posttoday

ค่าเงินบาท จับตาผลของการพบปะของทรัมป์และสี จิ้นผิงต่อตลาด

08 กรกฎาคม 2562

โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 30.50-30.80 ในช่วงต้นสัปดาห์ เงินบาทคาดว่าจะเคลื่อนไหวจากปัจจัยของเงินดอลลาร์ เนื่องจากสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขตลาดแรงงานเมื่อวันศุกร์

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ตลาดให้ความสำคัญคือคำแถลงนโยบายการเงินของนายโพเวล ประธานเฟดต่อสภาคองเกรส อีกทั้งการเปิดเผยรายงานการประชุมของเฟดเมื่อเดือนที่แล้ว โดยตลาดรอสัญญาณยืนยันการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าลงต่อได้

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ อยู่ในระดับแข็งค่ามากที่สุดตั้งแต่ปี 2013 ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐเปิดตลาดแข็งค่าขึ้นมากจากราคาปิดในสัปดาห์ก่อน โดยแม้ว่าทั้งตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดไทยจะขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 4 ปีในเดือนพฤษภาคม และทรัมป์และสี จิ้นผิงตกลงที่จะเริ่มการเจรจาการค้ารอบใหม่

โดยทรัมป์ได้ยุติแผนการที่จะขึ้นภาษีอีกระลอกกับจีน แต่ค่าเงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่าลงแต่มีการชะลอการแข็งค่าลง สำหรับค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นตอบรับกับข่าวดีจากการเจรจาของทรัมป์และสี จิ้นผิง ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งขึ้น ทั้งจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ (ISM) และดัชนีฯ โดย Markit ในเดือนมิถุนายน

นอกจากนี้ ด้านค่าเงินยูโรค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดันหลังจากสหรัฐฯ กำหนดภาษีนำเข้าสินค้าเพิ่มเติมกับสหภาพยุโรปเพื่อตอบโต้มาตรการอุดหนุนบริษัท Airbus โดยรวมค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบในช่วงสัปดาห์มาปิดตลาดที่ระดับ 30.65 (ณ เวลา 17.15 น.)

ตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มต้นด้วยประเด็นของการหารือนอกรอบการประชุม G-20 ซึ่งดูเหมือนว่าความตึงเครียดของสงครามการค้าดูผ่อนคลายลง ภายหลังจากที่จีนและสหรัฐอเมริกาตกลงที่จะกลับมาเจรจาการค้าใหม่อีกรอบ อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าตลาดจะไม่ได้ตอบรับในเชิงบวกต่อประเด็นนี้มากนัก เพราะการเจรจายังไม่ได้มีข้อสรุปที่ออกมาเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ในขณะที่การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของยูโรโซนและสหรัฐอเมริกา บ่งบอกถึงสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจ รวมไปการที่ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศปรับลดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 1% ยิ่งสนับสนุนว่าประเทศเศรษฐกิจหลักกำลังต้องการนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาดเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังส่งสัญญาณชะลอตัวลง เป็นปัจจัยหนุนในอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ทั่วโลกปรับตัวลดลง

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาคือการประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายนอยู่ที่ระดับ 0.87% ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 1.15% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 0.48% ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 0.54%

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ถูกกล่าวถึงกันมากคือการที่ ธปท. ได้ลดปริมาณพันธบัตรที่จะออกประมูลในเดือนกรกฎาคม เพื่อชะลอการเก็งกำไรค่าเงินบาท กล่าวคือเมื่อปริมาณพันธบัตรในตลาด (Supply) มีปริมาณลดลง ในขณะที่ความต้องการ (Demand) ถือครองพันธบัตรทั้งจากนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศมีเท่าเดิมหรือมากขึ้น จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลง ซึ่งจะช่วยชะลอเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลในอดีตช่วง เมษายน 2560 – เมษายน 2561 พบว่า ธปท. เคยใช้วิธีนี้ในการชะลอการเก็งกำไรค่าเงินบาทมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ท้ายสุดก็ยังเห็นเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าผิดจากเป้าหมายของธปท. ครั้งนี้นักลงทุนคงต้องติดตามว่าผลลัพธ์จะออกมาในรูปแบบไหนหรือ ธปท. จะมีมาตรการอื่นๆมาช่วยดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากกว่านี้

ด้วยเหตุนี้จากทั้งปัจจัยภายนอกประเทศและปัจจัยภายในประเทศยังคงสนับสนุนให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง โดยความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันลดลง (Bull Flattening) ซึ่ง ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.76% 1.72% 1.73% 1.78% 1.86% และ 2.04% ตามลำดับ