posttoday

จับตาความเสี่ยงตลาดหุ้นปรับฐานหลังการประชุมเฟด

20 มิถุนายน 2562

คอลัมน์ Global Investment Advisory

คอลัมน์ Global Investment Advisory

จับตาความเสี่ยงตลาดหุ้นปรับฐานหลังประชุมเฟด

โดย... คมศร ประกอบผล

หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้

 

...............................................................

 

ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ทำจุดสูงสุดตลอดกาลที่ 2,945.83 จุด ณ สิ้นเดือนเม.ย. ก่อนจะปรับฐานลงตลอดเดือน พ.ค. จากความกังวลในสงครามการค้าที่ปะทุขึ้นอีกครั้ง หลังการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนล้มเหลว และสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มอัตราภาษีกับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นเป็น 25 % จากเดิมที่เก็บที่ 10%

ทั้งยังขู่ว่าจะขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าจากจีนในรายการที่เหลือที่มีมูลค่ารวม 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกด้วย นอกจากนั้นสหรัฐฯ ยังได้ประกาศแบนหัวเหว่ย บริษัทคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งนับเป็นการขยายวงของความขัดแย้งไปสู่บริษัทเอกชน

ผลกระทบจากสงครามการค้าที่ยกระดับขึ้น ยังไม่ได้ถูกสะท้อนไปในประมาณการของการวิเคราะห์มากเท่าที่ควร โดยสังเกตได้จากประมาณการผลกำไรของดัชนี S&P500 ในปี 2019 ซึ่งทรงตัวตลอดทั้งเดือนพ.ค. และไม่ได้มีการถูกปรับลดลงตามความเสี่ยงของสงครามการค้าที่เพิ่มมากขึ้น

แม้สงครามการค้าจะยังไม่มีทิศทางที่จะผ่อนคลายลง แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ได้ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือน มิ.ย. จนดัชนีกลับขึ้นมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่าจุดสูงสุดเดิมแค่เพียง 2% เท่านั้น

ซึ่งปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ ความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะกลับมาลดดอกเบี้ยลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้านั่นเอง

ตลาดซื้อขายล่วงหน้า Fed Funds Futures สะท้อนว่า ในขณะนี้ตลาดคาดหวังว่าจะได้เห็นเฟด ลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งภายในปีนี้ (ก.ย. และ ธ.ค.) และอีก 2 ครั้งในปีหน้า (มี.ค. และ ธ.ค.) ซึ่งรวมทั้งหมดเป็นการลดดอกเบี้ย 4 ครั้งรวม 1% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า น่าจะเป็นความคาดหวังที่สูงเกินไป และตลาดน่าจะมีความเสี่ยงที่จะผิดหวัง หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยมากเท่าที่คาดในการประชุมวันที่ 20 มิ.ย. นี้

การที่เฟดกลับมาลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงกลางวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่เฟดเคยทำมาแล้วในปี 1995 ซึ่งในช่วงนั้นเฟดได้เริ่มขึ้นดอกเบี้ยจาก 3% ณ ต้นปี 1994 มาอยู่ที่ 6 % ในไตรมาส 1/1995 แล้วกลับมาลดดอกเบี้ยลง 3 ครั้งรวม 0.75 % ในช่วงปี 1995 - 1996 มาอยู่ที่ 5.25% ณ ต้นปี 1996 ก่อนที่จะกลับมาขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งตอนต้นปี 1997

แต่เมื่อประเมินจากสถานการณ์ในปัจจุบัน เรามองว่าเฟดไม่น่าจะลดดอกเบี้ยได้มากเท่าช่วงปี 1995 เนื่องจาก

1. อัตราดอกเบี้ย Fed Funds Rateในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำที่ 2.5% ซึ่งต่ำกว่าในช่วงต้นปี 1995 ที่อยู่ที่ 6% เป็นอย่างมาก

2. อัตราเงินเฟ้อ (Headline CPI)ในปัจจุบันอยู่ที่ราว 2% ซึ่งหากเฟดลดดอกเบี้ยลงอีกเพียง 2 ครั้ง (0.50 %) ก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Policy Rate หรืออัตราดอกเบี้ย Fed Funds Rate หักด้วยอัตราเงินเฟ้อ) กลับไปติดลบ ซึ่งเฟดคงพยามหลีกเลี่ยงหากเศรษฐกิจยังไม่มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย

3.เฟดขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ในอัตราที่ช้ากว่าปกติเป็นอย่างมาก โดยเฟดใช้เวลาถึง 3 ปีในการขึ้นดอกเบี้ยจาก 0.25% ในปี 2015 มาอยู่ที่ 2.5% ในปัจจุบัน แต่ในปี 1994 เฟดได้ขึ้นดอกเบี้ยถึง 3% ภายในเวลาเพียง 15 เดือน

โดยสรุป เรามองว่าตลาดหุ้นคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟดมากเกินไปและมีโอกาสผิดหวังหากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยมากเท่าที่คาดในการประชุมวันที่ 20 มิ.ย. นี้ ในขณะที่คาดการณ์ผลกำไรยังมีความเสี่ยงถูก
ปรับลดลงหลังสงครามการค้าส่อแววยืดเยื้อ ซึ่งทำให้หุ้นโลกต่อจากนี้มี Upside ค่อนข้างจำกัด และเริ่มมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานมากขึ้นเรื่อยๆ