posttoday

บิตคอยน์ ควรมีไว้ในพอร์ตไหม?

21 สิงหาคม 2561

การลงทุนในบิตคอยน์อาจให้กำไรสูงมากทถึงขั้นเปลี่ยนชีวิตคนบางคนให้กลายเป็นมหาเศรษฐีได้เลย

โดย..ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร บลจ.บางกอกแคปปิตอล

หลายท่านคงเคยได้ยินว่าลงทุนในบิตคอยน์ให้กำไรสูงมากถึงขั้นเปลี่ยนชีวิตคนบางคนให้กลายเป็นมหาเศรษฐีได้เลย เพราะราคาพุ่งจาก 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ/1 บิตคอยน์ เมื่อต้นปี 2560 วิ่งไปถึง 1.8 หมื่นดอลลาร์ เมื่อสิ้นปี 2560 ซึ่งเติบโตถึง 18 เท่าใน 1 ปีเลยทีเดียว (แต่ปัจจุบันราคาร่วงลงมาเหลือประมาณ 6,000-7,000 ดอลลาร์)

ผมต้องบอกเลยว่าปีที่แล้วทั้งปีมีลูกค้าผมถามเรื่องการลงทุนในบิตคอยน์เข้ามาเป็นระยะๆ ว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่ควรลงทุนไหมจริงหรือที่เขาว่ากันว่ามันคือสกุลเงินสำหรับอนาคตที่ถ้าไม่ลงทุนไว้ตอนนี้แล้วจะพลาดโอกาสครั้งสำคัญ วันนี้ผมจะมาเล่ามุมมองของผมในเรื่องนี้ให้ฟังกันครับ

บิตคอยน์ถูกออกแบบให้เป็นเงินดิจิทัลซึ่งใช้เทคโนโลยีมาเชื่อมโยงหลักฐานการถือครองและการเปลี่ยนมือเจ้าของเงินในฐานข้อมูลที่กระจายตัวไปทั่วเครือข่ายดิจิทัลในรูปแบบบล็อกเชน ซึ่งส่งผลให้ไม่ต้องมีคนกลางอย่างธนาคารเข้ามาคอยควบคุมดูแล ทั้งยังสามารถรักษาความถูกต้องของการเปลี่ยนมือของเงินระหว่างกันไว้ได้ กล่าวคือเราสามารถยืนยันกับคนอื่นได้ว่าเรามียอดเงินบิตคอยน์นี้อยู่จริง แต่นอกจากความสามารถที่จะสามารถยืนยันความเป็นเจ้าของและการเปลี่ยนมือเงินนี้ได้แล้ว ปรากฏว่าคุณสมบัติอื่นๆ ที่สกุลเงินพึงมีกลับไม่พบในบิตคอยน์เลย สกุลเงินโดยทั่วไปต้องเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และเก็บสะสมมูลค่าได้

จริงอยู่ว่าร้านค้าบางที่รับเงินบิตคอยน์ในการซื้อขาย แต่เท่าที่ผมเห็นมายังไม่เคยเห็นใครตั้งใจที่จะถือบิตคอยน์ไว้เพื่อเป็นเงินที่ใช้ซื้อขายสินค้าและบริการเหมือนเงินทั่วไป นอกจากอาชญากรที่เกี่ยวข้องกับเงินนอกระบบในรูปแบบต่างๆ และด้วยความผันผวนที่รุนแรงของค่าเงินบิตคอยน์ที่ทะยาน 18 เท่าใน 1 ปี แต่ก็สูญมูลค่าเกิน 2 ใน 3 ภายในเวลาไม่กี่เดือน ทำให้เป็นไปได้ยากที่จะมีคนใช้บิตคอยน์เป็นสกุลเงินที่ใช้เก็บสะสมความมั่งคั่งที่ตนสร้างมาในชีวิตไว้ แบบไม่มีดอกเบี้ยเสียด้วยซ้ำ

ดังนั้น สิ่งที่ผู้ถือบิตคอยน์คาดหวังจึงมีแต่การเก็งกำไรล้วนๆ โดยผู้ถือหวังว่าจะมีคนรับซื้อต่อที่ราคาสูงขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรที่นักลงทุนชื่อดังอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ กล่าวถึงการลงทุนในเงินดิจิทัลเอาไว้ว่า มันไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นการเก็งกำไร ซึ่งที่จริงแล้วคริปโทเคอเรนซีในทุกสกุลสอบตกเรื่องคุณสมบัติที่จะเป็นสินทรัพย์ในการลงทุน เพราะสินทรัพย์ในการลงทุนจะต้องมีความสามารถที่จะสร้างกระแสเงินสดให้กับเราในอนาคต เช่น การซื้อหุ้นคือเราคาดหวังกับกำไรที่จะเติบโตและเงินปันผลที่จ่ายออกมา มิฉะนั้นแล้วสิ่งที่เราซื้อไว้จะเป็นเพียงแค่สินค้าเพื่อการเก็งกำไร อย่างเช่นการซื้อข้าวไว้ขายเก็งกำไรนอกฤดูเก็บเกี่ยว

นอกจากนี้แล้ว ยังมีมิจฉาชีพจำนวนมากมารอตักตวงผลประโยชน์จากความโลภของผู้ที่ขาดความเข้าใจ ดังจะเห็นได้จากหลายเหตุการณ์ที่มีมิจฉาชีพมาแฮ็กระบบหรือเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อขโมยเงินคริปโทเคอเรนซีไปแบบไม่มีทางทวงคืนโดยบิซิเนสอินไซเดอร์ได้รายงานมูลค่าความเสียหายรวมตั้งแต่ปี 2554-2561 มีมูลค่า ถึง 5.6 หมื่นล้านบาท ทำให้ศูนย์กลางการซื้อขายคริปโทเคอเรนซีล้มละลายปิดตัวกันไปหลายแห่งในต่างประเทศ หรืออย่างที่เร็วๆ นี้ ที่เราเห็นข่าวเรื่องกระบวนการหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับบิตคอยน์ทั้งในไทยและต่างประเทศ ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์กันหลายกรณี

ดังนั้น ผมจะขอยืนยันในสิ่งที่ผมตอบลูกค้ามาตลอดช่วงปีกว่าที่ผ่านมาว่าคริปโทเคอเรนซีไม่ใช่สิ่งที่คุณควรมีไว้ในพอร์ตเพื่อการลงทุน แต่ผมก็ไม่ขัดที่คุณสามารถถือเงินสกุลเหล่านี้ไว้เพื่อเก็งกำไรในระดับที่เหมาะสม และพร้อมเสมอที่จะสูญเสียเงินส่วนนี้ไป

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในแง่ของการลงทุนที่ผมจะฝากไว้คือถึงแม้ผมไม่แนะนำให้ลงทุนในคริปโทเคอเรนซีแต่เทคโนโลยีบล็อกเชนที่ถูกคิดค้นมาเพื่อสร้างบิตคอยน์นั้น เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญมากที่กำลังเข้ามาพลิกโฉมโครงสร้างทางธุรกิจทั่วโลกในหลายๆ รูปแบบ โดยเฉพาะธุรกิจการเงินการธนาคาร อย่างเช่นการซื้อขายหุ้นที่มีการส่งมอบหุ้นและชำระเงินกันในเวลา 2 วันอย่างในปัจจุบัน ก็จะสามารถนำเทคโนโลยีบล็อกเชน มาทำให้สามารถส่งมอบหุ้นและชำระเงินกันได้ทันทีที่มีการซื้อขาย หรืออย่างสัญญาเงินกู้ที่การค้ำประกันจะสามารถระบุเงื่อนไขไว้ในสิ่งที่เรียกว่าสมาร์ทคอนแทรกต์ที่มีความสามารถที่จะโอนหลักทรัพย์ค้ำประกันให้ผู้ให้กู้โดยอัตโนมัติเมื่อมีการผิดนัดชำระดอกเบี้ยเกินกำหนด

ดังนั้น สิ่งที่นักลงทุนควรมุ่งเน้นคือ การลงทุนในธุรกิจที่จะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งจริงๆ แล้ววิธีหนึ่งที่จะค้นหาธุรกิจที่จะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชนแบบไม่ยุ่งยาก หาได้จากรายงานในต่างประเทศที่รวบรวมรายชื่อบริษัทในสหรัฐที่มีสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีบล็อกเชนไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งปรากฏว่ารายชื่อ 3 อันดับแรก คือ แบงก์ออฟอเมริกา ไอบีเอ็ม และมาสเตอร์การ์ด ซึ่งนักลงทุนสามารถเข้าถึงได้ง่าย

การลงทุนในเทคโนโลยีบล็อกเชนอีกรูปแบบหนึ่งคือ การลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปสร้างโมเดลทางธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ โดยบริษัทเหล่านี้จะระดมทุนผ่านการออกเหรียญดิจิทัลที่ใช้หลักการยืนยันความเป็นเจ้าของและการเปลี่ยนมือแบบคริปโทเคอเรนซี เพื่อเป็นหลักฐานการระดมทุนให้นักลงทุน ซึ่งเหรียญดิจิทัลเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยสตาร์ทอัพเหล่านี้ การระดมทุนในรูปแบบนี้ เรียกว่า Initial Coin Offering หรือไอซีโอ ที่หลายท่านอาจเคยได้ยิน

เอาแบบเข้าใจง่ายๆ การลงทุนในไอซีโอ คือ การลงทุนในสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีแต่ไอเดียทางธุรกิจที่เขียนอธิบายไว้แต่เพียงในกระดาษและยังไม่เริ่มทำจริง ซึ่งนักลงทุนต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่ใช่กระบวนการหลอกลวง เพราะไอซีโอในเกือบทุกประเทศยังไม่มีการกำกับดูแลจากภาครัฐ ดังนั้นโอกาสที่สตาร์ทอัพเหล่านี้จะถูกแจ็กพอตประสบความสำเร็จมีต่ำมาก

ผมมองว่าลงทุนในไอซีโอนี้ ประมาณแบบว่าเอาการลงทุนในบริษัทดอตคอมสมัยอินเทอร์เน็ตเพิ่งเริ่มพัฒนา 20 กว่าปีที่แล้วมาติดเทอร์โบแล้วยังต้องยกกำลัง 2 กันเลยครับ ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนจำนวนน้อยมากๆ ที่เข้าใจเทคโนโลยีบล็อกเชนนี้ ได้ดีแบบคนในวงการ และสามารถอ่านกลยุทธ์ทางธุรกิจได้ไกล

การลงทุนในไอซีโออาจเหมาะสมกับคุณได้ แต่สำหรับนักลงทุนทั่วไปผมแนะนำว่า อย่าเลยดีกว่าครับ