posttoday

ลงทุนปลายปีกับกองทุน LTF/RMF

26 พฤศจิกายน 2560

โดย...ปริย เตชะมวลไววิทย์ ฝ่ายสื่อสารองค์กรและส่งเสริมความรู้ผู้ลงทุน ก.ล.ต.

โดย...ปริย เตชะมวลไววิทย์ ฝ่ายสื่อสารองค์กรและส่งเสริมความรู้ผู้ลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

นับถอยหลังอีกไม่ถึงเดือนครึ่งก็จะเข้าสู่ช่วงส่งท้ายปลายปีกันอีกแล้วครับ ช่วงนี้ผู้ที่มีเงินเหลือออมคงมองหาการลงทุนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม นอกจากมาตรการช็อปช่วยชาติที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจส่งท้ายปีนี้ให้ผู้มีรายได้อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว ยังมีการลงทุนในกองทุนรวมประเภทกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) ที่ผู้ลงทุนสามารถรับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ด้วย ซึ่งกองทุนทั้งสองประเภทนี้ มีข้อพึงระวังอยู่บ้างนะครับ

กองทุนรวม LTF เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นสามัญ เหมาะกับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงของหุ้นได้ มีเงื่อนไขทางด้านภาษีที่ต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนลงทุนดังนี้ครับ การซื้อ LTF สามารถลงทุนได้ 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี หรือไม่เกิน 5 แสนบาท แต่เงินลงทุนจากการสับเปลี่ยนระหว่างกองทุนประเภท LTF กันเองนั้นจะไม่ถือเป็นเงินลงทุนใหม่ ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้นะครับ ยกตัวอย่าง ผู้ลงทุนสับเปลี่ยนจากกองทุน LTF กอง A ไปลงทุนใน LTF กอง B ไม่ว่าจะเป็นภายในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเดียวกันหรือไม่ก็ตาม แบบนี้ไม่ถือเป็นการลงทุนใหม่ครับ

ส่วนผู้ลงทุนที่ต้องการจะขายกองทุน LTF ทุกท่านต้องมั่นใจว่าได้ถือกองทุน LTF นี้มาระยะหนึ่ง ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว มิเช่นนั้น หากขายเร็วไป ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ก็อาจจะต้องเสียภาษีย้อนหลังครับ เรื่องนี้อธิบายสั้นๆ ได้ว่า หากซื้อกองทุน LTF มาก่อนปี 2559 จะขายได้ก็ต่อเมื่อถือมาแล้วอย่างน้อย 5 ปีปฏิทิน แต่สำหรับกองทุน LTF ที่ซื้อในปี 2559 จะต้องถืออย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน จึงจะขายได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีของกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ การขายกองทุน LTF เป็นไปตามหลักการเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) นั่นคือ ในกองทุนเดียวกันจะขายเงินลงทุนก้อนแรกๆ ก่อน สิ่งที่ผู้ลงทุนมักพลาดในการซื้อกองทุน LTF สมมติว่าเคยซื้อกอง LTF กอง A มาตลอด 2 ปี พอปีนี้ซื้อด้วยเงินก้อนใหม่เมื่อต้นปี กลางปีเกิดเปลี่ยนใจอยากจะขายออกไปเมื่อเห็นว่า NAV เพิ่มขึ้น ผู้ลงทุนต้องระวังเพราะระบบของบริษัทจัดการกองทุนจะไม่ได้ขายก้อนที่เพิ่งลงทุนไป แต่จะไปขายก้อนเงินที่เคยลงทุนไว้ก่อนหน้าซึ่งได้นำไปลดหย่อนภาษีแล้ว ซึ่งหากก้อนดังกล่าวยังไม่ครบกำหนดตามเงื่อนไขการลดหย่อนภาษี กรณีนี้ก็อาจจะถูกเรียกภาษีคืนได้ครับ 

มาดูกองทุนรวม RMF กันบ้าง กองทุนรวมประเภทนี้ มีเป้าหมายการลงทุนเพื่อวัยเกษียณ มีกองทุนหลายประเภทให้เลือกมากกว่า LTF เช่น กองทุนรวมตราสารทุน ตราสารหนี้ ผสม กองทุนรวมทองคำ และกองทุนรวมที่ลงทุนต่างประเทศ มีเงื่อนไขการลงทุนเพื่อการลดหย่อนภาษี คือ สามารถลงทุนได้ 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี และเมื่อนับรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ /กบข. และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมของกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนแล้ว ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท ดังนั้น ก่อนที่ผู้ซื้อกองทุนรวม RMF จะสรุปว่าซื้อเท่าไรเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี ต้องไม่ลืมนับรวมเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินประกันชีวิตแบบบำนาญ และเงินสะสมของกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนตามเงื่อนไขของสรรพากรด้วยนะครับ นอกจากนี้ ผู้ลงทุนจะต้องซื้อขั้นต่ำ 5,000 บาท หรือ 3% ของรายได้ (เลือกยอดต่ำกว่า) และต้องไม่ระงับการซื้อกองทุน RMF เกิน 1 ปี ด้วยครับ

หากจะขายกองทุน RMF สามารถทำได้เช่นกัน แต่ขายคืนได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ โดยต้องถือกองทุน RMF ไม่ต่ำกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันแรกที่ซื้อ โดยการนับจำนวนปี 5 ปีนั้นจะนับเฉพาะปีที่มีการซื้อ RMF เท่านั้นนะครับ อาจเรียกง่ายๆ ว่า ต้องมีการลงทุนครบ 5 งวด ซึ่งหากซื้อ RMF หลายครั้งในปีเดียวกัน จะนับรวมกันเป็น 1 ก้อน หรือ 1 งวด ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจมากขึ้นว่า ถ้าเริ่มซื้อ RMF ตอนอายุ 53 ปี จะสามารถถอน RMF ได้ตอนอายุ 58 ปี ภายใต้เงื่อนไขว่ามีการลงทุนทุกปีต่อเนื่อง โดยลงทุนใน RMF ของบริษัทจัดการไหนก็ได้ 5 ก้อน แบบนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่ถ้าเริ่มซื้อครั้งแรกตอนอายุ 53 ปี และไม่ได้ซื้อ RMF ทุกปี โดยซื้อปีเว้นปี แบบนี้ต้องรอจนซื้อครบ 5 งวด จึงจะถอนได้แบบไม่ผิดเงื่อนไขทางภาษีครับ

ผู้ลงทุนที่เริ่มมีความรู้เรื่องการลงทุนมากขึ้น หลายคนเปลี่ยนจากการฝากเงินที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่ามาลงทุนผ่านกองทุนรวม LTF/RMF ที่แม้จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น แต่ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า และยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแต่ต้องไม่ลืมว่ากอง LTF เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้น มีโอกาสผันผวนสูง ก.ล.ต. จึงอยากเตือนให้ผู้ลงทุนกระจายความเสี่ยงและหมั่นศึกษาข้อมูลและเงื่อนไขให้รอบคอบ เลือกนโยบายของกองทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้นะครับ ทั้งนี้ ก.ล.ต.มีตัวช่วยที่ให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกกองทุนกับ mobile application “Start to Invest”<<กองทุนรวม>>กองทุนเด่น ดาวน์โหลดฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายครับ