posttoday

Blockchain เข้าใจง่ายๆ

25 กันยายน 2561

อธิบายให้เข้าใจกันแบบง่ายๆ ว่า จริงๆ แล้ว Blockchain คืออะไร

โดย...แซม ตันสกุล  Managing Director, Krungsri Finnovate

ที่ผ่านมาผมมักจะได้รับคำถามที่คล้ายๆ กันจากหลายๆ คนในระหว่างการสนทนา หรือแม้กระทั่งในเวลาที่ผมไปบรรยายในเรื่องต่างๆ บ่อยครั้งจะได้รับคำถามคล้ายๆ กันว่าให้ช่วยอธิบายได้หรือไม่ว่า Blockchain คืออะไร มีดีอย่างไร จะนำมาใช้หรือประยุกต์ใช้ทำอะไรได้บ้าง แล้วเราประชาชนคนทั่วไปจะได้ใช้ประโยชน์จากระบบเทคโนโลยี Blockchain ที่มีแต่คนพูดถึงบ้างหรือไม่

ผมจึงขอใช้พื้นที่ตรงนี้ในการอธิบายให้เข้าใจกันแบบง่ายๆ ว่า จริงๆ แล้ว Blockchain คืออะไร และมีตัวอย่างที่พวกเราจะเห็นได้การนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้

เมื่อถามว่า Blockchain คืออะไร ผมขอให้ความหมายของ Blokchain (บล็อกเชน) ว่า มันคือระบบพิสูจน์ตัวตนที่แท้จริงที่ทำให้ทุกอย่างโปร่งใส และกระจายการเก็บข้อมูลให้กับทุกๆ คนได้เห็นกัน (ศัพท์เทคนิคจะเรียกว่า Decentralized ซึ่งปัจจุบันวิธีการเก็บข้อมูลมักจะเป็นการเก็บรวมไว้อยู่ที่เดียว เป็นสิ่งที่เรียกว่า Centralized หรืออย่างดีก็มีการเก็บ back up เพิ่ม หากเกิดเหตุการณ์ที่ข้อมูลเดิมหาย)

เพียงการอธิบายหมายความอาจจะยังไม่เห็นภาพชัดเจน ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เช่น สมมติว่าที่ออฟฟิศของเรามีพนักงานจำนวน 50 คน แต่ละคนจะถือว่าเป็นหนึ่ง block โดยแต่ละคนจะผูกกันด้วย โซ่ (chain) หากพนักงานคนแรกส่งข้อมูลไปหาพนักงานคนที่ 2 พนักงานที่เหลืออีก 48 คน ก็จะทราบและรับรู้เช่นเดียวกัน หรือถ้าหากพนักงานคนที่ 3 เกิดแอบแก้ข้อมูลในระบบ เพื่อนคนอื่นๆ ที่เหลือทั้งบริษัทก็จะเห็นพร้อมกัน และรู้ได้ทันทีว่าข้อมูลของบริษัทถูกแก้ไข หากเป็นแบบนี้แล้ว เจ้าของบริษัทต้องชอบมากแน่ๆ กับระบบที่สร้างความโปร่งใสและกระจายข้อมูลให้กับทุกๆ คนได้แบบนี้

Blockchain เริ่มมีชื่อเสียงและได้รับการพูดถึงมากในแวดวงของการทำธุรกรรมโอนเงินไปยังต่างประเทศ ทั้งการโอนเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือที่มีพูดถึงกันมากคือ การโอน Bitcoin

Bitcoin ที่แท้จริงแล้วมีระบบ Blockchain นี่แหละที่ทำให้สกุลดิจิทัลน่าเชื่อถือขึ้น เพราะสามารถตรวจสอบธุรกรรมได้ โดยสามารถตรวจสอบประวัติคนโอน หรือคนรับโอน แต่ความพิเศษคือเราจะไม่สามารถทราบชื่อ นามสกุลได้ ซึ่งก็ทำให้ยิ่งได้รับความนิยมในการใช้ Bitcoin ขึ้นไปอีก เพราะส่วนมากจะใช้อยู่บน Dark Web (เว็บที่ขายของเถื่อน)

สำหรับในอนาคตเราจะได้เห็นการนำ Blockchain มาใช้ในลักษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้

1.ใช้ในการตรวจสอบของแบรนด์เนมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น นาฬิกา กระเป๋าถือ โดยที่สินค้าแต่ละชิ้นจะมีโค้ดติดมากับตัวสินค้า ซึ่งอยู่บนระบบ Blockchain ที่สามารถตรวจเช็กได้หมดว่าใครเป็นเจ้าของมือหนึ่งหรือมือสอง ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจมากขึ้น และจะยิ่งทำให้ตลาดมือสองคึกคักอย่างแน่นอน

2.วงการอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะเพชรที่ทุกชิ้นจะมีค่าย หรือสังกัด เช่น GIA ผู้บริโภคหรือเจ้าของร้านเพชรก็จะสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าเพชรที่มีอยู่ในมือนั้น ตรงกับในใบ Certificate หรือไม่ และในอนาคตเราสามารถเอากล้องถ่ายรูปจากมือถือที่ในปัจจุบันมีความคมชัดและละเอียดสูง สามารถถ่ายเพชรที่เราสวมใส่อยู่ และหาค่า C (คุณสมบัติของเพชร) ตามในใบ Certificate จนรู้ว่าเพชรนี้เป็นคุณสมบัติลักษณะอย่างไร

3.หลายคนคงคิดเหมือนๆ กันว่า ไม่ใช่เรื่องสนุกนักเวลาที่เราต้องเดินทางไปกรมที่ดิน สำหรับการซื้อขายและต้องพกโฉนดที่ดิน ซึ่งเป็นแผ่นกระดาษใบใหญ่ๆ ไปด้วย เพื่อเป็นเอกสารอ้างอิงและยืนยัน แต่อีกไม่นานนี้คนไทยจะได้เห็นโฉนดที่ดินอยู่บนระบบ Blockchain (ซึ่งเท่าที่ผมทราบในตอนนี้ทางกรมที่ดินกำลังมีโปรเจกต์ในการทยอยนำโฉนดที่ดินที่เป็นกระดาษมาอัพโหลดขึ้นในรูปแบบออนไลน์) ดังนั้นต่อไปในอนาคตเราสามารถซื้อขายที่ดินได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่กรมที่ดินให้เสียเวลา เมื่อทั้งคนซื้อ คนขาย และเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน สามารถเห็นเอกสารทุกอย่างบนออนไลน์และสามารถกดอนุมัติได้เลยทันที

ทั้งหมดเป็นตัวอย่างของการนำ Blockchain มาใช้ให้ และแน่นอนว่าคนทั่วๆ ไปอย่างเราๆ นี้จะได้ประโยชน์มากมายจากเทคโนโลยีนี้ ไว้เดือนหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังต่อว่าแล้วในวงการธนาคารจะเอา Blockchain มาทำอะไรได้บ้าง รับรองว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการเงินของคนไทย และกรุงศรีก็เป็นผู้นำในเรื่องนี้ด้วยครับผมยืนยัน แต่อย่างน้อยวันนี้ผู้อ่านก็คงเข้าใจ Blockchain มากขึ้นไม่มากก็น้อย ถ้าใครมาถามว่า Blockchain คืออะไร ตอบไปเลยครับว่า คือ ระบบพิสูจน์ตัวตนที่แท้จริง ที่ทำให้ทุกอย่างโปร่งใส

สำหรับผู้อ่านที่ต้องการติดตามข่าวสารและความรู้ฟินเทค สามารถกด follow ได้ที่ Facebook : Krungsri Finnovate ครับ รับรองสนุกแบบมีสาระแน่นอนครับ