posttoday

4 เรื่องสำคัญที่ควรพิจารณา ก่อนตัดสินใจซื้อประกันชีวิต

29 สิงหาคม 2560

โดย...ศิวัฒน์ สิงหสุตกร นักวางแผนการเงินและที่ปรึกษาด้านประกันอิสระ

โดย...ศิวัฒน์ สิงหสุตกร นักวางแผนการเงินและที่ปรึกษาด้านประกันอิสระ

ประกันชีวิตเป็นเครื่องสำคัญที่จะช่วยคุ้มครองรายได้ให้กับครอบครัว ยามที่หัวหน้าครอบครัวจากไปกะทันหัน และช่วยการันตีเงินที่จะได้ในอนาคตให้เราได้ หากเรายังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเราควรพิจารณาทำประกันชีวิต ตามระดับความเสี่ยงของตัวเอง โดยการเริ่มต้นวางแผนทำประกันชีวิต ด้วยการพิจารณาว่า หากเรามีภาระทางการเงิน (ค่าเลี้ยงดูครอบครัว ภาระหนี้สิน) หรือไม่ ถ้ามีก็ต้องคำนวณว่ามีเท่าไร และทรัพย์สินที่มีอยู่ครอบคลุมภาระทางการเงินนั้นรึเปล่า? หากไม่เพียงพอก็ควรทำวงเงินคุ้มครองชีวิต เท่ากับส่วนที่ยังขาดอยู่

เมื่อเรารู้แล้วว่าควรจะทำประกันชีวิตหรือไม่ และควรทำเท่าไรถึงจะเหมาะสม สุดท้าย เราจึงค่อยมาเลือกซื้อประกันชีวิตที่จะตอบโจทย์ความจำเป็นทางการเงินส่วนขาดนั้น อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเลือกซื้อประกันชีวิตให้ตัวเองนั้น ผมก็ขอแนะนำให้พิจารณาทั้ง 4 เรื่องนี้ประกอบการตัดสินใจไว้ด้วย เพื่อให้เราซื้อประกันชีวิตได้อย่างคุ้มค่า และได้รับการบริหารที่ดีครับ

1.เลือกประเภทประกันชีวิตให้เหมาะสม

ถ้าเรามีเป้าหมายทำประกันชีวิต เพื่อคุ้มครองรายได้ให้ครอบครัว หรือเพื่อวางแผนสร้างเงินมรดกให้ลูกหลานเป็นหลัก ก็ควรเลือกประกันชีวิตแบบที่เน้นคุ้มครองชีวิต อย่างประเภท ตลอดชีพ หรือประเภทชั่วระยะเวลา (รวมไปถึงแบบควบการลงทุน หรือยูนิตลิงค์ โดยเลือกที่ความคุ้มครองขั้นสูงสุดด้วยก็ได้) เพราะประกันชีวิตประเภทเหล่านี้จะได้รับความคุ้มครองที่สูงกว่าประเภทอื่น เมื่อเทียบกับเบี้ยที่จ่ายไป แต่หากจะทำประกันชีวิตเพื่อการันตีเงินที่ต้องการในอนาคตด้วยการเน้นออมเงินก็ควรเลือกแบบสะสมทรัพย์ หรือแบบบำนาญ (หากเน้นออมเพื่อเกษียณโดยเฉพาะ) เพราะทั้งสองแบบจะให้ผลตอบแทนการันตีที่สูงกว่าแบบเน้นคุ้มครองชีวิต

2.เลือกแบบประกันที่ให้ผลประโยชน์คุ้มค่า

เนื่องจากประกันชีวิตมีขายอยู่หลายบริษัท และแต่ละบริษัทก็มีขายประเภทเดียวกันอยู่หลายแบบ เราจึงต้องรู้จักการเปรียบเทียบผลประโยชน์ของแต่ละแบบ หลักๆ ก็คือ ถ้าเน้นคุ้มครองชีวิตก็ให้เลือกแบบประกัน ณ ความคุ้มครองที่เท่ากัน แต่จ่ายเบี้ยต่อปีถูกกว่า หรือจ่ายเบี้ยรวมทั้งหมดถูกกว่า ส่วนถ้าเน้นออมเงินการันตีก็ดูที่ผลตอบแทนการันตีที่จะได้ โดยอาจจะพิจารณาจากอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี (หรือที่เรียกว่า IRR) นอกจากนั้นก็พิจารณาตามความจำเป็นและความต้องการส่วนตัว เช่น เลือกแบบที่มีระยะเวลาคุ้มครอง ตามระยะเวลาคุ้มครองที่จำเป็น หรือแบบที่จ่ายเบี้ยสั้น-ยาว (แต่ถ้ายิ่งจ่ายสั้นเบี้ยต่อปีก็ยิ่งแพงกว่าแบบที่จ่ายยาวกว่า) แล้วแต่เราครับ

3.เลือกตัวแทนที่มีคุณภาพ

ควรเลือกตัวแทนที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของประกันชีวิตและอนุสัญญาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนทำประกันที่เหมาะสม รวมไปถึงเงื่อนไขและขั้นตอนการเคลมต่างๆ โดยที่รู้ลึกรู้จริง พูดได้หมดทั้งข้อดีข้อเสียของแต่ละแบบ อะไรทำได้ อะไรไม่ได้ ควรระวังเรื่องอะไร ไม่มีหมกเม็ด เพื่อให้สามารถเป็นที่ปรึกษาด้านประกันส่วนตัวของเราได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราควรคาดหวังมากกว่าการบริการเสริมอื่นๆ เช่น การเยี่ยมเยียน หรือการติดคุณวุฒิต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นเครื่องพิสูจน์คุณภาพของตัวแทนมากไปกว่าความรู้และความซื่อสัตย์ที่ควรจะต้องมีอยู่เลย

4.เลือกบริษัทประกันที่มีความมั่นคงและมีการดำเนินงานที่ดี

อันที่จริงบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย จะจดทะเบียนดำเนินธุรกิจได้ ต้องได้รับการรับรองจาก คปภ.ที่ต้องคอยกำกับดูแลการดำเนินงานอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การที่เราเลือกทำประกันชีวิตกับบริษัทชั้นนำก็อาจจะช่วยให้เราอุ่นใจได้มากขึ้น โดยอาจจะมองถึงเรื่องของการให้บริการที่มีกระบวนการที่รวดเร็ว ฉับไว มีการแจ้งผลต่างๆ เป็นระยะ และช่วยประสานงานให้เราได้เป็นอย่างดีเอาไว้ด้วย

อย่าลืมว่า ก่อนจะตัดสินใจซื้อประกันชีวิต เราควรจะต้องวางแผนการทำประกันชีวิตให้ดีซะก่อน เพื่อให้ทำได้อย่าง “เหมาะสม” รู้ว่าเราควรทำเพื่ออะไร ควรทำเท่าไร ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป หลังวางแผนเรียบร้อยแล้ว จึงค่อยมาเลือกซื้อโดยพิจารณาจากทั้ง 4 ประเด็นนี้ เพื่อให้เราสามารถซื้อประกันชีวิตได้อย่าง “คุ้มค่า” ทำตามขั้นตอน ไม่ขาดตกบกพร่องเช่นนี้ รับรองว่า เราจะสามารถทำประกันได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด คุ้มทุกบาททุกสตางค์ที่เสียไปอย่างแน่นอนครับ