posttoday

พฤติกรรม 5 ประการ สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ต้องเปลี่ยนในปี 2561

08 มกราคม 2561

โดย...รศ.ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า

โดย...รศ.ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า www.econ.nida.ac.th

คงไม่สายไปถ้าจะกล่าวคำว่า “สวัสดีปีใหม่ พ.ศ. 2561” กับท่านผู้อ่านทุกท่านครับ ในช่วงท้ายของปี 2560 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ตลาดหุ้นทั่วโลกให้ผลตอบแทนดีมากปีหนึ่ง เช่นเดียวกับตลาดหุ้นในบ้านเรา ยิ่งผ่านพ้นปีใหม่มาได้ไม่กี่วัน ตลาดหุ้นก็แรงต่อไม่หยุด โดยข้อมูลล่าสุดของดัชนีหุ้นไทย ณ วันที่ 4 ม.ค. 2561 อยู่ที่ระดับ 1,791.02 จุด ซึ่งเป็นจุดสูงสุดตั้งแต่มีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเลยทีเดียวก็ว่าได้ครับ และในด้านผลตอบแทนของการลงทุนในตลาดหุ้นโดยเฉลี่ยในปีที่ผ่านมาก็อยู่ราวๆ 13% นับว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลกที่ขึ้นเฉลี่ยประมาณ 20%

อย่างไรก็ตาม ผมได้ใกล้ชิดกับนักลงทุนมือใหม่หลายท่านที่ไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนในปีที่ผ่านมา หลายท่านมีผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าตลาดมาก บางท่านถึงขั้นติดลบด้วย และกำลังหาทางปรับกลยุทธ์การลงทุนอยู่ ผมจึงได้พูดคุยกับนักลงทุนมือใหม่และได้สรุปข้อผิดพลาดในเรื่องต่างๆ เพื่อให้ท่านนักลงทุนมือใหม่ท่านอื่นๆ ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรรมกันในเรื่องต่างๆ ดังนี้ครับ

1.ไม่กำหนดเป้าหมายทางการลงทุน

นักลงทุนมือใหม่ส่วนใหญ่จะลงทุนโดยไร้เป้าหมาย โดยนักลงทุนมือใหม่มักจะกำหนดเป้าหมายอย่างเลื่อนลอย เช่น ต้องการอัตราผลตอบแทนให้สูงที่สุด เพราะการสร้างผลตอบแทนสูงสุดมักจะมากับความเสี่ยงที่สูงด้วย ผลที่ตามมาอาจได้ไม่คุ้มเสีย เป้าหมายที่ดีควรมีตัวเลขในใจที่ต้องการที่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ สามารถอ้างอิงกับคู่เทียบได้ชัดเจนและเป็นไปได้ เช่น ต้องการอัตราผลตอบแทนที่มากกว่าเงินฝากอยู่ 5% หรือต้องการอัตราผลตอบแทนที่เท่ากับผลตอบแทนของตลาด เป็นต้น

2.ไม่สำรวจตนเองก่อนเริ่มลงทุนว่าจะเป็นนักลงทุนประเภทใด

นักลงทุนมือใหม่ส่วนใหญ่ ไม่สำรวจตนเองก่อนเริ่มลงทุนว่าจะเป็นนักลงทุนระยะยาวหรือนักเก็งกำไรระยะสั้น จึงตัดสินใจลงทุนไม่เฉียบขาด เช่น คิดว่าตนเองเป็นนักลงทุนระยะยาวแต่พอหุ้นขึ้นกลับรีบขายออกไปเพื่อทำรอบซึ่งเป็นลักษณะของนักเก็งกำไร เป็นต้น

3.ไม่เข้าใจหลักการของการกระจายความเสี่ยง

หลักการของการกระจายความเสี่ยงก็คือ ผลกำไรจากการถือครองหุ้นบางตัวในพอร์ตการลงทุน จะไปชดเชยผลขาดทุนจากการลงทุนหุ้นตัวอื่นๆ ตรรกะนี้ดูจะเป็นเรื่องง่าย แต่นักลงทุนมือใหม่ไม่เข้าใจหลักการนี้ นักลงทุนบางคนลงทุนในหุ้นเพียงตัวสองตัวเท่านั้น หรือบางคนเข้าใจผิดว่าลงทุนหุ้นหลายตัวในพอร์ตก็คือการกระจายความเสี่ยง จึงนำเงินทั้งหมดไปเก็งกำไรหุ้นหลายตัว หรือซื้อไปเรื่อยๆ สะเปะสะปะ ผลก็คือขาดทุนหนัก เป็นต้น

4.เล่นหุ้นจากข่าวหรือจากคำแนะนำตามเฟซบุ๊กหรือไลน์

ในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยข่าวสารข้อมูล นักลงทุนมือใหม่ที่ไม่ได้ทำการบ้านหาหุ้นเองก็มักจะลงทุนตามพาดหัวข่าวของหน้าหนังสือพิมพ์บ้าง ลงทุนตามคำแนะนำตามเฟซบุ๊กหรือไลน์บ้าง หากไม่พิจารณาประเด็นว่าจริงหรือหลอก ดังนั้น เมื่อได้ข้อมูลมา นักลงทุนจำเป็นต้องหาข้อมูลและวิเคราะห์ว่าข่าวสารนั้นมีความถูกต้อง สมเหตุสมผลหรือไม่

5.ปรับกลยุทธ์การลงทุนไม่ทันต่อสถานการณ์ตลาด

อาการอย่างหนึ่งของนักลงทุนหน้าใหม่ก็คือ ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นแต่หุ้นในพอร์ตกลับนิ่งๆ เป็นเพราะนักลงทุนมือใหม่เลือกหุ้นผิดตัว หรือลงทุนผิดกลุ่มในช่วงที่ผ่านมา ทางหนึ่งที่ป้องกันปัญหาพอร์ตนิ่งๆ หรือสวนทางกับตลาดก็คือ การลงทุนในกองทุนประเภท ETF หรือ Exchange Traded Fund ที่เป็นกองทุนเปิดที่จดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซื้อขายสะดวกเหมือนหุ้น แต่กระจายความเสี่ยงเหมือน Index Fund และเสียค่าบริหารจัดการต่ำกว่ากองทุนอื่นๆ หรือเล่นเฉพาะหุ้นตัวใหญ่ที่มีผลต่อการคำนวณดัชนีก็น่าจะเกาะกระแสภาวะขาขึ้นของตลาดหุ้นไปได้

หากท่านผู้อ่านท่านใดมีพฤติกรรมของนักลงทุนมือใหม่ที่นำไปสู่การลงทุนที่ล้มเหลว 5 ประการดังที่กล่าวมานี้ ก็ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลงทุนกันและขอให้ประสบความสำเร็จในการลงทุนตลอดปี 2561 นี้นะครับ