posttoday

หุ้นใหญ่ หุ้นเล็ก นาทีนี้...เลือกยังไงดี

24 พฤษภาคม 2560

โดย...อรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิรมล, CFA บลจ.ธนชาต

โดย...อรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิรมล, CFA บลจ.ธนชาต

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน ช่วงนี้เป็นช่วงตลาดหุ้นไทยย่อตัวปรับฐาน นักลงทุนที่พอมีประสบการณ์ก็จะเริ่มเข้าเก็บ หรือเริ่มทยอยเข้าลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กันบ้างแล้ว และนักลงทุนหลายท่านก็กำลังตัดสินใจเช่นกันว่าจะลงทุนในหุ้นแบบไหนดี ใหญ่หรือเล็ก แบบไหนที่น่าจะทำผลงานได้ดีหลังจากนี้ หรือหุ้นแบบไหนที่เหมาะกับตัวผู้ลงทุน สำหรับผมแล้วความแตกต่างระหว่างหุ้นใหญ่และหุ้นเล็ก นอกเหนือจากนิยามตามขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) แล้ว ยังมีประเด็นอื่นที่ต้องพิจารณา ดังนี้

* ความเสี่ยง-หุ้นเล็กโดยทั่วไปมีความเสี่ยงมากกว่าหุ้นใหญ่

หุ้นเล็กมักมีความคาดหวังการเติบโตของกำไรที่สูง ซึ่งนำไปสู่การซื้อขายของหุ้นในราคาที่แพง ส่วนหุ้นใหญ่มีฐานของกำไรที่ใหญ่มากอยู่แล้ว การเติบโตของกำไรที่จะโตแบบก้าวกระโดดจึงค่อนข้างจะหายาก ความเสี่ยงของหุ้นเล็กจึงอยู่ที่ผลการดำเนินงานของบริษัทว่าจะสามารถชนะความคาดหวังของตลาดได้มากน้อยขนาดไหน การร่วงลงอย่างมากของราคาหุ้นขนาดเล็กหลายๆตัวในช่วงเดือนที่ผ่านมาบ่งบอกถึงความเสี่ยงของหุ้นเล็กในเชิงมาร์เก็ตแคปได้เป็นอย่างดี

* ความผันผวนของราคา-หุ้นเล็กโดยทั่วไปมีความผันผวนของราคามากกว่าหุ้นใหญ่

การพุ่งขึ้นของราคาอย่างมากและรวดเร็วของหุ้นเล็กในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นำไปสู่ฐานที่กว้างขึ้นของการถือครองหุ้นเล็กของนักลงทุนประเภทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศ

แนวโน้มดังกล่าวนำไปสู่ความเสี่ยงต่อมาคือ ในเรื่องความผันผวนของราคาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงขาลง การลงของราคา 10-20% ของหุ้นเล็กหลายๆ ตัว เนื่องมาจากสภาพคล่องของตลาดที่ไม่เพียงพอต่อการสภาพคล่องหุ้นเล็กของนักลงทุนกลุ่มดังกล่าวที่มีการสะสมหุ้นเล็กเป็นจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในทางตรงกันข้าม หุ้นใหญ่มีความผันผวนของราคาที่น้อยกว่าแม้ในภาวะขาลงอันเนื่องมาจากสภาพคล่องของการซื้อขายที่เพียงพอนั่นเอง

หุ้นใหญ่ vs หุ้นเล็ก

การปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าตลาดของหุ้นขนาดเล็กมาตั้งแต่ต้นปี อาจทำให้เกิดความกังวลว่าหุ้นเล็กหมดเสน่ห์แล้วใช่ไหม คำตอบคือไม่เลย

หากเราใช้ SET/SET50 เป็นพ็อกซี่ของการเปรียบเทียบราคาตามผลการดำเนินงานของหุ้นขนาดเล็กเปรียบเทียบกับหุ้นใหญ่ จะพบว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การถือครองหุ้นขนาดเล็กดีกว่าการถือหุ้นใหญ่อย่างชัดเจนในแง่การลงทุน อาจจะมีบางช่วงที่การถือครองหุ้นใหญ่จะดีกว่าหุ้นเล็ก ซึ่งเป็นเพียงช่วงสั้นเท่านั้น

* ความไม่แน่นอนของตลาดโดยรวม ทำให้นักลงทุนเลือกที่จะถือครองในหุ้นที่ราคาถูก (หุ้นใหญ่) มากกว่าหุ้นที่แพง (หุ้นเล็ก)

* หุ้นเล็กพร้อมใจกันมีผลประกอบการที่ไม่ดี หรือดี (แต่น้อยกว่าที่ตลาดคาดหวัง)

สิ่งที่นักลงทุนควรจะต้องกลับมาพิจารณาคือ การคำนึงถึงหลักการเบื้องต้นในเรื่องการลงทุนคือ ความคาดหวังการเติบโตของกำไรในอนาคตมันคุ้มกับราคาที่ซื้อขาย ณ ปัจจุบันหรือไม่

ความน่าเชื่อถือของตัวเลขประมาณการของหุ้น ความสามารถของผู้บริหารในเรื่องผลการดำเนินงาน รวมถึงการประเมินพื้นฐานในด้านอื่นๆ ประกอบในเชิงลึก เป็นสิ่งที่ บลจ.ธนชาต ให้ความสนใจเพื่อการคัดเลือกหุ้นที่จะลงทุนด้วยความเสี่ยงที่น้อยลงและโอกาสที่จะกำไรมากขึ้น

สำหรับ บลจ.ธนชาต ก็มีกองทุนหุ้นไทยที่เน้นการลงทุนในหุ้นเล็ก คือ T-SM CAP ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นจุดแข็งของผู้จัดการกองทุนในการเลือกหุ้น โดยเน้นเลือกหุ้นที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ต่ำ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วสามารถสร้างผลตอบแทนได้ชนะหุ้นไทยโดยรวม กองทุนทำผลงานในปี 2558 และ 2559 อยู่ที่ 6.04% และ 23.04% ต่อปี เปรียบเทียบกับ SET Index ซึ่งทำผลตอบแทนได้ -14.00% และ 19.79% ต่อปีตามลำดับ และสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี เราก็มีกองทุน T-SMCapLTF เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเช่นกัน

หากท่านผู้อ่านสนใจหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อที่ บลจ.ธนชาต หรือธนาคารธนชาตได้ทุกสาขาครับ