posttoday

รู้จักกับ OTO ออเดอร์

16 เมษายน 2562

ชาวหุ้น พร้อมลงสนามกันหรือยัง ! หยุดยาวเทศกาลสงกรานต์กันชุ่มฉ่ำแล้ว มาวางแผนกันเถอะ จะขาเทรดรายวัน หรือนักลงทุนทั่้วไป ควรรู้จักคำสั่งชุด "คอมโบ"

ชาวหุ้น พร้อมลงสนามกันหรือยัง ! หยุดยาวเทศกาลสงกรานต์กันชุ่มฉ่ำแล้ว มาวางแผนกันเถอะ จะขาเทรดรายวัน หรือนักลงทุนทั่วไป ควรรู้จักคำสั่งชุด"คอมโบ"

บทความ คู่คิดนักลงทุน

โดย บรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บล. บัวหลวง

ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้ลงทุนในหุ้นก็คือ การที่ไม่สามารถบริหารเงินลงทุนให้เป็นไปตามแผนการที่่ต้องการได้ทั้งด้านการควบคุมความเสี่ยงหรือการขายทำกำไรเมื่อมีโอกาส ซึ่งสาเหตุหลักก็คือ ผู้ลงทุนอาจไม่ได้มีเวลาติดตามความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นเพื่อคอยเฝ้าดูจังหวะเพื่อส่งคำสั่งซื้อขายให้เป็นไปตามกลยุทธ์การซื้อขายที่วางไว้

เช่น บางทีส่งคำสั่งซื้อไปแล้วและวุ่นวายกับธุระส่วนตัวทั้งวันไม่ได้มีเวลาเฝ้าดูตลาดหุ้นต่อเนื่อง..หันมาอีกทีทำไมราคาหุ้นดิ่งพลิกผันจากที่คาดหวังไว้และจะมาตั้งคำสั่งขายตอนนี้ก็สายไปเสียแล้ว หรือบางทีหุ้นมีการเหวี่ยงขึ้นให้ขายทำกำไรระหว่างวันได้แต่ตกเย็นราคาสวิงกลับมาอยู่ที่เดิมเลยเสียโอกาสที่จะทำกำไรไปได้

ในตลาดหุ้นต่างประเทศเขามีการพัฒนาคำสั่งซื้อขายชนิดหนึ่งที่เรียกว่า OTO Order ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน ซึ่งไส้ในของคำสั่งแบบนี้อาจแตกต่างกันที่ความซับซ้อนกันไป แต่วันนี้เราจะมาเรียนรู้ด้วยกันแบบง่ายๆ ก่อนนะครับ

“OTO Order” ย่อมากจาก “One Triggers the Other” Order เรียกง่ายๆ ก็คือ เป็นคำสั่งแบบชุดคอมโบ ที่ผู้ลงทุนจะต้องระบุรายละเอียดของ “คำสั่งแรก” (Primary Order) ก่อนเพื่อกำหนดว่าหุ้นอะไร จะสั่งซื้อหรือขาย จำนวนเท่าไร ราคาเท่าไร ต่อจากนั้นผู้ลงทุนก็จะระบุ “คำสั่งรอง” (Secondary Order) ว่าจะสั่งขายหรือซื้อ จำนวนเท่าไร ราคาเท่าไร ซึ่งเมื่อระบุรายละเอียดเรียบร้อยแล้วก็กดส่งคำสั่งเพียงครั้งเดียวเท่านี้ก็เรียบร้อย!

เมื่อคุณส่งคำสั่งแบบชุดคอมโบไปแล้ว คำสั่งดังกล่าวก็จะเข้าสู่ระบบซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์ที่เขามีระบบนี้ให้บริการ และคำสั่งแรกก็จะถูกส่งออกไปก่อน จนเมื่อทำคำสั่งแรกแล้วเสร็จ ซึ่งหมายถึงมีการซื้อขายจับคู่คำสั่งได้เรียบร้อยแล้วคำสั่งรองจึงจะเริ่มทำงาน เรียกว่ากดส่งคำสั่งคอมโบเพียงครั้งเดียว...แต่ระบบจะรอทำคำสั่งให้ผู้ลงทุนตามลำดับโดยอัตโนมัติ ทำให้คุณสะดวกสบาย ไม่ต้องมาเฝ้าตลาดว่าสั่งซื้อไปแล้วได้หุ้นหรือยังจะได้มาตั้งคำสั่งขายต่อ ...เห็นข้อดีหรือยังครับ

ดังนั้น ใน OTO Order โดยทั่วไปแล้ว คำสั่งแรกและคำสั่งรองมักจะเป็นคำสั่งที่สลับขากัน เช่น คำสั่งแรกระบุให้เป็นคำสั่งซื้อ...คำสั่งรองก็จะเป็นคำสั่งขาย หรือหากคำสั่งแรกเป็นคำสั่งขาย...คำสั่งรองก็จะเป็นคำสั่งให้ซื้อ ซึ่งคุณก็สามารถเอามาใช้ได้ในเหตุการณ์ต่างๆ เช่น คำสั่งซื้อแล้วขายก็สามาถนำมาใช้กรณีที่กะจะซื้อหุ้นแล้วให้ตั้งคำสั่ง stop loss (ขายตัดขาดทุน) อัตโนมัติไว้เลย หรือถ้าจะใช้คำสั่งขายแล้วซื้อก็อาจนำมาใช้เวลาที่เราต้องการขายหุ้นออกไปแต่ก็พร้อมจะช้อนซื้อคืน หากราคากลับลดลงมาเพื่อทำกำไรส่วนต่าง เป็นต้น

ถ้าจะซับซ้อนขึ้นไปอีกระดับแล้ว ในคำสั่งแรกและคำสั่งรองนี้ อาจไม่ได้เป็นคำสั่งซื้อหรือขายธรรมดา แต่สามารถกำหนดให้เป็นคำสั่งแบบมีเงื่อนไข (Conditional Order) เข้าไปได้เช่นกัน

เช่น สมมุติคำสั่งแรกเป็นคำสั่งซื้อหุ้นตัวหนึ่ง จำนวน 1,000 หุ้น ราคา 10 บาท คำสั่งรองอาจกำหนดให้เป็นคำสั่งขายแบบ Bracket Order คือ กำหนดให้ขายเมื่อราคาหุ้นไปแตะที่ 9.50 บาท เพื่อเป็นการตัดขาดทุนที่ระดับ 5% ของต้นทุนของคุณ หรือขายทำกำไรหากราคาหุ้นขึ้นไปแตะ 11 บาทได้ แล้วแต่ว่าเกิดอันไหนก่อนก็ทำอันนั้น

ด้วยคำสั่งแบบนี้ คุณจึงส่งคำสั่งเพียงครั้งเดียวเสร็จแล้วก็ไม่ต้องเฝ้าตลาดอีกเลย โดยคำสั่งซื้อจะถูกส่งเข้าไปในตลาดและหากคำสั่งได้รับการจับคู่ทำให้คุณได้หุ้นระบบก็จะจ้องขายให้ตามเงื่อนไขแบบ Bracket Order ซึ่งหากราคาหุ้นเหวี่ยงไปทางไหนก็จะส่งคำสั่งขายตามที่คุณกำหนดไว้ให้อัตโนมัติ... สุดยอดไหมครับ

การใช้งาน OTO Order จึงเหมาะกับผู้ที่มีแผนการลงทุนที่มีการบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจนว่าจะคุมการขาดทุนระดับไหนและทำกำไรระดับไหนหรือที่เรียกว่า “Reward to Risk ratio” ซึ่งถ้าคุณบริหารได้ดีแล้วต่อให้เลือกหุ้นผิดๆ ถูกๆ กระจายกันไป โอกาสในการที่มูลค่าพอร์ตโดยรวมจะมีกำไรก็ยังมากอยู่ แต่หากคุณปล่อยปละละเลยการบริหารความเสี่ยงแล้ว โอกาสที่พอร์ตจะเสียหายสูงๆ ยิ่งเป็นไปได้มาก ซึ่งจะว่าไปการบริหาร Reward to Risk ratio นี่น่าจะกำหนดและควบคุมได้ด้วยตัวเองง่ายสุด

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นขาเทรดเก็งกำไรใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ( DW ) ขาเดย์เทรดหุ้นหรือนักลงทุนทั่วไป น่าจะได้ประโยชน์จากการใช้ OTO Order ให้การลงทุนมีประสิทธิภาพดีขึ้นได้ครับ