posttoday

ก.ย. = เก็บแยก เก็บยาว เก็บ (ได้) เยอะ

04 กันยายน 2561

เคล็ดลับการออมเงินที่ช่วยให้เราทุกคนมีเงินเป็นกอบเป็นกำ

โดย..ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

เผลอแป๊บเดียววันเวลาได้ล่วงเลยเข้าสู่เดือนที่ 9 ของปีแล้ว หรือที่คนนิยมเรียกแบบย่อๆ ว่า ก.ย. แต่ ก.ย.ไม่ได้เป็นแค่คำย่อของเดือนเท่านั้น แต่ยังเป็นเคล็ดลับการออมเงินที่ช่วยให้เราทุกคนมีเงินเป็นกอบเป็นกำได้อีกด้วย

ถ้าสงสัยตัวเองว่าทำไมพยายามออมหรือเก็บเงินแล้ว แต่สุดท้ายก็หายหมด อย่างแรก อยากให้ทำการสำรวจ “แหล่งเก็บเงิน” เพราะคนจำนวนมากมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ใช้รับเงินเดือนไว้สำหรับทำทุกอย่างเบ็ดเสร็จในบัญชีเดียว ไม่ว่าจะซื้อของ ชำระหนี้ ออมเงิน ลงทุน ฯลฯ อเนกประสงค์ขนาดนี้ทั้งที่ในชีวิตของเรามีเป้าหมายในการใช้เงินมากกว่าหนึ่งอย่างแน่ๆ พอใช้รวมกันในที่เดียวแบบนี้สุดท้ายแล้วส่วนใหญ่ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะเงินที่ตั้งใจจะออมหรือลงทุนมักจะไหลออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจหรือยั้งใจไว้ไม่ทัน

วิธีที่อยากแนะนำก็คือให้จัดสรรเงินให้เป็นสัดส่วนด้วยการ “เก็บแยก” คือแยกบัญชีใช้จ่ายกับบัญชีออมเงินออกจากกัน โดยจะใช้บัญชีเงินเดือนสำหรับใช้จ่ายหรือชำระหนี้ด้วยก็ได้ตามที่เราสะดวก ส่วนเงินออมและเงินลงทุนขอให้เก็บแยกออกมาจากบัญชีเงินเดือน จะได้ไม่เผลอไผลเอาเงินออกมาใช้ ถ้าตั้งระบบให้โอนเงินออกไปยังบัญชีเงินออมและลงทุนเมื่อเงินเดือนออกได้ก็ยิ่งดี ส่วนที่เหลือในบัญชีเงินเดือนเราก็นำไปใช้จ่ายได้ตามสบายหลังจากที่ออม ลงทุน และชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้แล้ว

พอแยกบัญชีเงินเดือนกับเงินออมสำเร็จแล้ว ขั้นต่อไปก็คือ “เก็บยาว” เพราะในชีวิตจริงของคนเรามีเป้าหมายหลายอย่าง แต่มักจะสนใจเก็บเงินเพื่อเป้าหมายระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี) เช่น เก็บเงินเพื่อซื้อของที่อยากได้ หรือเป้าหมายระยะกลาง (1-3 ปี) เช่น เก็บเงินไปเที่ยวต่างประเทศ โดยไม่ค่อยจะได้นึกถึงการเก็บเงินเพื่อเป้าหมายระยะยาว (3 ปีขึ้นไป) เท่าใดนัก เช่น เก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณ และกว่าจะนึกขึ้นได้ว่าต้องทำก็อาจจะสายเกินไปแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้นการเก็บยาวหรือเพื่อเป้าหมายระยะใดๆ ก็ตาม ต้องอาศัยความอดทนต่อสิ่งเย้ายวนใจหรือการใช้ชีวิตตามใจตัวเองสูงมาก หลายคนที่เริ่มแล้วมีเคล็ดลับคือต้องตั้งใจมั่นว่าจะไม่ถอนเงินฝากหรือขายสิ่งที่เราลงทุนเพื่อนำเงินมาใช้กลางทางก่อนครบกำหนดเวลาเด็ดขาด และต้องเชื่อมั่นว่าถ้าทำไปเรื่อยๆ ความสุขและความสบายใจทางการเงิน รวมทั้งเงินจริงๆ พร้อมดอกผลก็จะรอเราอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ถ้าเราทั้งเก็บแยกและเก็บยาวแล้ว เราก็จะเป็นคนที่มีแนวโน้มว่าจะ “เก็บ(ได้)เยอะ” ซึ่งจำนวนเงินต้นน้อยไม่ใช่เรื่องแย่ แต่ขอให้เริ่ม อย่าผัดวันประกันพรุ่ง และจะให้ดีตามสูตรต้องออมและลงทุนรวมกันอย่างน้อย 1 ใน 4 หรือ 25% ของรายได้ทุกครั้งที่มีรายได้เข้ามา แต่ถ้าตอนนี้รู้สึกหนักเกินไป เช่น เงินเดือนยังน้อยอยู่ ก็ให้เริ่มที่ 10% แล้วตั้งเป้าขยับให้ถึง 25% ในอนาคต

แต่ถ้าอยากเห็นภาพชัดๆ สมมติปัจจุบันอายุ 25 ปี เงินเดือนปัจจุบัน 25,000 บาท จะเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี ก็จะมีเวลาเก็บเงิน 35 ปี อัตราผลตอบแทนคือ 3% ต่อปี ถ้าออมหรือลงทุน 2,500 บาท/เดือน (10% ของรายได้) จะได้เงินหลังเกษียณทั้งหมด 1,868,278 บาท แต่ถ้าสามารถไปออมได้ถึง 25% ของรายได้ หรือ 6,250 บาท/เดือน ยอดเงินหลังเกษียณรวมจะสูงถึง 4,670,696 บาท ต่างกันถึง 2.8 ล้านบาท

จากนี้เวลาเจอคำว่า ก.ย. ก็จะไม่ใช่แค่ชื่อย่อของเดือนที่ฟังแล้วปล่อยผ่าน แต่จะกลายเป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้งขอแค่ลงมือทำตามคำแสนสั้นเพียง 3 คำที่ว่ามาตั้งแต่วันนี้ไม่ต้องรอฤกษ์ดีปีใหม่ 2562 รับรองว่าจะได้โบกมือลาจากวิถีชีวิตแบบ “พยายามเก็บเท่าไรก็หมด” พลิกมาเป็น “จะมีกี่เป้าหมายก็เป็นไปได้ทั้งนั้น” ได้ง่ายและเร็วขึ้นอย่างแน่นอน

ก.ย. = เก็บแยก เก็บยาว เก็บ (ได้) เยอะ