posttoday

วางแผนภาษี ด้วย Final Tax

24 ตุลาคม 2561

มันนี่ทิปส์ ฉบับนี้ ไม่ได้ชวนมาหาค่าลดหย่อนภาษีอะไรดี แต่จะทำให้คุณสามารถเสียภาษีในอัตราที่น้อยที่สุด

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

ใกล้ปลายปีแล้ว มาวางแผนภาษีกันดีกว่า ซึ่ง มันนี่ทิปส์ ฉบับนี้ ไม่ได้ชวนมาหาค่าลดหย่อนภาษีอะไรดี แต่จะทำให้คุณสามารถเสียภาษีในอัตราที่น้อยที่สุด แบบ Tax Minimization อย่างถูกต้องตามกฎหมายและโปร่งใส ไม่เป็นภัยแก่กรมสรรพากร ด้วย “Final Tax”

ดร.สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส Estate Planning & Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า Final Tax คือ การเสียภาษีระหว่างปีที่เสร็จสิ้นและจบลง ซึ่งหากเสียภาษีตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้แล้ว ก็ไม่ต้องนำรายได้ดังกล่าวไปรวมกับเงินได้เพื่อยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปลายปีอีก

กลยุทธ์ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องเข้าใจตัวเองว่ามีเงินได้อะไรบ้าง และมีส่วนใดที่สามารถเสียภาษี Final Tax

การรวมรายได้ทุกประเภทที่ได้รับตลอดทั้งปีไปรวมกันยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีความเสี่ยงที่จะมีเงินได้เพิ่มจนเกินอัตราภาษีที่เคยจ่าย เพราะอัตราภาษีไทยเป็นอัตราก้าวหน้า ดังนั้น หากตัดภาระที่เสียภาษีระหว่างปีออกไป ทำให้ลดความยุ่งยากในส่วนนี้ได้

ยกตัวอย่าง หากคุณมีเงินเดือนและรายได้ต่อปีที่ปกติ เสียภาษีอยู่ในอัตรา 10% แต่มีรายได้จากการขายบ้าน หรือรายได้เงินปันผล หรือดอกเบี้ยเข้ามาระหว่างปี ทำให้เงินได้รวมหลังหักค่าใช้จ่ายเกิน 5 แสนบาท จะต้องเสียภาษีในอัตราถึง 15% แพงกว่าเดิม

Final Tax ส่วนนี้สำคัญมากสำหรับการวางแผนภาษี ที่หากรู้สิทธิประโยชน์ชัดเจนในส่วนนี้ อะไรที่ขอเสียภาษีได้เลยและถูกต้องแล้ว ไม่ต้องกังวลเลยว่าเงินได้ที่คำนวณฐานภาษีปลายปีจะเข้าข่ายเสียในอัตราใด จนต้องไปหากลยุทธ์ลดหย่อนภาษี ซึ่งเป็นปลายทางของการวางแผนภาษี

สำหรับ ประเภทของรายได้หรือเงินได้ที่เข้าข่าย Final Tax อาทิ

  • เงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก เสียภาษีในอัตรา 15%
  • เงินได้จากเงินปันผล เสียภาษีในอัตรา 10%
  • ส่วนแบ่งกำไรกองทุนรวม เสียภาษีในอัตรา 10%
  • การให้อสังหาริมทรัพย์จากบิดามารดาให้บุตรชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 5%
  • เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มุ่งค้าหากำไร เสียภาษีในอัตราก้าวหน้า
  • เงินได้ที่ได้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน เสียภาษีในอัตราก้าวหน้า

ตัวอย่างให้เห็นภาพเปรียบเทียบการเสียภาษีแบบ ภ.ง.ด. กับ Final Tax

กรณีดอกเบี้ยถ้าได้รับรายได้ดอกเบี้ย 100 ล้านบาท นำไปคำนวณภาษีปลายปี หักค่าใช้จ่ายได้ 0 บาท เพราะเงินได้ดอกเบี้ยเป็นเงินได้ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายตามประมวลรัษฎากร ถือว่าได้มาจากการลงทุนในตราสารธรรมดา หักค่าลดหย่อนคนโสด 6 หมื่นบาท เท่ากับมีเงินได้ 99 ล้านกว่าบาท ที่นำไปคำนวณภาษี ถูกเสียภาษีอัตราสูงสุด 35% หรือเท่ากับ 35 ล้านบาท

หากเสียภาษีแบบ Final Tax สำหรับเงินได้ดอกเบี้ย 100 ล้านบาท ถูกหักภาษีทันที 15% โดยอัตโนมัติ หรือ 15 ล้านบาท ถูกกว่ากันกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นต้น

วางแผนภาษี ด้วย Final Tax

กรณีขายอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มุ่งค้ากำไร ถ้าคุณตัดสินใจขายบ้าน 1 ล้านบาท ในช่วงกลางปี เสียภาษี 2.5 หมื่นบาท ได้เงินสุทธิกว่า 9 แสนบาทกลับเข้าตัว ก็ไม่ต้องนำเงิน 1 ล้านบาท มารวมเป็นฐานเงินได้จนถูกเสียภาษีอัตราเพิ่มสูงขึ้น สามารถจบเรื่องเงินได้ดังกล่าวในกลางปีนั้นได้เลย

อัตราภาษีก้าวหน้าไม่น่ากลัว

บางคนอาจกลัวเรื่องอัตราภาษีก้าวหน้า แต่ไม่น่ากลัวเลย เพราะการเป็น Final Tax หมายถึงการเป็นอัตราภาษีที่ไม่ว่าเป็นภาษีในอัตรา Fix หรืออัตราก้าวหน้า ย่อมต้องถูกกว่าอัตราสูงสุด ทำให้เรายอมเสียภาษีไปเลยระหว่างปี เพราะคุ้มค่ากว่าและลดความยุ่งยากของชีวิต หาก Final Tax ภาษีอัตราก้าวหน้า ทำให้เราต้องเสียภาษีสูงกว่า ก็ไม่ควรเป็น Final Tax

ตัวอย่างการขายบ้านแบบไม่มุ่งหากำไรที่เสียภาษีในอัตราก้าวหน้า

หากต้องการขายบ้านถือครองมา 10 ปี ราคาประเมิน 1 ล้านบาท ไปหักค่าใช้จ่ายที่แย่ที่สุด 50% ทำให้มูลค่าที่นำไปเสียภาษีนั้นเหลือ 5 แสนบาท เท่านี้ก็ลดเงินได้ที่ต้องเสียภาษีไปแล้วครึ่งหนึ่ง … ทีนี้ หามูลค่าต่อปี ก็นำมูลค่า 5 แสนบาท ไปหาร 10 ปี เท่ากับความจริง คุณมีเงินได้ 5 หมื่นบาท/ปี เอาส่วนนี้ไปคำนวณภาษี

ถึงขั้นตอนการคำนวณภาษี ซึ่งกำหนดอัตราก้าวหน้าระบุว่า 3 แสนบาทแรก เสียภาษีในอัตรา 5%

ก็นำเอา 5 หมื่นบาท/ปี ไปคูณภาษี เท่ากับคุณต้องเสียภาษีจำนวน 2,500 บาท/ปี เมื่อคูณการถือครอง 10 ปี ก็เท่ากับเสียภาษีการขายบ้านครั้งนี้ 2.5 หมื่นบาทถ้วน จบปิดดีล

เมื่อคิดกลับไปที่เงินต้น 1 ล้านบาท เท่ากับภาษี 2.5% เท่านั้น ผู้เสียภาษีควรเลือกอย่างยิ่ง

ตัวอย่าง เงินได้ก้อนเดียวที่ได้รับเมื่อออกจากงานที่เสียภาษีในอัตราก้าวหน้า

ก่อนอื่นต้องรู้ว่า กรมสรรพากร ยกเว้นภาษีเงินที่ได้ชดเชยเมื่อออกจากงาน 3 แสนบาทแรก ส่วนที่เกินนำมาคำนวณภาษี

ยกตัวอย่าง ถ้าเงินเดือนก่อนออก 1 ล้านบาท/เดือน ได้เงินก้อน 20 เดือน เท่ากับ 20 ล้านบาท ช้าก่อน! เราไม่ได้เอา 20 ล้านบาท มาคูณอัตราก้าวหน้า ไม่งั้นคงแย่ เพราะเกิน 5 ล้านบาท ต้องเสีย 35%

*รัฐบาลเข้าใจตรงนี้ จึงออกสกีมในมาตรา 48(5) ตามประมวลรัษฎากร เมื่อไหร่ที่ได้เงินได้ครั้งเดียวเมื่อออกจากงาน

ให้หักค่าใช้จ่ายคือ 7,000 บาท คูณปีทำงาน สมมติ 20 ปี เท่ากับ 1.4 แสนบาท นำไปลบ 20 ล้านบาท สุทธิ 19 ล้านกว่าบาท จากนั้นให้หาร 2 เหลือเงินที่เสียภาษีจริงๆ 9 ล้านกว่าบาท แล้วค่อยคูณภาษีอัตราก้าวหน้า ไปเสียภาษีระหว่างปีเลย ไม่เช่นนั้นหากนำมารวมเงินเดือนที่ได้ก่อนออกจากงานในปีนั้นก็คงไม่ไหว ทำให้ Final Tax เป็นเครื่องมือในการช่วยลดภาระอย่างมาก

Final Tax ไม่ได้คุ้มเสมอไป ถ้า…

มีบางกรณีที่การเสียภาษีแบบ Final Tax ไม่คุ้มค่าเท่ากับการเสียภาษีเงินได้ตาม ภ.ง.ด. ดังเช่นกรณีนี้

ถ้าคุณไม่มีรายได้ระหว่างปีเลย และมีเงินเข้าจากดอกเบี้ยสัก 3 แสนบาทในปีนั้น หัก Final Tax 15% เสียทันที 4.5 หมื่นบาท

ทว่าหากนำส่วนนี้ไปคำนวณเงินได้บุคคลธรรมดาปลายปี ภ.ง.ด.90 หักค่าใช้จ่ายได้ 0 บาท (ดอกเบี้ยไม่มีหักค่าใช้จ่าย) หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 6 หมื่นบาท เหลือ 2.4 แสนบาท คำนวณภาษี โดยตาม ภ.ง.ด. กำหนดว่าเงินได้ 1.5 แสนบาทแรกได้รับยกเว้น และเมื่อเอา 9 หมื่นบาทส่วนที่เกินไปคำนวณภาษี 5% ก็เท่ากับยื่นแบบเสียภาษีเพียง 4,500 บาท

สรุป สามารถขอคืนภาษีได้ 40,500 บาทล

วางแผนภาษี ด้วย Final Tax

นี่คือตัวอย่างที่ดีของการศึกษาและวางแผนภาษี หากไม่รู้หลัก และยอมให้หักภาษี 4.5 หมื่นบาทไปเลย ก็ไม่ได้คืนภาษีตั้งกว่า 4 หมื่นบาท

ดร.สาธิต ชี้ให้เห็นว่า การวางแผนภาษีด้วย Final Tax มีประโยชน์มากมาย ฉะนั้น อยากให้มีวิธีคิดต้อง “แม่น” ส่วนนี้ให้มากก่อน แล้วค่อยไปหากลยุทธ์การลดหย่อนภาษีอีกที เพราะจะทำให้รู้ได้เลยว่า มี Final Tax ใดบ้างที่สลัดภาระออกไปเลย การวางแผนภาษีจึงต้องเลือกตั้งแต่เงินได้

ถามแทนผู้อ่าน (และตัวเอง) ว่า ถ้าคนทั่วไปที่ไม่รู้สูตรคำนวณแบบนักบัญชีเลย มีทริกใดที่พอจะวางแผน Final Tax ได้บ้างล่ะ?

ดร.สาธิต ยอมรับว่า แม้ในตำรากฎหมายก็ไม่สามารถบอกได้ถึงสูตรตายตัว 100% ว่าควรเลือกคำนวณภาษีจากเงินได้ไหนดี อย่างสูตรที่เขียนในหนังสือ หรือในตำราจากกูรูผู้เชี่ยวชาญนั้น ก็เป็นเพียงการ “คาดว่า” จะเป็นเช่นนั้น คาดว่าแบบหนึ่งจะดีกว่าแบบสอง

ก่อนอื่น! ต้องรู้ก่อนว่าตัวเองมีฐานภาษีเท่าไร และได้รับยกเว้นภาษีประเภทไหนบ้างและเท่าไร จากนั้นมาคิดว่าใช้กลยุทธ์ Final Tax แบบไหน

แนะนำหลักการง่ายๆ (Rule of Thumb) หากมีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีประจำปีในอัตราเท่ากับหรือสูงกว่าอัตรา Final Tax แล้วละก็ คุณเลือกเสีย Final Tax น่าจะดีกว่า

หรือให้แคบไปกว่านั้น ถ้าเป็นผู้เสียภาษีที่มีเงินได้สูงพอ เช่น เสียภาษีแตะ 20% แล้ว หรือ 1 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะยอมเสีย Final Tax แล้วจบ อาจจะพอเป็นคำแนะนำง่ายๆ ให้ผู้เสียภาษีทั่วไปได้ แต่ให้ดีที่สุดลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจจะเข้ากับบางคนและไม่เข้ากับบางคน

เห็นภาพชัดเจนว่า ผู้มีเงินได้ทุกคนสามารถบริหารภาษีได้ สามารถเสียภาษีน้อยลงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ต้องใช้วิธีเลี่ยงภาษีแบบผิดๆ ต้องรู้ 3 เรื่อง

รู้ว่า...เงินได้เรามีอะไรบ้างที่ต้องเสียภาษี

รู้ว่า...เงินได้อะไรบ้างที่สามารถเสียภาษีได้เลยตั้งแต่เมื่อได้รับ โดยไม่ต้องรวมปลายปี

รู้ว่า...เงินได้ที่ได้รับยกเว้นมีอะไรบ้างที่ไม่ต้องรวมในแบบ

ก่อนที่จะไปหากลยุทธ์การลดหย่อน ซึ่งไม่รู้ว่าจะถูกกับเราหรือไม่ ลองเรียนรู้ที่จะจับปลา นำแนวคิดบริหารเงินได้และภาษีจาก Final Tax นี้มาปรับใช้เป็นของตัวเอง อาจทำให้เสียภาษีลดลงมากอย่างคาดไม่ถึง