posttoday

เริ่มต้นลงทุนในวัยเกษียณ

02 ตุลาคม 2561

วัยหลังเกษียณควรเอาเงินไปลงทุนกับอะไรดี

โดย..ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์ และพูนศรี เจริญ

ในช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาของทุกปีนี้จะมีข้าราชการเกษียณจำนวนมาก มีคำถามว่ามีเงินก้อนจากเงินบำนาญจะนำไปลงทุนหรือต่อยอดอะไร และมีหลายคนให้ความเห็นว่าไม่ควรที่จะเอาเงินก้อนสุดท้ายในชีวิตมาลงทุนความเสี่ยงสูงๆ เผื่ออาจจะเสียหายถึงเจ๊งหมดตัวตอนแก่จะลำบาก แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยเงินก้อนจากการเกษียณอาจจะหมดก่อนที่เราจะจากโลกนี้ไป และแค่คิดจะเก็บเงินฝากธนาคารก็เกรงว่าไม่พอที่จะเหลือกินเหลือใช้ในชีวิตบั้นปลาย

เริ่มต้นลงทุนในวัยเกษียณ

หลักการบริหารเงิน แบ่งเงินก้อนที่จะใช้ในวัยเกษียณเป็น 3 ส่วน อาจแบ่งตามสัดส่วนหรือแบ่งเป็นจำนวนที่เท่ากันก็ได้ แบ่งเป็น 1.เงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 2.เงินสำหรับกรณีฉุกเฉิน 3.เงินสำหรับการลงทุน

เบื้องต้นก่อนที่จะลงทุนควรจะมีการประเมินตัวเองว่าชีวิตหลังเกษียณจะใช้เงินเท่าไร

เช่น ใช้จ่ายค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเดินทาง เดือนละ 1.5 หมื่นบาท หากใช้จ่ายสัก 25 ปีหลังเกษียณ เท่ากับว่าควรกันเงินไว้สำหรับการใช้จ่ายอย่างน้อย 4.5 ล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้แนะนำเก็บในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ อย่างกองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ ที่สามารถจะเบิกถอนออกมาได้เร็ว

เริ่มต้นลงทุนในวัยเกษียณ

แล้วถ้ามีเงินก้อนเหลือจากการกันเป็นเงินใช้จ่าย เงินส่วนนี้จะลองแบ่งมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อย่างหุ้น หรือกองทุนหุ้น เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

ซึ่งการกันเงินสำหรับใช้จ่ายออกไปก่อนนั้น จะช่วยให้ไม่ต้องเป็นกังวลว่า หากเงินที่ลงทุนในหุ้น หรือกองทุนหุ้น เจอกับภาวะขาดทุน จะกระทบกับการใช้จ่ายหลังเกษียณนั่นเอง

การนำเงินไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์ประเภทกองทุนตราสารหนี้ พันธบัตร หุ้นกู้ ซื้อพันธบัตร ซื้อประกันชีวิตแบบจ่ายเงินปันผล ฯลฯ เพราะการลงทุนเหล่านี้ มีความเสี่ยงต่ำ และได้ดอกเบี้ยสม่ำเสมอ แต่ก็ต้องคำนึงว่าผลตอบแทนควรที่จะชนะเงินเฟ้อ

ไม่มีคำว่า “สายเกิน” ไปที่จะเริ่มต้น ถ้าคิดจะลงทุนและมีทางเลือกอะไรบ้าง

ฝากเงินกับแบงก์ การฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ดูเหมือนปลอดภัยที่สุด...แต่ก็ผลตอบแทนน้อยที่สุดเช่นกัน สำหรับวัยเกษียณก็จะมีสิทธิประโยชน์พิเศษที่จะเลือก “บัญชีเงินฝากเพื่อผู้สูงอายุ” ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป เช่น...ธนาคารออมสิน บัญชีเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษผู้สูงวัย อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 1.875% ต่อปี บัญชีเงินฝากออมทรัพย์เจ้าสัว ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) อัตราดอกเบี้ยสูงสุด 1.80% ต่อปี ตามจำนวนเงินฝากแต่ละช่วง บัญชีเงินฝากประจำ เคเค ฟรี 55 อัพ ธนาคารเกียรตินาคิน อัตราดอกเบี้ย 1.60% บัญชีเงินฝากประจำซูเปอร์ ซีเนียร์ ธนาคารกสิกรไทย อัตราดอกเบี้ยก็ประมาณ 1.60%

เริ่มต้นลงทุนในวัยเกษียณ

หุ้นกู้ & พันธบัตร

ตราสารหนี้หรือที่เรียกกันว่า “หุ้นกู้” จะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากต้องเลือกบริษัทที่น่าเชื่อถือมีความมั่นคง อย่างน้อยควรจะมีการจัดอันดับเครดิต เพื่อสร้างหลักประกันความอุ่นใจได้นิดหนึ่งเงินต้นจะไม่สูญหาย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบทเรียนมาเยอะลงทุนในหุ้นที่จ่ายดอกเบี้ยสูงในที่สุดบริษัทก็เบี้ยวชำระหนี้

ขณะนี้ก็มีพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาลจ่ายดอกเบี้ย 2.15% และอดใจอีกนิดเร็วๆ นี้จะมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ “ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์” (ทีเอฟเอฟ) คาดการณ์กันว่าจะจ่ายผลตอบแทน 4-5%

กองทุนรวม

กองทุนรวมถือเป็นการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่เหมาะกับคนวัยเกษียณ ความเสี่ยงถือว่ามีน้อย และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินกับธนาคาร ปัจจุบันกองทุนรวม มีผลตอบแทนอยู่ราว 2.5-4% ต่อปี

กองทุนรวมก็มีหลากหลาย รูปแบบการลงทุนผสมผลิตภัณฑ์การเงิน หุ้นกู้พันธบัตร น้ำมัน อสัหาริมทรัพย์ ทั้งการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ขอแนะนำกองทุนที่จ่ายงินปันผล เพราะอย่างน้อยวัยเกษียณมีความจำเป็นต้องได้เงินปันผลมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน บางกองทุนก็จ่ายปันผลทุก 3 เดือน

ปัจจุบันบริษัทจัดการกองทุนรวมหลายแห่งมีการแข่งขันออกแบบกองทุนรวมสำหรับวัยเกษียณมาโดยเฉพาะ ตัวอย่างกองทุนเพื่อชาวเกษียณของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย มีกองทุนแนะนำสำหรับชาวเกษียณ 2 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนเปิดเค แพลน 1 (K-PLAN1) เป็นกองทุนตราสารหนี้ ความเสี่ยงระดับ 4 หรือเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก มีสภาพคล่องในการซื้อขายไถ่ถอนหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ โดยจะได้รับเงินคืนภายในวันที่ T+2 มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชน และเงินฝากทั้งในและต่างประเทศ โดยจำกัดเพดานการลงทุนในต่างประเทศไม่เกิน 20% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (เอ็นเอวี) พร้อมทั้งป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ

บลจ.กรุงไทย แนะนำกองทุนเปิด

กรุงไทยสุขใจ (KTSUK) เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ และมีความผันผวนน้อย โดยลงทุนในตราสารหนี้ 80% หุ้น 10% และตราสารทางเลือก 10% เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย

เริ่มต้นลงทุนในวัยเกษียณ

ซื้อประกันบำนาญ

บริษัทประกันชีวิตหลายแห่งที่ออกแบบกรมธรรม์เพื่อวัยเกษียณ มีการจ่ายเงินบำนาญทุกปี ปีละ 15-20% ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

แต่สำหรับสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ล่าสุด กบข.จับมือกับบริษัท ไทยประกันชีวิต ออกแบบประกันบำนาญ “กบข. เกษมบำนาญ A1 และ กบข. เกษมบำนาญ A65” ซึ่งสมาชิกชำระเบี้ยครั้งเดียวเมื่อเกษียณอายุ 60 ปี และสามารถเลือกรับเงินบำนาญแบบรายเดือนหรือรายปีได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบริษัท และมีการคุ้มครองประกันชีวิตด้วย

ลงทุนหุ้น

มีไม่น้อยที่หลังเกษียณที่คิดจะเอาเงินก้อนมาลงทุนในหุ้น ใครๆ ว่าได้กำไรดีไม่ต้องทำอะไรมาซื้อมาขายไป หรือเปิดพอร์ตลงทุนหุ้นปันผลบ้าง ใครที่คิดเช่นนั้น ก็ต้องคิดใหม่ และคิดให้นานสักหน่อย อย่างน้อยก็ถามตัวเองก่อนว่า มีความรู้ดีแค่ไหนที่กล้าจะเอาเงินก้อนสุดท้าย “เสี่ยง” แม้ว่าจะเห็นมีการเปิดคอร์สสอนเรียนวิชาเทรด “หุ้น” คุยกันว่าประสบความสำเร็จมีกำไรจากการ เทรดหุ้นเป็นมืออาชีพเทรดหุ้น คนประสบความสำเร็จจริงก็มี คนที่เจ๊งก็เยอะ บาดเจ็บสาหัส หมดเนื้อหมดตัวแถมยังมีหนี้มีสิ้นหลังเกษียณก็จะยิ่งเครียดกันไปใหญ่ เพราะชีวิตเกษียณโอกาสที่จะกลับมายืนใหม่ก็คงยากขึ้น

ถ้าเกษียณแล้วและไม่มีรายได้หลักอื่นๆ ในการดำรงชีวิต ก็ไม่ควรเอาไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงหรือหุ้นทั้งหมด

5 ขั้นมั่นใจลงทุน

ก่อนจะลงทุนอะไรต้องศึกษาความรู้ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเว็บไซต์ www.5ขั้นมั่นใจลงทุน.com รวบรวมบริษัทด้านการลงทุนทุกแขนงมาให้ประชาชน ปรึกษา หาความรู้ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางรวบรวมกว่า 30 ผู้ให้บริการทางการเงินที่ผ่านมาตรฐานของ ก.ล.ต. ตอบโจทย์การเงินระยะยาว เช่น ลงทุนเพื่อการเกษียณ

ก่อนลงทุนต้องศึกษาทำความเข้าใจวิธีลงทุน รูปแบบผลตอบแทน และความเสี่ยงหรือโอกาสขาดทุนจากการลงทุนให้ดีก่อน

เริ่มต้นลงทุนในวัยเกษียณ

เตือนภัยชาวเกษียณ

วัยเกษียณจะคิดมากมีเงินไม่ต่อยอดเงินเดี่ยวเงินจะหมด ใครว่าลงทุนอะไรกำไรดีก็ร่วมลงทุนกับเขาหมด รูปแบบการลงทุนก็มีมากมาย โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะโดนหลอกง่ายที่สุดคือ กลุ่มวัยเกษียณนี้ละ เชิญชวนไปร่วมสัมมนาโรงแรมใหญ่โต เห็นแผนธุรกิจโอกาสการสร้างกำไรอย่างงดงาม 3-6 เดือน ได้เงินคืนทุน ยิ่งลงทุนเยอะยิ่งได้กำไรมาก

ล่าสุด ก็มีมุขหลอกลวงชักชวนไปสัมมนาการลงทุนในสิ่งล้ำสมัยใช้ศัพท์เทคนิคเข้าใจยาก เช่น สกุลเงินดิจิทัล ลงทุนซื้อทองคำ เก็งกำไรค่าเงินบาท ลงทุน น้ำมันล่วงหน้า แชร์ลูกโซ่ การลงทุนร่วมปล่อยเงินกู้ ซื้อของมาขาย ฯลฯ หรือชักชวนให้ฝากเงินกับบริษัทว่าจะจ่ายดอกเบี้ยสูงโดยอ้างชื่อบุคคลมีชื่อเสียงว่า ร่วมลงทุนด้วย มั่นใจได้ว่ามั่นคงไม่หลอกลงทุนทำกราฟฟิกหลอกว่า ให้ได้กำไรทันตาเห็น สิ่งเหล่านี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

และมีจำนวนไม่น้อยที่ลูกหลานขอยืมเงิน “ก้อนสุดท้ายเกษียณ” ไปลงทุนก่อนก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละท่าน