posttoday

ปั้นอัศวินน้อย ฉลาดทางการเงิน

03 ตุลาคม 2561

เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนต้องการให้การศึกษาที่ดีที่สุดให้ลูก เพื่อให้สามารถนำไปใช้เลี้ยงตัวเองได้ แต่หลงลืมสร้างความฉลาดทางการเงิน

โดย...วารุณี อินวันนา

เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนต้องการให้การศึกษาที่ดีที่สุดให้ลูก เพื่อให้สามารถนำไปใช้เลี้ยงตัวเองได้ แต่หลงลืมสร้างความฉลาดทางการเงิน ทำให้เมื่อเติบใหญ่กลายเป็นคนมี “หนี้สินล้นพ้นตัว” เข้าทำนอง “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” หรือ “ลูกล้าง ลูกผลาญ”

การสร้างความฉลาดทางการเงินให้ลูกๆ สามารถทำได้ตั้งแต่ยังเด็กเล็กไปจนถึงวัยรุ่นก่อนเข้าเรียน หลายคนอาจค้านว่า “เกินไปมั้ง” เด็กจะเข้าใจได้อย่างไร และหลายคนอาจคิดว่า “พ่อแม่” ก็ยังเป็น “หนี้” จะสอนลูกให้มีความฉลาดทางการเงินได้อย่างไร

Beth Kobliner นักเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคล ชื่อ Make Your Kid A Money Genius ซึ่งเป็นหนังสือขายดีที่สุด บอกว่า พ่อแม่สามารถสร้างความฉลาดทางการเงินให้ลูกตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก

งานนี้มีผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัย เคมบริดจ์ ยืนยันว่า เด็กก่อนวัยเรียนสามารถเข้าใจแนวคิดพื้นฐานเงินเมื่ออายุ 7 ขวบ โดยพฤติกรรมทางการเงินของพ่อแม่มีอิทธิพลอันดับหนึ่งต่อพฤติกรรมการเงินของเด็ก

นอกจากนี้ ผลวิจัยยังพบว่าพ่อแม่สามารถที่จะสอนให้ลูกเป็นอัจฉริยะทางการเงินได้ แม้พ่อแม่จะไม่ใช่อัจฉริยะด้านนี้

ศุภกร สุนทรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอเชีย เวลท์ ในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงินให้กับกลุ่มวัยก่อนเกษียณและกลุ่มเกษียณ ยืนยันว่า สามารถสอนให้เด็กตัวเล็กๆ มีความฉลาดทางการเงินได้

ในหนังสือ Make Your Kid A Money Genius หรือ สร้างความฉลาดทางการเงินให้เด็ก สามารถเริ่มได้ตั้งแต่เด็กก่อนวัยเรียน อายุ 3-5 ขวบ ด้วยการ

หนึ่ง สอนให้หัดเลือก เป็นการสอนให้เห็นว่าเงินมีค่า โดยใช้กิจวัตรในชีวิตประจำวันขึ้นมาเป็นตุ๊กตาสอน เช่น พาเด็กไปร้านขายของเล่น ให้เด็กๆ เลือก ซึ่งโดยธรรมชาติของเด็กจะอยากได้หลายๆ อย่างก็จะหยิบมาพร้อมกัน

พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องบอกลูกว่า มีเงินอยู่ 100 บาท ซื้อของได้เพียง 1 ชิ้นเท่านั้น ลูกต้องเลือกสิ่งที่ลูกชอบที่สุดเพียง 1 ชิ้น ซึ่งต้องยึดกฎนั้น อย่าใจอ่อน

หากลูกเลือก 1 ชิ้นมา ก็พาไปที่เคาน์เตอร์จ่ายเงิน หากของราคาต่ำกว่า 100 บาท มีเงินทอนกลับมา ก็ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจอย่างง่ายๆ ไม่ถึงขั้นต้องสอนบวกลบคูณหาร

“ลูกจะได้เรียนรู้ 2 เรื่อง คือ จะได้รู้ว่าเงินไม่ได้เสกมา และเรียนรู้การเลือก จะทำให้เกิดการจดจำว่าเขาจะไม่ได้ทุกอย่างที่อยากได้” ศุภกร อธิบาย

สอง สอนให้เห็นคุณค่าของเวลา เมื่อเด็กเข้าสู่วัยประถม ด้วยการหยิบยกกิจวัตรในชีวิตประจำวันของลูก ที่พ่อแม่ให้เงินไปกินขนมทุกๆ วันเข้ามาเป็นเงื่อนไข ซึ่งเด็กวัยนี้จะเริ่มอยากได้ของเล่นที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น อยากได้ตัวต่อหรือเลโก้มาเล่น

ในวัยนี้ลูกยังไม่รู้ว่าจะเก็บเงินวันละเท่าไร จึงไม่ควรเริ่มสอนให้เก็บเงิน แต่ใช้วิธีสอนให้หยุดกินขนม 10 วัน แล้วนำเงินมาให้พ่อแม่ เมื่อครบ 10 วัน พ่อแม่จะพาไปซื้อเลโก้

“บทเรียนนี้จะสอนให้ลูกเห็นคุณค่าและความสำคัญของเวลา เรียนรู้ความอดทน การมีวินัย” ศุภกร อธิบาย

สำหรับการ “ลงทุนเพื่อลูก สร้างความมั่งคั่งให้ครอบครัว” ที่ห้องสมุดมารวย จัดขึ้นมาเป็นหัวข้อนำมาเป็นแนวทางให้กับเหล่าพ่อแม่นั้น

ศุภกร แนะนำว่า “การลงทุน” ต้องมีแผนลงทุนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

แผนลงทุนระยะสั้น เพื่อใช้ในการซื้อของเล่น โดยให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนนั้น และพ่อแม่สมทบเข้าไปอย่างละครึ่ง เช่น ลูกเก็บ 5 บาท พ่อแม่สมทบ 5 บาท ใช้หลักการเดียวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือโพรวิเดนต์ฟันด์ที่นายจ้างสมทบให้ลูกจ้าง

แผนการลงทุนระยะกลาง เพื่อใช้ในการเรียนพิเศษของลูกเมื่อโตขึ้น อาจจะพาลูกไปเปิดบัญชีในธนาคาร ที่สำคัญเงินก้อนนี้ห้ามพ่อแม่นำไปใช้เด็ดขาด เพราะเป็นการสอนเรื่องความเชื่อใจหรือทรัสต์ให้กับลูกๆ และการมีวินัย

แผนการลงทุนระยะยาว เพื่อการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่จะเข้ามหาวิทยาลัยก็ให้เงินก้อนนี้กับลูกไป โดยจะต้องนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ชนะเงินเฟ้อและมีความปลอดภัยให้ลูกเข้ามาร่วมออม เช่น การได้เงินในโอกาสพิเศษต่างๆ ให้ลูกได้เรียนรู้วิธีการสะสม การเก็บเงิน และการลงทุน เมื่อถึงเวลาเข้ามหาวิทยาลัยก็มอบเงินก้อนนั้นให้ลูก

การสร้างความมั่งคั่งให้กับครอบครัว

ศุภกร แนะนำว่า หากมีแผนจะมีลูกควรจะมีการวางแผนการเงินล่วงหน้า เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายลูกในช่วง 2-3 ปีแรก เพื่อจะได้ไม่เผชิญกับวิกฤตการเงิน เพราะในวัยนี้จะมีค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าใช้จ่ายตามวัยที่กำลังสนุกสนาน และมีภาษีสังคมเพราะเพื่อนๆ เริ่มแต่งงาน

สำหรับ ค่าใช้จ่ายเด็กอายุ 1-3 ขวบ เฉลี่ยประมาณเดือนละ 1.5-2 หมื่นบาท ในกรณีที่ไม่ได้จ้างพี่เลี้ยงเด็กรวม 3 ปี จะเป็นค่าใช้จ่ายจำนวน 5.4-7.2 แสนบาท จึงควรเก็บเงินล่วงหน้าและควรเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีและปลอดภัย และจะต้องเตรียมเงินไว้ซื้อประกันสุขภาพให้ลูกด้วย เพราะเด็กจะป่วยบ่อย

ขณะที่รายได้ประจำมักจะมีจำกัด เพราะคนช่วงวัย 30-35 ปี เป็นวัยที่วางแผนจะมีลูก ยังมีเงินเดือนไม่สูง การจะจัดสรรเงินมาออมเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตในช่วงที่มีลูก 1-3 ปีแรก จะต้องลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ด้วยการหาอาชีพเสริม

การสอนให้ลูกเติบโตขึ้นด้วยการเป็นคนที่มีความฉลาดหรืออัจฉริยะทางการเงิน จะช่วยให้สบายใจได้ว่าลูกจะเอาตัวรอดได้ และพ่อแม่ก็สามารถก้าวเข้าสู่การสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองมีเงินเพียงพอหลังใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างเบาใจ