posttoday

ลดดอกเบี้ยไม่ได้การันตีว่าเศรษฐกิจจะฟื้นเสมอไป

16 กรกฎาคม 2562

โดย...คมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้

โดย...คมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้

หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกจบลงในช่วงกลางปี 2552 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ได้ขยายตัวต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน รวมเป็นระยะเวลา 121 เดือน ซึ่งนับเป็นวัฏจักรการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นวัฏจักรที่ยาว แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้นั้นนับว่าอ่อนแอที่สุดรอบหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยเศรษฐกิจมีการขยายตัวในอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับการฟื้นตัวหลังจากวิกฤติในรอบอื่นๆ ซึ่งทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ประกอบกับการอัดฉีดสภาพคล่องเป็นระยะ เพื่อกระตุ้นและประคับประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ประกอบกับผลกระทบจากสงครามการค้า ความเสี่ยงจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนในการเจรจาเบร็กซิต ทำให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมไปถึงเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องปรับเปลี่ยนโยบายจากการที่ทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างช้าๆ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2558 กลับมาส่งสัญญาณว่าจะปรับลดดอกเบี้ยลงในช่วงกลางปีนี้ ส่วนในด้านสภาพคล่อง เฟดได้ประกาศว่าจะยุติมาตรการลดงบดุลที่ทำมาตั้งแต่ปลายปี 2560 ในเดือนก.ย.62 นี้

ข่าวดีจากเฟดได้ขับเคลื่อนตลาดหุ้นทั่วโลกให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.62 จนดัชนี S&P500พุ่งขึ้นทะลุ 3,000 จุดได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

หากย้อนกลับไปดูในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่าการลดดอกเบี้ยของเฟดไม่ได้สามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวต่อได้ทุกครั้ง โดยในการลดดอกเบี้ย 9 ครั้งล่าสุด มีเพียง 4 ครั้งเท่านั้นที่เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวต่อหลังลดดอกเบี้ย แต่อีกมากกว่าครึ่ง (5 ครั้งที่เหลือ) เศรษฐกิจกลับชะลอตัวลงต่อและเข้าสู่ภาวะถดถอยในที่สุด

 

แผนภาพที่ 1: ในการลดดอกเบี้ย 9 ครั้งล่าสุด มีเพียง 4 ครั้งเท่านั้นที่เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวต่อหลังลดดอกเบี้ย แต่อีก 5 ครั้งที่เหลือ เศรษฐกิจกลับชะลอตัวลงต่อและเข้าสู่ภาวะถดถอยในที่สุด

ลดดอกเบี้ยไม่ได้การันตีว่าเศรษฐกิจจะฟื้นเสมอไป

ยิ่งไปกว่านั้น เรายังสามารถตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมได้ว่าการลดดอกเบี้ยของเฟดที่ประสบผลสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น มักเป็นการลดดอกเบี้ยในช่วงต้นของวัฏจักรการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้การลดดอกเบี้ยสามารถช่วยกระตุ้นอุปสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่เศรษฐกิจปัจจุบันนั้นอยู่ในช่วงปลายวัฏจักร (10 ปีหลังเกิดวิกฤตซับไพรม์ ) และอัตราการว่างงานได้ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี ดังนั้น การลดดอกเบี้ยจึงอาจไม่ส่งผลกระตุ้นกำลังซื้อได้มากนัก

ผลตอบแทนตลาดหุ้นหลังจากเฟดลดดอกเบี้ยนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของเฟดในการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยส่วนมากแล้วตลาดหุ้นมักให้ผลตอบแทนไม่ดีนักในช่วงที่ดอกเบี้ยเป็นขาลง เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโตช้า และมีความเสี่ยงที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในบางกรณี ดังเช่น ช่วงปี 2544 และ 2550 ซึ่งเฟดเริ่มลดดอกเบี้ย แต่เศรษฐกิจก็ยังชะลอตัวต่อเนื่องจนเข้าสู่ภาวะถดถอยในที่สุด

แต่ก็มีบางช่วงเช่นกันที่การลดดอกเบี้ยนั้นสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้สำเร็จ และฉุดให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวต่อได้ เช่น ในช่วงปี 2538 - 2539 เฟดมีการลดดอกเบี้ยลง 3 ครั้ง จาก 6 % มาอยู่ที่ 5.25 % และช่วยให้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมาโตที่ระดับประมาณ 2 % ในปี 2538 ฟื้นขึ้นมาโตได้ 4 % ในปี 2539 ซึ่งการลดดอกเบี้ยในช่วงนั้น ก็ส่งผลให้ตลาดหุ้น (S&P500) พุ่งขึ้นถึง 20 % ในช่วง 12 เดือนหลังลดดอกเบี้ย

 

แผนภาพที่ 2: ตลาดหุ้นนั้นมักให้ผลตอบแทนไม่ดีนักในช่วงที่ดอกเบี้ยเป็นขาลง

ลดดอกเบี้ยไม่ได้การันตีว่าเศรษฐกิจจะฟื้นเสมอไป

แม้เราจะค่อนข้างมั่นใจว่าจะได้เห็นเฟดกลับมาลดดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ แต่เราไม่แน่ใจนักว่าการลดดอกเบี้ยรอบนี้จะสามารถฉุดให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวต่อได้เหมือนในปี 2538 หรือจะเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบใหม่เหมือนปี 2544 หรือ 2550

หากประเมินจากความร้อนแรงของตลาดหุ้นในช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ก็ชี้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่าผลจะออกมาในแบบแรก แต่หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ของการลดดอกเบี้ยแล้ว โอกาสที่จะเป็นแบบหลังก็มีไม่น้อยเช่นกัน