posttoday

เชิงรุกหรือเชิงรับ กองทุนในแบบที่ใช่สำหรับคุณ

16 ตุลาคม 2561

การลงทุนเชิงรับ กับผลตอบแทนน่าทึ่งที่หลายคนมองข้ามไป

ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร บลจ.บางกอกแคปปิตอล

เชื่อไหมครับว่าประเด็นการอภิปรายว่ากองทุนเชิงรุกหรือกองทุนเชิงรับนั้นดีกว่ากันสำหรับนักลงทุนเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนในวงกว้างมากในต่างประเทศ

แต่สำหรับนักลงทุนไทยส่วนใหญ่อาจไม่เคยได้ยินเรื่องการลงทุนแบบเชิงรุกกับเชิงรับเสียด้วยซ้ำ

นั่นเป็นเพราะว่าประเทศไทยเราไม่ค่อยสร้างค่านิยมในการลงทุนแบบเชิงรับสักเท่าไร ไม่ค่อยมีใครยกประเด็นนี้ขึ้นมาเล่าให้นักลงทุนฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่การเสนอขายของกองทุนรวมในประเทศไทยมักจะเป็นกลยุทธ์เชิงรุกเพราะมันสามารถสร้างจุดขายได้ง่ายกว่าเลยไม่ค่อยพูดถึงกลยุทธ์เชิงรับกัน

วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจและเปรียบเทียบถึงข้อดีข้อเสียของการลงทุนทั้งแบบเชิงรุกและเชิงรับให้นักลงทุนเห็นความแตกต่างและสามารถเลือกกองทุนที่ใช้กลยุทธ์ที่เหมาะกับคุณ

เชิงรุกหรือเชิงรับ กองทุนในแบบที่ใช่สำหรับคุณ

การลงทุนเชิงรุก หรือการลงทุนแบบ Active Management คือ การลงทุนที่เน้นการสร้างผลตอบแทนด้วยการขวนขวายหาข้อมูล เพื่อหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาข้อมูลงบการเงินของบริษัท การวิเคราะห์ติดตามแผนกลยุทธ์ของฝ่ายบริหาร หรือแม้กระทั่งการทดลองใช้สินค้าและบริการเพื่อตรวจสอบคุณภาพ ทุกการกระทำล้วนนำไปสู่การหาข้อมูลที่เจาะลึก รวมถึงการวิเคราะห์มุมมองและจังหวะการลงทุน การขายทำกำไรและขายหยุดการขาดทุน เป็นต้น เพื่อที่จะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าผลตอบแทนโดยเฉลี่ยจากการลงทุนของนักลงทุนอื่นในตลาด

สำหรับการลงทุนเชิงรับ หรือการลงทุนแบบ Passive Management จะเป็นการลงทุนตามแผนที่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน โดยจะไม่มีการเปลี่ยนวิธีการหรือรูปแบบระหว่างการลงทุน

จุดเริ่มต้นของการลงทุนแบบตั้งรับนี้ คือ การลงทุนตามดัชนี (Index Fund) ที่ผมเคยพูดถึงนั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนตามดัชนี SET100 ที่ซื้อหุ้นทุกตัวใน SET100 ตามสัดส่วนที่มีอยู่ตามดัชนี แต่เนื่องจากดัชนีนี้กำหนดให้มีการปรับน้ำหนักหุ้นในดัชนีปีละ 2 ครั้ง ทำให้การลงทุนตามดัชนีนี้ทำได้ไม่ยากนักโดยการซื้อแล้วถือยาวจนถึงรอบปรับน้ำหนัก

ดูผิวเผินแล้วการลงทุนแบบเชิงรับอาจจะดูไม่น่าสนใจใช่ไหมครับ ที่เราลงทุนตามแผนที่กำหนดล่วงหน้าไว้ในวิธีการลงทุนของดัชนี ซึ่งหมายถึงว่าถ้าเราเจอบริษัทที่กำลังจะแย่แล้วกลายเป็นว่าเราจะต้องถือหุ้นนั้นต่อไปถ้าหุ้นดังกล่าวยังอยู่ในดัชนี แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่จำเป็นเสมอไปขึ้นกับกฎเกณฑ์ที่เราใส่ไว้ในการสร้างดัชนี

จริงๆ แล้วทุกวันนี้ทั่วโลกมีผู้จัดทำดัชนีการลงทุนหลากหลายรูปแบบและกลยุทธ์แบบที่ไม่ต้องถือหุ้นไว้เฉยๆ เพราะดัชนีมีเกณฑ์ที่กำหนดให้มีการซื้อขายเปลี่ยนหุ้นระหว่างทางได้ ซึ่งทำให้การลงทุนตามดัชนีในต่างประเทศทุกวันนี้สามารถมีกลยุทธ์ที่หลากหลายมากแต่คงไว้ซึ่งแนวคิดที่ว่าการลงทุนสามารถทำเป็นระบบและกำหนดให้ชัดเจนตายตัวด้วยการสร้างดัชนี

ผมขอเรียกกลยุทธ์แนวนี้ว่ากลยุทธ์กึ่งรุกกึ่งรับหรือ Semi-passive Management แต่จะขอขยายความกลยุทธ์แบบนี้ในตอนหน้า

ถ้าถามถึงว่ากลยุทธ์ไหนที่น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า มองดูเผินๆ อาจดูเหมือนว่าการลงทุนแบบเชิงรุกน่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าเพราะต้องออกแรงมากในการบริหารการลงทุน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีกลยุทธ์ไหนการันตีผลตอบแทนได้ดีกว่า

นั่นเป็นเพราะว่าทั้งสองกลยุทธ์นี้มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ซึ่งมีข้อบ่งชี้ในอดีตว่าแผนเชิงรุกมักจะช่วยให้การลงทุนสามารถลดขาดทุนเวลาตลาดหุ้นตกไปหนักๆ ได้เพราะผู้จัดการกองทุนสามารถปรับพอร์ตตามสภาพตลาด

แต่โดยเฉลี่ยแล้วกองทุนเชิงรุกทั่วโลกมีผลตอบแทนหลังหักค่าธรรมเนียมแล้วแพ้ดัชนีค่าเฉลี่ยทั้งตลาด

จริงๆ แล้วข้อเท็จจริงนี้ไม่น่าแปลกใจเพราะการลงทุนเป็น Zero Sum เกมที่เมื่อไหร่มีผู้เล่นที่ชนะค่าเฉลี่ยของตลาดต้องมีผู้เล่นที่ต้องแพ้ค่าเฉลี่ยของตลาดอยู่อีกข้างของการเทรดเสมอ ดังนั้น ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนกองทุนเชิงรุกหลังหักค่าธรรมเนียมมีแนวโน้มที่แพ้ค่าเฉลี่ยของตลาดอยู่แล้ว

เชิงรุกหรือเชิงรับ กองทุนในแบบที่ใช่สำหรับคุณ

ในทางกลับกันการลงทุนตามดัชนีก็แพ้ค่าเฉลี่ยของตลาดหลังหักค่าธรรมเนียมเช่นกัน แต่มักแพ้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยกองทุนเชิงรุก เนื่องจากกองทุนเชิงรับมีโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่ามาก ซึ่งหมายความว่าการเลือกกองทุนเชิงรุกที่จะชนะกองทุนเชิงรับได้คือการเลือกผู้จัดการกองทุนที่มีความสามารถและยังบริหารกองอย่างต่อเนื่องในอนาคต

หรืออีกนัยหนึ่งคือการเลือกกองทุนเชิงรุกที่ดีคือการเลือกผู้จัดการกองทุนที่ดีนั้นเอง

นักลงทุนที่จะเลือกระหว่างกองทุนเชิงรุกและเชิงรับคงต้องถามตัวเองให้ชัดเจนว่าคุณมีเวลาและความเข้าใจในกลยุทธ์ที่ผู้จัดการใช้ดีแค่ไหน

ทำการบ้านในการศึกษาประวัติการบริหารกองและพร้อมจะติดตามการบริหารกองทุนของผู้จัดการต่อไปไหม ถ้าคำตอบต่อคำถามเหล่านี้คือ ไม่ ทางเลือกการลงทุนที่ดีกว่าน่าจะเป็นกองทุนเชิงรับที่ลงทุนตามดัชนีที่ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงค่าเฉลี่ยโดยไม่ต้องพึ่งพาความสามารถของผู้จัดการกองทุนเฉพาะตัว

จริงๆ แล้วนักลงทุนทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงความง่ายและสะดวกของกองทุนเชิงรับในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การเจริญเติบโตของกองทุนเชิงรับในช่วงเวลาดังกล่าวเขย่งก้าวกระโดดขึ้นมามากจนนักวิเคราะห์หลายๆ สำนักถึงกับคาดการณ์ว่า กองทุนเชิงรับทั่วโลกจะมีขนาดรวมใหญ่กว่ากองทุนเชิงรุกในไม่ช้า โดยทั้งหมดนี้เริ่มจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของกองดัชนี S&P 500 ของแวนการ์ดที่ก่อตั้งโดย จอห์น โบเกิล เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้มีนักลงทุนเริ่มหันมาใช้กลยุทธ์การลงทุนเชิงรับกันมากขึ้น กลยุทธ์ทั้งสองต้องมีอยู่ในตลาดเพราะถ้าทุกคนหันมาลงทุนเชิงรับกันหมด จะกลายเป็นว่าไม่มีใครพยายามกำหนดราคาซื้อขายในตลาดหุ้นและเปิดโอกาสให้กลยุทธ์เชิงรุกที่ออกแรงวิเคราะห์ สามารถหาหุ้นดีที่ราคาไม่สะท้อนพื้นฐานได้ง่ายขึ้น ความสมดุลต้องมีในทุกอย่างของโลกรวมถึงกลยุทธ์การลงทุน

ทางที่ดีนักลงทุนควรมีกองทุนทั้งสองกลยุทธ์ไว้ในพอร์ตเลยก็ได้ครับถ้ายังเลือกแนวที่ชอบไม่ได้