posttoday

หุ้นห่านทองคำกลุ่มแบงก์มีอยู่จริง

08 กรกฎาคม 2562

โดย...นายกระทิงและหญิงฟลอร์

โดย...นายกระทิงและหญิงฟลอร์

สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นสงครามทางการค้าผ่อนคลาย ส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.25 %

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยถูกกดดันจากปัจจัยเฉพาะตัว โดยเฉพาะการขายทำกำไรของหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ที่กดดันภาพรวมตลาดฯลดลง 0.42 % จากข่าวผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้กระทรวงพลังงานทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP 2018) 

ดัชนีหุ้นไทยปิดปลายสัปดาห์ (5 ก.ค.62) ที่ 1,731.23 จุด เพิ่มขึ้นเพียง 0.05% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 70,177.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.55% จากสัปดาห์ก่อนหน้า สะท้อนชัดถึงสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น หลังกระแสเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้าต่อเนื่อง

สัปดาห์ที่ผ่านมา (1-5 ก.ค.62) ใครเคาะขวา- เคาะซ้าย

นักลงทุนต่างชาติ ซื้อสุทธิ 10,204.22 ล้านบาท

สถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 10,278.66 ล้านบาท

บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ซื้อสุทธ 814.43 ล้านบาท

นักลงทุนทั่วไปในประเทศ ขายสุทธิ 739.99 ล้านบาท

มีคำปลอบใจจากเหล่านักวิเคราะห์ว่าการปรับฐานของตลาดหุ้นไทย ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้น หลังจากที่ตลาดถูกขับเคลื่อนด้วยฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้าจำนวนมาก จนทำให้มูลค่าหุ้นเริ่มแพง ประกอบกับการขาดปัจจัยบวกใหม่ๆ

สัปดาห์นี้ตลาดหุ้นไทยจะไปทางไหน ?

มุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เชื่อว่าสัปดาห์นี้ (8-12 ก.ค.)การปรับฐานจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่ไม่น่าจะรุนแรง โดย SET Index ควรจะยืนอยู่เหนือ 1,700 จุด

บล.กสิกรไทย มองว่า ดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์นี้ มีแนวรับที่ 1,715 และ 1,700 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,745 และ 1,765 จุด ตามลำดับ สำหรับเหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามสัปดาห์นี้

ปัจจัยต่างประเทศ 

สถานการทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า

ทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ วันที่ 10 – 11 ก.ค. 2562 จะมีการเปิดเผยรายงานการประชุมเฟด และการแถลงของประธานเฟดต่อสภาฯ ตลาดคาดหมายว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในช่วงที่เหลือของปี 2562

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ รายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย. ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.ของจีน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย. ของญี่ปุ่น รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. ของยูโรโซน

ปัจจัยในประเทศ 

ความชัดเจนเรื่องรัฐบาลใหม่

ค่าเงินบาท

ส่วนประเด็นของค่าเงินบาทนั้น ฝ่ายวิจัยบล.เอเซีย พลัส มีความเห็นว่าแม้จะมีโอกาสเห็นเงินไหลเข้ามาสู่ตลาดการเงินของไทย แต่ด้วยกลไกธรรมชาติมูลค่าหุ้น และผลตอบแทน จะเป็นตัวสร้างสมดุลให้กับอัตราแลกเปลี่ยน อีกทั้งยังมีมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)สามารถดำเนินการได้เพื่อสร้างเสถียรภาพให้เงินบาท

"เชื่อว่าค่าเงินบาท น่าจะยืนอยู่เหนือ 30 บาท/ดอลลาร์ฯ ส่วนเงินที่ไหลเข้าตลาดหุ้น ยังมีอยู่ แต่น่าจะมีปริมาณที่ค่อยๆ ลดลง สลับการขายทำกำไรเป็นช่วงๆ" บทวิเคราะห์บล.เอเซีย พลัส ระบุ

การปรับพอร์ตการลงทุนสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝ่ายวิจัยบล.เอเซีย พลัส ได้ลดน้ำหนักหุ้นในกลุ่มพลังงาน โดยขายทำกำไรหุ้น PTT และ PTTEP ออกไป และแทนที่ด้วยหุ้นที่ให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง และสามารถจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะเห็นว่าราคาน้ำมันน่าจะเริ่มย่อตัวลง

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยมีค่าพีอี เรโช หรือราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้นสูง จึงน่าจะเห็นการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินเข้าสู่หุ้นที่ปลอดภัย ซึ่งที่ชัดเจนที่สุดได้แก่หุ้นที่จ่ายปันผลสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นที่จะประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในช่วงเดือน ส.ค. นี้

หุ้นปันผลสูงระหว่างกาล ชู LH- KKP 

สำหรับหุ้นเด่นสัปดาห์นี้บล.เอเซีย พลัส เลือก LH ให้ราคาเหมาะสม 13.60 บาทต่อหุ้น คาดว่าจะได้รับแรงหนุนจาก 2 เรื่องหลัก คือ ทิศทางดอกเบี้ยที่คาดว่าจะปรับลดลง และการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล โดยที่ระดับราคาหุ้นปัจจุบัน LH ให้ผลตอบแทนจากปันผล 6.7% ต่อปี และมีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสม่ำเสมอ อีกทั้งผลประกอบการก็มีความผันผวนต่ำ

หุ้น KKP ให้ราคาเหมาะสม 75.60 บาทต่อหุ้น ถือเป็นหุ้นธนาคารพาณิชย์ที่มีจุดเด่นเรื่องการจ่ายเงินปันผล โดยราคาปัจจุบันให้ผลตอบแทนจากเงินปันผล 6.3% ต่อปี ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2562 น่าจะเติบโตสวนทางกลุ่มอุตสาหกรรม

สำหรับน้ำหนักการลงทุนในพอร์ตหุ้นไทย แนะนำให้คงไว้ที่ 40 % ของพอร์ตการลงทุนรวม

ขอให้แฟนๆ นายกระทิงและหญิงฟลอร์ มั่งคั่งกับการลงทุนสัปดาห์นี้...ซื้อหุ้นถูกตัว ได้หุ้นถูกใจ เก็งกำไรแต่พองาม