posttoday

บริษัทเกษียณสุข ลงทุนเป็น เห็นเงินพอ

12 พฤศจิกายน 2561

หนึ่งในเหตุผลที่ลูกจ้างตัดสินใจร่วมงานกับบริษัทหนึ่งบริษัทใด คือ “สวัสดิการ”

โดย...วารุณี อินวันนา 

หนึ่งในเหตุผลที่ลูกจ้างตัดสินใจร่วมงานกับบริษัทหนึ่งบริษัทใด คือ “สวัสดิการ” ต่างๆ ยิ่งมี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ถือว่านายจ้างใส่ใจดูแลความเป็นอยู่ของลูกจ้าง ทั้งเรื่องสุขภาพและการออมเงิน ถือเป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่ฝัน

อย่างไรก็ตาม คนที่ทำงานในองค์กรที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่นายจ้างและลูกจ้างส่งเงินสมทบเข้ากองทุนขั้นต่ำฝ่ายละ 2% และสูงสุด 15% จำนวน 3 ล้านคน ที่กระจายอยู่ใน 383 กองทุน จากคนที่มีงานทำ 37.6 ล้านคนทั่วประเทศ

ในขณะที่ไทยกำลังเจอปัญหาหนักระดับชาติ คือเงินออมไม่พอใช้หลังเกษียณ ผลการสำรวจและวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวนเงินที่ต้องใช้หลังเกษียณช่วงอายุระหว่าง 60-80 ปี ต้องมีอย่างน้อย 3 ล้านบาท เจ็บป่วยต้องใช้บัตรทองเท่านั้น พบว่า 60% ของคนเกษียณมีเงินไม่ถึง 1 ล้านบาท ส่วนใหญ่มีเพียง 3-6 แสนบาทเท่านั้น

บริษัทเกษียณสุข ลงทุนเป็น เห็นเงินพอ

ปัญหาเงินออมไม่พอ ยังมีทางออก หาก “ออมเต็มพิกัด จัดแผนเป็น เห็นเงินพอ” ตามโครงการ บริษัทเกษียณสุข

วรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า เหตุผลที่คนซึ่งมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว มีเงินไม่ถึงล้านบาทหลังเกษียณ เพราะ

บริษัทเกษียณสุข ลงทุนเป็น เห็นเงินพอ

หนึ่ง ออมน้อย กฎหมายให้ออมขั้นต่ำ 2% ก็ไม่คิดจะเพิ่ม แม้กฎหมายใหม่จะเปลี่ยนแปลงแล้ว เพราะนายจ้างมองว่าเป็นค่าใช้จ่าย ขณะที่ลูกจ้างไม่ได้รู้สึกว่าเงินก้อนนี้สำคัญ

สอง ออมช้า คนจะสนใจออมเพิ่มขึ้นจริงๆ ในช่วง 40 ปี ซึ่งไม่พอแน่นอน

สาม ออมไม่เป็น คือ ออมแบบไม่ลงทุน ไม่มีแผนการลงทุนที่เหมาะสม

หนึ่งในช่องทางที่ ก.ล.ต.เข้าไปช่วยได้ เพื่อให้คนไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมีเงินออมมากขึ้น ด้วยการรณรงค์ผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ ก.ล.ต.กำกับดูแลอยู่ทั่วประเทศ และที่ช่วยได้ง่ายที่สุดคือ ช่วยให้ออมเป็น เพราะถ้าออมเท่าเดิมแต่ลงทุนได้ดีขึ้นเงินที่จะได้ตอนเกษียณก็จะเพิ่มขึ้น

บริษัทเกษียณสุข ลงทุนเป็น เห็นเงินพอ

ก.ล.ต.จึงร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (AOP) สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ทำโครงการ “บริษัทเกษียณสุข” เพื่อให้การอบรมนายจ้างและลูกจ้างได้เข้าใจเรื่องการลงทุน เลือกแผนการออมให้เหมาะสม

“เรารับสมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ที่มีสมาชิกตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปเข้าร่วมโครงการถึงวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา มีสมัครเข้ามาแล้ว 160 บริษัท มีจำนวนลูกจ้างกว่า 2 แสนคน โดยจะปิดรับสมัครในวันที่ 15 พ.ย. 2561 นี้ คาดว่าน่าจะมีนายจ้างเข้าร่วม 200 บริษัท” วรัชญา กล่าว

วรัชญา อธิบายว่า บริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการอบรมความรู้ถึงหลักการพิจารณาก่อนการลงทุน บทบาทหน้าที่ การติดตามข้อมูล วิธีการเลือกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และกองทุนรวม แผนการลงทุน ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีและตอบโจทย์เป้าหมายเกษียณให้กับลูกจ้างทุกระดับ

ยกตัวอย่าง คณะกรรมการกองทุนที่ไม่แน่ใจว่าลูกจ้างจะเลือกแผนลงทุนเป็นไหม ให้เลือกแผนปรับสัดส่วนการลงทุนให้ตามอายุ (Life Path) เป็นแผนที่จะมีการปรับสัดส่วนการลงทุนตามอายุอัตโนมัติ ซึ่งแผนนี้ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ จากที่เดิมเมื่อ 3 ปีก่อน มี 1 บลจ.ที่ให้บริการ ปัจจุบันมี บลจ. 7 แห่งที่ให้บริการ และมีนายจ้าง 239 รายที่ใช้แผนนี้ ถ้าลูกจ้างไม่เลือกอะไร ก็เลือกแผนนี้ให้เลย ถ้าเลือกได้แล้วค่อยมาเปลี่ยนภายหลัง

บริษัทเกษียณสุข ลงทุนเป็น เห็นเงินพอ

รวมถึงคณะกรรมการและฝ่ายบุคคลต้องสามารถถ่ายทอดความรู้ให้เพื่อนสมาชิกได้เข้าใจและเห็นความสำคัญของการออม มีสูตรการคำนวณความเพียงพอของเงินหลังเกษียณ และประเมินการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ เพื่อสร้างนายจ้างที่ให้ความสำคัญ ห่วงใยและใส่ใจลูกจ้าง นำความรู้ไปส่งเสริมการออมเงิน และจัดหานโยบายการลงทุนที่เหมาะสม ตามสโลแกน “ออมเต็มพิกัด จัดแผนเป็น เห็นเงินพอ” ให้ลูกจ้างเกษียณอย่างมีความสุข ลดภาระของประเทศได้ด้วย

นอกจากนี้ จะรณรงค์ให้นายจ้างแก้ข้อบังคับการออมแบบสมัครใจของลูกจ้างตามกฎหมายใหม่ได้ถึง 15% ของเงินเดือนต่อเดือน ส่วนนายจ้างจะสมทบเท่าไหร่ก็ได้ แต่ขั้นต่ำกฎหมายกำหนดไว้ที่ 2% ของเงินเดือนต่อเดือน ซึ่งนายจ้างหลายแห่งยังไม่ได้แก้ข้อบังคับ

บริษัทเกษียณสุข ลงทุนเป็น เห็นเงินพอ

รวมถึงขอฝ่ายทรัพยากรบุคคลของนายจ้างแต่ละแห่งที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องให้ลูกจ้างทุกคนเป็นสมาชิกอัตโนมัติ ยกเว้นคนที่แสดงความจำนงไม่ต้องการจริงๆ จึงให้ทำการลาออกในภายหลัง จากปัจจุบันที่ให้สมัครโดยสมัครใจ

“เราจะทำการประเมินผลตามความเห็นของ บลจ.ที่เป็นผู้บริหารจัดการกองทุนประมาณเดือน พ.ค. 2562 และทำการติดดาว ซึ่งมีดาวทองแดง ดาวเงิน และดาวทอง เป็นการรับรองว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพและนายจ้างนั้นๆ ใส่ใจดูแลสร้างเงินออมให้เพียงพอแก่ลูกจ้าง” วรัชญา กล่าว

สำหรับโครงการ “บริษัทเกษียณสุข” ตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 3 ปี สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างน้อย 1 ล้านคน ต้องมีแผนการลงทุนที่ดีขึ้น จัดแผนลงทุนเป็น จะทำให้เงินออมเข้าใกล้ความต้องการใช้เงินหลังเกษียณมากขึ้น