอดจน SME ต่าง ๆ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ต่อไปในอนาคตอย่างรอบคอบ