posttoday

เช็กความพร้อมก่อนลงทุน LTF/RMF

03 ธันวาคม 2560

โดย...รัชต์ โสดสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.แอสเซท พลัส

โดย...รัชต์ โสดสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.แอสเซท พลัส

สวัสดีครับ เหลือเวลาเพียงเดือนกว่าๆ สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อสะสมความมั่งคั่งสำหรับชีวิตหลังเกษียณและรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในปีนี้ ท่านที่ยังไม่ได้ลงทุนยังพอมีเวลาในโค้งสุดท้ายให้ท่านได้เลือกกองทุนที่สนใจได้ แต่สำหรับท่านที่ยังไม่เคยลงทุนกับกองทุน LTF/RMF เลย และอาจจะพุ่งเป้าไปที่การลดภาษีแต่เพียงอย่างเดียว ผมมีข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ เรียกว่าเป็นการเช็กความพร้อมสำหรับนักลงทุนมือใหม่ก่อนลงทุนกับ LTF/RMF มาฝากกันครับ

ข้อแรก ผมอยากให้เริ่มจากการถามตัวเองก่อนว่า ท่านพร้อมจะลงทุนระยะยาวหรือไม่ เพราะกองทุนทั้งสองประเภทนี้เป้าหมายหลักคือเน้นการลงทุนระยะยาว โดย LTF ต้องถือครองหน่วยลงทุนต่อเนื่องไป 7 ปีปฏิทิน ขณะที่ RMF นั้นเป็นกองทุนที่ออกแบบมาเพื่อการลงทุนเพื่อความมั่งคั่งหลังเกษียณโดยเฉพาะ จึงต้องถือครองกันยาวไปถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์

หากไม่สามารถลงทุนได้ตามเงื่อนไข ก็หมายถึงต้องชำระเงินภาษีที่ได้รับสิทธิประโยชน์พร้อมเบี้ยปรับตามข้อกำหนดของกรมสรรพากรด้วย

เรื่องต่อมา ที่ผมคิดว่าผู้ลงทุนหน้าใหม่อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนก็คือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องลงทุน LTF และ RMF เต็มที่ที่กองทุนละ 5 แสนบาท และการลงทุน 5 แสนบาท ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านจะได้เงินภาษีคืนกลับมา 5 แสนบาท เช่นกันนะครับ

สิ่งที่ผมกำลังจะบอกคือ จะเป็นประโยชน์กว่าถ้าท่านควรคำนวณรายได้ตลอดปีนี้ของท่านออกมาก่อน และเมื่อหักรายการลดหย่อนต่างๆ แล้ว ท่านมีสิทธิในการลงทุนใน LTF/RMF อีกกองทุนละกี่บาท สรุปคือก่อนลงทุนอย่าลืมคำนวณรายได้ทั้งปีและสิทธิในการลงทุน LTF/RMF ก่อนด้วยนะครับ ปัจจุบันนี้หลายๆ บลจ.และหลายหน่วยงานที่สนับสนุนเรื่องการลงทุนในกองทุนรวมก็มีเครื่องมือในการช่วยคำนวณสิทธิตรงนี้อยู่ ลองเข้าไปใช้คำนวณกันได้ครับ

มาถึงสิ่งที่สำคัญที่มองข้ามไม่ได้เลย นั่นคือการเลือกกองทุนที่เหมาะกับตัวเอง โดยเริ่มจากการประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเองอย่างตรงไปตรงมาก่อน เพื่อจะได้เลือกกองทุนที่ตอบโจทย์การลงทุนได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันนี้กองทุน RMF และ LTF มีความหลากหลาย

RMF นั้นมีหลากหลายนโยบายการลงทุน และมีการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ มากมาย ทั้งตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งที่เจาะจงลงไปในแต่ละประเทศ หรือแต่ละภูมิภาค หรือแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแต่ละสินทรัพย์ลงทุนล้วนมีระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน  หรือแม้กระทั่งกองทุน LTF เอง แม้ส่วนใหญ่จะเน้นลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่ก็ยังมีความแตกต่างในรายละเอียด

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายการจ่ายปันผล การคัดเลือกหุ้นที่จะลงทุน เช่น กองทุน LTF บางกองทุนอาจเลือกลงทุนเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ บางกองทุนเน้นลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก บ้างก็ลงทุนในหุ้นผสมกับตราสารหนี้ ซึ่งทั้ง 3 ประเภทนี้ความผันผวนก็ไม่เท่ากัน โอกาสรับผลตอบแทนก็แตกต่างกันไป ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนก่อนพิจารณาลงทุน และเพราะการลงทุนใน LTF/RMF เป็นการลงทุนระยะยาว

ท่านนักลงทุนจึงต้องไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงในพอร์ต LTF-RMF ของท่านด้วยนะครับ

เรื่องของการจับจังหวะลงทุนก็เป็นโจทย์ท้าทายอีกข้อหนึ่งครับ ข้อนี้ต้องอาศัยการติดตามสภาวะตลาดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งผมเชื่อว่าทุกท่านล้วนอยากเข้าซื้อแบบถูกจังหวะ คือซื้อตอนที่ราคาถูกที่สุด แต่ในความเป็นจริงคงไม่มีใครที่จะสามารถเข้าซื้อได้ถูกจังหวะทุกครั้ง ยิ่งถ้าไม่มีเวลาติดตามตลาดก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ดังนั้นเครื่องมืออย่างการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน หรือ DCA ก็ถือเป็นตัวช่วยที่ท่านพึ่งพาได้

สุดท้าย ปีนี้ถึงจะเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการลงทุนใน LTF/RMF แล้วก็จริง แต่เชื่อเถอะครับว่า ไม่ได้ช้าเกินไปเลยสำหรับท่านที่กำลังจะเริ่มลงทุนเพื่อสะสมความมั่งคั่งไว้สำหรับอนาคต และนอกจากเช็กลิสต์ย่อยๆ ที่ผมนำมาแบ่งปันกันแล้ว ผมเชื่อเสมอว่า “วินัยในการลงทุน” เป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความมั่งคั่งหลังเกษียณนะครับ เริ่มกันในวันนี้ และสร้างวินัยในการลงทุนให้ตัวเอง...ชีวิตสบายหลังเกษียณนั้นไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอนครับ

ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาคู่มือการลงทุนในกองทุน LTF/RMF ก่อนตัดสินใจลงทุน