posttoday

กระตุ้นออมเงิน เก็บใช้ยามชรา...

31 ตุลาคม 2561

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2541 กำหนดให้วันที่ 31 ต.ค.ของทุกปี เป็น “วันออมแห่งชาติ”

โดย...ชัตน์วรี

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2541 กำหนดให้วันที่ 31 ต.ค.ของทุกปี เป็น “วันออมแห่งชาติ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีนิสัยรักการออม รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการออม

อย่างไรก็ตาม ที่พบว่าประเทศไทยยังมีปัญหาการออมต่ำ สาเหตุจากการขาดวินัยการเงิน มีความรู้ทางการเงินต่ำ อัตราดอกเบี้ยต่ำ ไม่จูงใจให้ออมเงิน ในขณะเดียวกันไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็ประสบปัญหาเงินออมไม่เพียงพอใช้ในชีวิตหลังเกษียณ

จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัย ธนาคารทหารไทย ระบุว่า คนไทยกว่า 80% มีเงินออมไม่พอใช้จ่ายใน 6 เดือน ซึ่งอาชีพอันดับ 1 ที่เงินออมไม่พอ คือ พนักงานเอกชน รองลงมาคือจ้างงานอิสระ พนักงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ และเจ้าของกิจการ

พิสิฐ ลี้อาธรรม นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แนะนำว่า ต้องเริ่มออมให้เร็ว เพื่อให้เงินออกดอกออกผลทบต้นทบดอก เงินออมในวันนี้จะได้เพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอใช้ในยามชรา และอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี เพราะไม่สามารถพึ่งพาลูกหลานได้เหมือนในอดีต เนื่องจากไม่นิยมมีลูก หรือการมีลูกหลานน้อยลง และลูกหลานยังมีการย้ายออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น

อย่างไรก็ตาม คนไทยยังวางแผนการเงินไม่เป็น และยังไม่เห็นความสำคัญเรื่องการออมเท่าที่ควร จะเห็นว่าไทยมีระบบการออมภาคสมัครใจในรูปของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเปิดให้ลูกจ้างออมได้ถึง 15% แต่คนที่ออมเต็มที่ยังมีน้อย และนายจ้างมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อสร้างเงินออมให้กับพนักงานเพียง 17,800 แห่งเท่านั้น ครอบคลุมลูกจ้าง 3 ล้านคน ยังมีอีกกว่า 30 ล้านคน ที่ยังไม่มีการออม พอถึงวัยเกษียณก็ให้ออกจากงานและปล่อยไปตามยถากรรม

ทางภาครัฐจึงควรเร่งออกกฎหมายให้มีการออมภาคบังคับโดยเร็ว เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้มีหลักประกันในบั้นปลายชีวิตโดยเร็ว

สำหรับการออมเพื่อให้เงินเพิ่มขึ้นต้องให้เหมาะสมกับวัยและสถานการณ์การลงทุน ยกตัวอย่างในปัจจุบัน โอกาสหาผลตอบแทนสูงๆ จากหุ้นเหมือนช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว มีความผันผวนสูงจากการที่ธนาคารกลางในแต่ละประเทศเริ่มปล่อยอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและดึงเงินกลับ จากก่อนหน้านี้ที่อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีการขาดดุลสูง มีการทำสงครามการค้ากับจีน

ฉะนั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวน คนที่จะเกษียณในปี 2 ปีนี้ ต้องระวัง ถ้าปัจจุบันมีการลงทุนในหุ้นมากเกินไปควรจะเริ่มถือเงินสดให้มากขึ้น

ขณะที่คนอายุยังน้อย มีเวลากว่าจะเกษียณอีก 10 ปี สามารถรับความเสี่ยงจากวงจรเศรษฐกิจขาขึ้นและขาลงได้อีกหลายรอบ การลงทุนในหุ้นถือว่าเป็นทางเลือกที่ดี เพราะหากลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ในช่วงนี้ไม่เหมาะ เพราะถ้าอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นไป จะทำให้ราคาพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่ซื้อไว้มีราคาลดลง

“สินทรัพย์อย่างหนึ่งที่เป็นหลักประกันที่ปลอดภัยในอนาคตและน่าลงทุนเพื่อรองรับการเกษียณคือ ที่อยู่อาศัยที่ใช้อยู่อาศัยจริง ซึ่งราคามีแต่จะเพิ่มขึ้น และเมื่อเกษียณสามารถนำที่อยู่อาศัยไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือทำรีเวิร์สมอร์เกจ เพื่อนำเงินมาใช้ในยามชราได้ด้วย” พิสิฐ แนะนำ

ณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แนะนำว่า การจะมีเงินออมมากพอต้อง หนึ่ง ออมเร็ว คือเริ่มออมตั้งแต่อายุยังน้อยจะทำให้เงินออมมีพลังเพิ่มขึ้น สอง ออมให้มาก สาม ออมเป็น คือ ต้องรู้จักกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่างๆ กัน เพื่อเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

ทุกๆ ปี สถาบันการเงิน โดยเฉพาะแบงก์ของรัฐจะมีการกระตุ้นให้ออมเงิน โดยการแจก “กระปุกออมสิน” หรือการจัดแคมเปญพิเศษ โดยในปีนี้ ธนาคารออมสิน กับเคาน์เตอร์เซอร์วิส จัดทำโครงการส่งเสริมการออมสำหรับเยาวชน เด็กดี ออมฟรี 24 ชั่วโมง ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ร้านเซเว่น สามารถออมหรือฝากเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าธรรมเนียมการฝากเงิน และมีกิจกรรมส่งเสริมการออม ฝากเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป รับ “กระปุกออมสินต่อยอดความมั่งคั่ง”

ด้านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดบัญชีเงินฝากใหม่หรือฝากเงินเพิ่มในบัญชีออมทรัพย์ หรือออมทรัพย์ทวีโชค ตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป และสำหรับเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่เปิดบัญชีใหม่หรือฝากเงินเพิ่มในบัญชีเดิม จำนวนเพียง 1,000 บาท รับกระปุกออมทรัพย์ ธ.ก.ส. “น้องหอมจัง ตังค์เยอะ” สุดน่ารัก ฟรีทันที

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) บัญชีเงินฝากพิเศษเพื่อส่งเสริมการออมภาคประชาชน เนื่องในวันออมแห่งชาติ ด้วยผลิตภัณฑ์ บี จีเอช แบงก์ แฟมิลี สำหรับลูกค้าที่ไม่เคยมีบัญชีเงินฝากใดกับ ธอส.มาเปิดบัญชี เงินฝากออมทรัพย์ ธอส. เงินเต็มบ้าน รับดอกเบี้ย 1.50%
ต่อปี พิเศษบวกดอกเบี้ยเพิ่มอีก 0.25% ต่อปี นาน 6 เดือน นับจากวันที่เปิดบัญชี รวมรับดอกเบี้ยสูงสุด 1.75% ต่อปี เพียงเปิดบัญชีเงินฝากครั้งแรกขั้นต่ำ 500 บาท และมียอดเงินฝากคงเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาท

อีกมุมหนึ่งศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ธนาคารออมสิน เผยภาพรวมการออมของประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนประชาชนฐานรากเน้นออมเงินเพียงระยะสั้นไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน

ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน ได้ทำการวิจัยและสำรวจพฤติกรรมการออมของประชาชนฐานราก จากการศึกษาพบว่าภาพรวมการออมของประเทศมีการออมเบื้องต้นของประเทศอยู่ที่ 5.4 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อน 12.9% คิดเป็น 34.8% ของจีดีพี ซึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเดียวกันถือว่าอยู่ในระดับต้นๆ

โดยมีการออมในรูปแบบต่างๆ เช่น เงินฝาก สลากออมทรัพย์ พันธบัตร ประกันชีวิต เป็นต้น สำหรับเงินฝากที่อยู่ในสถาบันการเงิน (ณ เดือน ส.ค. 2561) อยู่ที่ 17.9 ล้านล้านบาท เป็นเงินฝากธนาคารพาณิชย์ 13.2 ล้านล้านบาท และธนาคารเฉพาะกิจ 4.7 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.8 และ 6.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ธนาคารออมสิน คาดว่าในระยะต่อไปตัวเลขการออมของประเทศจะมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากการเร่งลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (Megaproject) ที่ต้องการเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก

สำหรับการออมของประชาชนฐานราก ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการออมของประชาชนฐานราก จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ทั่วประเทศจำนวน 2,150 ตัวอย่าง พบว่า ประชาชนฐานราก 32.2% มีเงินออม หรือ 1 ใน 3 โดยส่วนใหญ่ 56.9% ของผู้ที่มีเงินออม มีการออมแบบรายเดือน จำนวนเงินออมเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 บาท/เดือน

สำหรับวัตถุประสงค์การออม พบว่า 3 อันดับแรก ออมเพื่อใช้ยามฉุกเฉิน/เจ็บป่วย 71.7% สำรองไว้ใช้ 67% และเป็นทุนประกอบอาชีพ 39.3% เป็นที่น่าสังเกตว่าประชาชนฐานรากที่มีการออมเพื่อใช้ยามเกษียณมีเพียง 23.5%

โดยการออม/การลงทุน 3 อันดับแรก คือ ฝากไว้กับธนาคาร 80.3% เก็บไว้ที่บ้าน/ครัวเรือน 22.9% และเล่นแชร์ 8.5%

ส่วนเป้าหมายการออม/การลงทุนในอนาคต 3 อันดับแรก คือ สำรองไว้ยามฉุกเฉิน 29.7% เพื่อการศึกษา 29.1% และใช้จ่ายยามเจ็บป่วย 27.5%

ด้านอุปสรรคสำคัญที่ไม่สามารถออมเงินได้ คือไม่มีเงินเหลือไว้ออม 52.3% มีเหตุจำเป็นต้องใช้เงิน 24.2% และมีภาระหนี้สิน 18.6%

เมื่อสอบถามถึงช่องทางในการทำธุรกรรมการฝากเงิน พบว่า 3 อันดับแรก คือ สาขาของธนาคาร 89.8% เครื่องฝากเงินสด 68.8% และ Mobile/Internet Banking (ฝากโอน) 18.4%

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนฐานรากกับ “บัญชีเงินฝากพื้นฐาน” พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 92.3% คิดว่าการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐานเป็นเรื่องที่ดี เพราะไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า/รายปีของการใช้บัตร ATM ช่วยเหลือผู้สูงอายุให้มีเงินออม และไม่กำหนดเงินฝากขั้นต่ำ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.7 เห็นว่าไม่ควรกำหนดเรื่องเกณฑ์อายุ เกณฑ์รายได้ และควรจ่ายดอกเบี้ยพิเศษกว่าปกติ เป็นต้น