posttoday

รู้เทคนิคแกะ ‘ไวท์ เปเปอร์’ ก่อนลงทุนไอซีโอ

28 กุมภาพันธ์ 2561

การเสนอขายเหรียญดิจิทัลให้ประชาชนทั่วไป หรือไอซีโอ กำลังเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

การเสนอขายเหรียญดิจิทัลให้ประชาชนทั่วไป หรือไอซีโอ กำลังเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ แม้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยังไม่ได้ออกเกณฑ์มากำกับดูแล แต่เดือน มี.ค.นี้ คงได้เห็นเกณฑ์กันแล้ว ซึ่งคงมีการกำหนดให้ผู้ที่จะเสนอขายไอซีโอต้องทำผ่านไอซีโอ พอร์ทัล ที่ ก.ล.ต.ยอมรับ โดยไอซีโอ พอร์ทัล คือผู้ทำหน้าที่คัดกรอง ดูความเป็นไปได้เชิงธุรกิจของผู้ออกไอซีโอ

อย่างไรก็ดี เริ่มมีบางรายออกไอซีโอมาก่อนมีเกณฑ์ แม้มีไม่กี่ราย แต่กลายเป็นกระแสทำให้คนสนใจอยากมีไอซีโอไว้ในครอบครอง ทั้งที่บางคนยังไม่รู้แม้แต่น้อยว่า เจ้าไอซีโอนี่ซื้ออย่างไร ช่องทางไหน ได้แล้วเอาไปทำอะไร ดังนั้นเพื่อไม่ให้คนที่กำลังสนใจไอซีโอถูกหลอกชวนลงทุน แนะนำขั้นต้นว่า ให้เริ่มต้นศึกษาตั้งแต่วันนี้เลยเกี่ยวกับเรื่องราวของไอซีโอ และถ้าคิดจะซื้อจงซื้อด้วยตัวเอง ไม่ใช่เชื่อใจใครฝากคนอื่นซื้อ

เมื่อรู้เรื่องไอซีโอแล้ว ต้องย้ำหลายๆ รอบว่าก่อนลงทุนไอซีโอ จงอ่าน White Paper (ไวท์ เปเปอร์) ซึ่งตามคำจำกัดความที่ ก.ล.ต. เคยเปรียบเปรยไว้ก็คือ ไวท์ เปเปอร์ เปรียบเสมือน “สัญญาปากเปล่า”

ได้ยินคำนี้แล้ว คนสนใจอาจเสียวสันหลังวาบว่า อ่านสัญญาปากเปล่าจะช่วยอะไรได้

คำตอบ คือ ถึงแม้เราจะไม่รู้หรอกว่า สัญญาปากเปล่าที่เขาให้ไว้ เพื่อขอให้เราเข้าไปร่วมลงทุน เขาจะปฏิบัติได้จริงหรือไม่ แต่อย่างน้อยการได้อ่านอย่างถี่ถ้วนก็ทำให้เราพอประเมินด้วยวิจารณญาณของตัวเองได้คร่าวๆ ว่า สัญญาปากเปล่านี้น่าเชื่อถือ น่าสนใจ เป็นไปได้แค่ไหน อย่างน้อยก็ดีกว่า ไม่อ่านเลย เขาว่าดี ก็เฮไปลงทุนด้วย

ดังนั้น จึงขอมานำเสนอเทคนิคในการอ่านไวท์ เปเปอร์ ของเหล่าผู้ออกไอซีโอว่า ในฐานะคนสนใจซื้อไอซีโอ เนื้อหาอะไรบ้างในไวท์ เปเปอร์ ที่ควรให้ความสำคัญอ่านดีๆ เพราะเนื้อหาเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นซึ่งไวท์ เปเปอร์ ที่ดีควรมีระบุ

การดี เลียวไพโรจน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอโคราผู้ให้คำปรึกษาธุรกิจที่ต้องการเสนอขายไอซีโอให้ข้อคิดดีๆ ไว้ว่า 90% ของคนที่เข้าไปอ่านไวท์ เปเปอร์ มักอ่านไม่เกินย่อหน้าแรก ซึ่งจริงๆ แล้ว การอ่านไวท์ เปเปอร์ เป็นสิ่งที่จำเป็น ในกรณีที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็ตั้งคำถามกลับไปได้ในชุมชนออนไลน์ของไอซีโอตัวนั้นซึ่งเปิดพื้นที่ให้เราถามได้อยู่แล้ว

สิ่งที่ต้องดูคร่าวๆ จากไวท์ เปเปอร์ คือ โครงสร้างของเหรียญดิจิทัลที่กำลังจะออกเป็นแบบไหน ดูรูปแบบแล้วน่าจะเข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์หรือไม่ เพราะหากเข้าข่ายหลักทรัพย์ก็จะมีความเสี่ยงเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ของทางการมาเกี่ยวข้อง เช่น ต้องซื้อขายผ่านตลาดซื้อขายที่ได้รับอนุญาตจากทางการ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีรายใดได้รับ

ในกรณี ไวท์ เปเปอร์ ระบุว่า เหรียญที่ออกนั้นให้นำไปใช้ในระบบ แต่ยังใช้ไม่ได้จริงในปัจจุบัน เป็นการให้นำไปใช้ในอนาคตกับระบบที่พัฒนาอยู่ก็อาจจะถือว่าเข้าข่ายหลักทรัพย์ได้ ดังนั้นสังเกตประเด็นนี้ดีๆ

นอกจากนี้ หากในไวท์ เปเปอร์ อ้างอิงรายชื่อของทีมงาน ทีมที่ปรึกษาที่มีชื่อเสียงมาก ดูน่าเชื่อถือมากๆ ก็อย่าเพิ่งไปเชื่อมั่นกับไอซีโอตัวนั้น 100% เพราะในความจริงแล้วบุคคลเหล่านั้นอาจถูกเชิญมาเป็นที่ปรึกษาเพื่อใช้อ้างอิงในไวท์ เปเปอร์ ทั้งที่ตัวบุคคลผู้นั้นอาจยังไม่รู้เลยว่าธุรกิจนั้นทำอะไร และคนอ่านไวท์ เปเปอร์อย่างเราก็ต้องคิดวิเคราะห์เผื่อให้ดีว่า บุคคลที่ถูกกล่าวอ้างนั้นจะมีเวลามาดูแลโครงการแบบนี้จริงหรือ

ทางด้าน สันติธาร เสถียรไทยที่ปรึกษา บริษัท ไอโครา ให้ความรู้เสริมว่า ไวท์ เปเปอร์ที่ดีนั้น ควรจะบอกผู้สนใจลงทุนในประเด็นสำคัญ ประเด็นแรกจะต้องบอกว่ามีปัญหาอะไรอยู่จึงคิดสร้างนวัตกรรมหรือโครงการนี้ขึ้นมาระดมทุน ซึ่งในไวท์ เปเปอร์บางตัว ผู้ออกมักจะลืมบอกเรื่องนี้ไป

ประเด็นต่อมาคือ ควรจะบอกว่าเทคโนโลยีที่กำลังจะพัฒนาแตกต่างไปจากเทคโนโลยีเดิมในตลาดที่มีอยู่แล้วอย่างไร เหตุใดคนจึงต้องเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่นี้แทน ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ออกไอซีโอบางรายมองข้ามเรื่องนี้ไป มักจะภูมิใจว่าตัวเองกำลังจะทำเทคโนโลยีที่เจ๋งและแจ๋วที่สุดแล้ว แต่ไม่ได้บอกว่าทำไมจึงต้องใช้เทคโนโลยีนี้ นอกจากนี้แล้วก็ ควรต้องอธิบายรายละเอียดของเทคโนโลยี โดยมีตัวอย่างการใช้ในเชิงธุรกิจให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นด้วย

ขณะเดียวกัน ควรอธิบายให้ผู้ลงทุนเห็นภาพได้ชัดว่า ทีมงานที่ร่วมกันทำโครงการที่กำลังระดมทุนผ่านไอซีโอเป็นใครบ้าง มีความเชี่ยวชาญหรือทำอะไรด้านใดมา พร้อมทั้ง บอกได้ว่าเหรียญที่ออกนำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งผู้ลงทุนต้องอ่านให้ดีในรายละเอียดนี้ ส่วนข้อสุดท้ายที่จำเป็นอย่างยิ่ง ต้องบอกว่าการออกไอซีโอครั้งนี้ กระจายสัดส่วนให้นักลงทุนรายย่อยและรายใหญ่อย่างไร ซึ่งแต่ละธุรกิจจะมีเหตุและผลในการกระจายสัดส่วนนักลงทุนแตกต่างกัน แต่หากสัดส่วนการกระจายให้รายย่อยน้อยเกินไป ผู้ลงทุนควรคิดหนักๆ ก่อนเข้าไปลงทุน

ตัวอย่างที่อยากให้คิดคือ สมมติโครงการเอ บอกว่ากระจายให้รายย่อย 70% รายใหญ่ 30% ฟังดูอาจจะให้รายย่อยมาก แต่ก็ต้องคำนึงด้วยว่า สมมติ 30% ตกอยู่ในมือรายใหญ่เพียงรายเดียวเท่านั้น ก็อาจไม่เป็นผลดีต่อรายย่อยนัก เพราะราคาต่างๆ อาจจะถูกกำหนดชะตาด้วยรายเดียวที่ถือครองไอซีโอในสัดส่วนที่สูงมากนั่นเอง

สุดท้ายนี้ นอกเหนือจากอ่านไวท์ เปเปอร์ อีกสิ่งที่ผู้ลงทุนควรให้ความสนใจคือความเคลื่อนไหวในชุมชนที่โครงการไอซีโอนั้นเปิดให้คนเข้ามาถามคำถามได้ หากมีความเคลื่อนไหว มีการตอบกลับมากๆ จากผู้ทำโครงการ ก็เป็นสัญญาณที่ดีกว่าถามไปแล้ว
ไม่มีปฏิกิริยาตอบกลับ

หากจะให้ดียิ่งกว่านั้น ควรได้พบและไถ่ถามจากตัวทีมที่ออกไอซีโอเลย เพราะเราจะสัมผัสได้จริงๆ ว่าไอซีโอตัวนี้จะน่าสนใจจริงๆ แค่ไหน เพราะบางรายจ้างที่ปรึกษาให้ช่วยทำไวท์ เปเปอร์ให้สวยหรู แต่เมื่อทีมงานต้องเจอผู้ลงทุนจริงๆ กลับตอบคำถามไม่ค่อยได้

เหล่านี้คือสิ่งที่ผู้ลงทุนที่อยากผันตัวเข้าสู่วงการลงทุนไอซีโอ จงโปรดเตรียมพร้อมตัวเองไว้ พร้อมๆ ไปกับการเตรียมใจให้สบาย ท่องจำให้ขึ้นใจด้วยว่าเงินที่ลงทุนไปมีโอกาสเป็นศูนย์ได้เช่นกัน หากโครงการนั้นไม่สำเร็จ ดังนั้นจงลงทุนอย่างมีสติ
อย่าลงทุนเพราะแค่มีสตางค์