posttoday

รู้จักประวัติเศรษฐกิจ...ก่อนคิดลงทุนหุ้นญี่ปุ่น

05 กรกฎาคม 2560

โดย...พรชัย อร่ามอาภากุล ผู้เชี่ยวชาญการลงทุน กลุ่มลูกค้าบุคคลพิเศษอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย

โดย...พรชัย อร่ามอาภากุล ผู้เชี่ยวชาญการลงทุน กลุ่มลูกค้าบุคคลพิเศษอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย

โลกของเราที่เล็กลงไปทุกทีหลังจากที่เทคโนโลยีเข้ามาพลิกโฉมการสื่อสารให้มีความสะดวกด้วยต้นทุนที่ถูกลง โลกของการลงทุนก็เช่นกัน จากเดิมที่เราคนไทยเลือกลงทุนได้แต่หุ้นไทยปัจจุบันโอกาสทางการลงทุนเปิดกว้างมากขึ้นกว่าในอดีต นักลงทุนไทยสามารถเข้าถึงการลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ง่ายขึ้นมากไม่ว่าจะเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) หรือการลงทุนหุ้นต่างประเทศโดยตรง ซึ่งวันนี้หากพูดถึงการลงทุนต่างประเทศแล้ว หนึ่งในตลาดหุ้นต่างประเทศที่เนื้อหอมที่สุดในเวลานี้ คือ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น แต่ทว่าก่อนตัดสินใจลงทุนเราควรศึกษาข้อมูลของเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้เข้าใจก่อน ประวัติเศรษฐกิจญี่ปุ่นนับว่าน่าสนใจมาก ผมสรุปให้ท่านนักลงทุนสามารถเห็นภาพได้เร็วๆ โดยใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที

ย้อนรอยยุคทองก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

ในระหว่างปี 1960-1980 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยอัตราเฉลี่ยของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 6-8% ต่อปี นำโดยการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออก การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็ว ภาคธนาคารในญี่ปุ่นปล่อยกู้เพื่อการทำธุรกิจมากขึ้นและมีการผ่อนคลายเงื่อนไขต่างๆ ในการปล่อยกู้ ส่งผลให้มีเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น ระดับราคาสินค้ารวมถึงสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ดิน ราคาบ้าน และราคาหุ้นในตลาดหุ้นของญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นมาก ท้ายที่สุดก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงและภาวะฟองสบู่ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้เล็งเห็นถึงอันตราย จึงทำการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อชะลอภาวะฟองสบู่ดังกล่าว  อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นการใช้นโยบายทางการเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ส่งผลให้ญี่ปุ่นไม่สามารถหลีกหนีการแตกของภาวะฟองสบู่ได้ เริ่มตั้งแต่ตลาดหุ้น ซึ่งปลายปี 1989 ดัชนีนิกเกอิได้เข้าสู่ระดับสูงสุดที่ 38,916 จุด และปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงกว่า 60% ภายในเวลา 3 ปี รวมทั้งราคาที่ดินปรับตัวลดลงอย่างมาก จากนั้นประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และนี่คือจุดเริ่มต้นของกับดักทางเศรษฐกิจที่กำลังจะตามมาในอีก 20 ปีต่อมา (1990-2010)

เศรษฐกิจญี่ปุ่นติดกับดักเงินฝืดอันยาวนาน

หลังจากภาวะฟองสบู่แตก มูลค่าอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงอย่างมาก ทำให้ความมั่งคั่งโดยรวมของประชากรญี่ปุ่นลดลง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริม เช่น ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ทิ้งช่วงเวลานานมาก ก่อนที่จะปรับลดดอกเบี้ยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และยังมีเรื่องค่าเงินเยนที่แข็งค่าต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้การส่งออกญี่ปุ่นชะลอตัวโดยระหว่างปี 1995-2007 ที่ GDP ของญี่ปุ่นได้ลดลงอย่างรุนแรง จาก 5.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 4.36 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบเท่ากับลดลง 18.20% และส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศลดลง และสุดท้ายทุกอย่างมาจบลงที่ภาวะเงินฝืดของญี่ปุ่นที่เรื้อรังมาเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งภาวะเงินฝืดเกิดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้ประชากรมีรายได้ลดลง การจับจ่ายใช้สอยก็ลดลงตามไปด้วย ส่งผลกระทบต่อบริษัทต่างๆ ให้มียอดขายลดลง จำเป็นต้องไล่พนักงานออก และปรับราคาสินค้าลง โดยหลายบริษัทขนาดใหญ่ปรับลดจำนวนพนักงานประจำลงกว่า 30% เมื่อประชากรเล็งเห็นว่าระดับราคาสินค้ามีความเป็นไปได้ที่จะปรับตัวลงในอนาคต ประชากรญี่ปุ่นก็ยิ่งเลือกที่จะเก็บออมมากขึ้น และลดการจับจ่ายใช้สอย เพราะคิดว่าสิ่งของต่างๆ อาจมีราคาถูกลงไปอีกก็เป็นได้  ซึ่งการลดลงของการบริโภคเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่เติบโตเสียที นี่คือวงจรของภาวะเงินฝืดที่อยู่คู่เศรษฐกิจญี่ปุ่นมานานนับ 20 ปี

ชินโสะ อาเบะ อัศวินขี่ม้าขาว

รัฐบาลญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน นำโดยนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ เป็นเสมือนเป็นแสงสว่างในการนำเศรษฐกิจญี่ปุ่นออกจากวงจรเงินฝืดเรื้อรังที่ฝังตัวอยู่มากว่า 20 ปี และก้าวไปข้างหน้าเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ โดยธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อระดับเงินเฟ้อและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตระยะยาวเป็นอย่างมาก ประกอบกับนโยบายเศรษฐกิจของนายกฯ อาเบะ ซึ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินการคลังที่เรียกกันว่า Abenomics  ซึ่งประกอบด้วย 3 ปัจจัย หรือธนู 3 ดอก (Three Arrows)

ธนูดอกที่ 1 คือ การดำเนินนโยบายการเงิน หรือ QQE (Quantitative and Qualitative Monetary Easing) ซึ่งมีเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2%

ธนูดอกที่ 2 คือ การดำเนินนโยบายการคลัง การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายภาครัฐ (Government Spending) ไปในหน่วยงานต่างๆ เช่น การใช้งบรัฐบาลเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สถานศึกษา สถานอนามัย เป็นต้น

สุดท้ายธนูดอกที่ 3 คือมาตรการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว เช่น การส่งเสริมทรัพยากรบุคคล โดยขยายตลาดแรงงานจากนโยบายการเพิ่มแรงงานเพศหญิง การลดภาษีนิติบุคคล รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนของหุ้นในกองทุนบำเหน็จบำนาญ (GPIF) เพื่อกระตุ้นตลาดหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งในปัจจุบันนโยบาย Abenomics เริ่มเห็นผลมากขึ้น โดยล่าสุดการเติบโตของ GDP ญี่ปุ่นไตรมาสแรกปี 2017 ได้ขยายตัว 2.2% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นการขยายตัวไตรมาสติดต่อกัน 5 ไตรมาส ที่ไม่ได้เกิดขึ้นในญี่ปุ่นนานกว่า 10 ปี

ความน่าสนใจและความเสี่ยงของหุ้นญี่ปุ่น

แนวโน้มของเศรษฐกิจญี่ปุ่นถือว่ากลับมาดูดีขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ภาพการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นดูมีความน่าสนใจมากขึ้น ในแง่ของการลงทุนนั้นแม้ว่า Valuation ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่มีค่า P/E 12 เดือนล่วงหน้าอยู่ที่ประมาณ 17 เท่า ซึ่งยังไม่ได้สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ย 10 ปีอยู่ที่ประมาณ 20 เท่า แต่การลงทุนก็ย่อมมีปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน ทิศทางตลาดหุ้นญี่ปุ่นนั้นมีความสัมพันธ์กับทิศทางค่าเงินเยนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงพึ่งพิงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและส่งออก หากเงินเยนมีทิศทางแข็งค่าจะส่งผลเชิงลบต่อทั้ง สองอุตสาหกรรม รวมทั้งค่าความผันผวนของตลาดหุ้นญี่ปุ่นอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนลงทุน

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ควรศึกษาข้อมูลของตลาดหุ้นต่างประเทศให้เพียงพอและพิจารณาความเสี่ยงต่างๆ ให้ถี่ถ้วนด้วย โดยเฉพาะเรื่องความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งท่านสามารถศึกษาได้จาก Fund Fact Sheet รวมทั้งการพิจารณาปัจจัยของตัวนักลงทุนเองด้วยว่าสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับไหน เงินลงทุนควรจะเป็นเงินที่ปลอดภาระในระยะยาวและควรกำหนดการกลยุทธ์การลงทุน เช่น การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Average) เชื่อว่าจะทำให้โอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนหุ้นต่างประเทศนั้นอยู่ไม่ไกล

ภาพ...เอเอฟพี