posttoday

ความสำคัญของหลักประกันในการขอสินเชื่อ

10 กรกฎาคม 2562

โดย...ธเนศ นวะบุศย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย

โดย...ธเนศ นวะบุศย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย

หลายคนมองว่าการขอสินเชื่อเป็นเรื่องยุ่งยากและมีขั้นตอนมากมาย แต่หากคุณอยากให้การขอสินเชื่อของคุณผ่านโดยไม่ต้องทำหลายขั้นหลายตอน การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนน่าจะช่วยคุณได้เยอะและสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องเตรียมคือเรื่องของหลักประกันซึ่งมักเป็นประเด็นที่นำไปสู่คำถามว่าหลักประกันจำเป็นแค่ไหนกับการขอสินเชื่อ

ในธุรกิจ SME หลักประกันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้ให้สินเชื่อใช้ประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ เพื่อให้มั่นใจว่าหากผู้ขอสินเชื่อชำระหนี้ไม่ได้ สถาบันการเงินยังมีทางที่จะได้เงินคืน เช่น สามารถยึดหลักประกันมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ที่ค้างอยู่ โดยหลักทรัพย์ที่นิยมนำมาเป็นหลักประกัน เช่น เงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงิน หุ้นกู้ และอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ฉะนั้นหากจะให้ความหมายของหลักประกันก็พอจะกล่าวได้ว่า หลักประกันคือหลักทรัพย์ที่ผู้กู้ใช้เป็นประกันการชำระหนี้กับธนาคาร โดยทำนิติกรรมสัญญาไว้ให้ธนาคารบังคับชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ถ้าผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข

หลักประกันจะไม่มีความสำคัญ หากผู้กู้ไม่ผิดนัดชำระหนี้ แต่หากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ หลักประกันจะเป็นการเพิ่มอำนาจในการต่อรองให้ธนาคารมีโอกาสได้รับชำระหนี้คืนและในท้ายที่สุดแม้ว่าธนาคารจะไม่ได้รับชำระหนี้จากผู้กู้ ธนาคารสามารถยึดหลักประกันดังกล่าวเพื่อขายทอดตลาด และนำเงินมาชดเชยความเสียหายได้ หลักประกันจึงมีความจำเป็นสำหรับสินเชื่อที่มีโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้สูง แต่ไม่ได้ทำให้คุณภาพของสินเชื่อดีขึ้น หลักประกันจึงเป็นเพียงเครื่องมือลดความเสียหายมากกว่าที่จะเป็นแหล่งที่มาของการชำระหนี้

โดยปกติแล้วการให้สินเชื่อควรพิจารณาถึงคุณภาพเครดิตของผู้กู้และควรต้องเรียกหลักประกันจากผู้กู้ที่มีวัตถุประสงค์การกู้ยืมเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ ซึ่งก็ควรนำสินทรัพย์มาเป็นหลักประกันของธนาคาร อย่างไรก็ตามหากธนาคารพิจารณาว่าสินทรัพย์ที่ลูกค้าลงทุนไม่เหมาะสมเป็นหลักประกัน ธนาคารจะพิจารณารับหลักทรัพย์ประเภทอื่นของลูกค้าเป็นหลักประกันแทนได้

ทรัพย์สินที่ธนาคารจะรับเป็นหลักประกันและสามารถใช้มูลค่าหลักประกันชดเชยความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ควรมีลักษณะดังนี้

o ต้องสามารถทำนิติกรรมเพื่อให้ธนาคารมีสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้นได้ถูกต้องตามกฎหมาย และธนาคารสามารถใช้สิทธิในการบังคับชำระหนี้จากหลักประกันได้

o ต้องสามารถประเมินราคาหลักประกันได้ หมายถึง ทรัพย์สินต้องสามารถประเมินราคาได้อย่างโปร่งใสและยุติธรรม สามารถอ้างอิงราคาได้จากแหล่งข้อมูลที่ยอมรับ เช่น ราคาหลักทรัพย์ที่ประกาศในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือราคาตราสารหนี้ในตลาดซื้อขายตราสารหนี้ไทย สำหรับทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์การประเมินราคาต้องเป็นการประเมินจาก บริษัทประเมินราคาอิสระที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ให้เป็นผู้ประเมินราคา ทั้งนี้บริษัทประเมินนั้นต้องเป็นคู่สัญญากับธนาคารด้วย

o ความมีสภาพคล่อง หมายถึง ทรัพย์สินเป็นที่ต้องการของตลาดและมีตลาดรองรับเพื่อขายแปลงสภาพได้

o ต้องครอบคลุมระยะเวลาการกู้ยืม หมายถึง ทรัพย์ที่ธนาคารรับเป็นหลักประกันจะต้องมีอายุการใช้งานครอบคลุมระยะเวลาการกู้ยืมและต้องนำมาวางเป็นหลักประกันตลอดอายุของภาระหนี้

แต่อย่างไรก็ตาม บางกรณีธนาคารก็สามารถให้เครดิตโดยไม่มีหลักประกันได้ ซึ่งหากธนาคารมั่นใจอย่างเต็มที่ว่าผู้กู้จะไม่มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารอาจสนับสนุนเครดิตแก่ผู้กู้โดยไม่เรียกหลักประกัน โดยผู้กู้ที่ธนาคารไม่เรียกหลักประกันนั้นควรมีผลประกอบการและฐานะการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด มีการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่ธนาคารสามารถเข้าตรวจสอบได้ และสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดได้

ทั้งนี้แม้ว่าธนาคารจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้เป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนเครดิต แต่ธนาคารยังให้ความสำคัญกับหลักประกันในฐานะส่วนหนึ่งของปัจจัยที่ใช้ประกอบการพิจารณาเครดิต ทั้งนี้ธนาคารจะให้เครดิตแก่ลูกค้าโดยไม่มีหลักประกัน ก็ต่อเมื่อลูกค้าจะต้องไม่ได้ให้หลักประกันเป็นประกันหนี้กับสถาบันการเงินอื่นด้วย

ดังนั้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสถานะของธนาคารไม่ได้ด้อยกว่าผู้ให้กู้รายอื่น ผู้กู้ต้องลงนามข้อตกลงที่จะไม่นำทรัพย์ที่ไม่นำมาเป็นหลักประกันกับธนาคารไปเป็นหลักประกันที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น

ฉะนั้นสิ่งสำคัญถ้าหากคุณอยากจะให้การกู้เงินนั้นผ่านไปได้ด้วยดี ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ จะยังคงต้องพิจารณาจากหลักประกันด้วย ยิ่งคุณมีหลักประกันดีๆ มีราคาสูงธนาคารก็จะปล่อยกู้ง่าย และในทางตรงกันข้ามหากคุณไม่มีหลักประกันอะไรเลย การขอกู้เงินอาจจะไม่อนุมัติก็เป็นได้ หลักประกันจึงมีประโยชน์ต่อการพิจารณาอนุมัติให้ผ่าน เพราะว่าธนาคารจะมั่นใจได้ว่าหากคุณไม่ยอมคืนเงินหรือชำระหนี้ก็ยังมีหลักประกันที่เป็นประกันหนี้แทน