posttoday

การดำเนินนโยบายการเงินรูปแบบใหม่ของเฟด

10 มีนาคม 2560

โดย...ดร. สมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บลจ. กรุงไทย

โดย...ดร. สมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บลจ. กรุงไทย

เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ขึ้น? เราเจอกับคำถามแบบนี้มา 2 ปีกว่าแล้ว แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เฟดเพิ่งจะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้เพียง 2 ครั้งเท่านั้น พอมาในปีใหม่นี้เราก็กลับเจอกับคำถามเดิมๆ อีก แต่คราวนี้สถานการณ์คงจะต่างจากเดิม อย่างน้อยก็ในการประชุมครั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่งต่อเนื่อง ขณะที่ “ตลาด” เองก็ไม่ได้ออกอาการ “ต่อต้าน” แต่อย่างใด โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 14-15 มี.ค. นี้จึงได้เพิ่มขึ้นสูงมาก ค่าความน่าจะเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด คำนวณจาก Fed Fund Futures เพิ่มขึ้นมาเป็น 100% แล้ว (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มี.ค. 2560) เรียกว่าตลาด “ฟันธง” กันไปแล้วในรอบนี้

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ค่าความน่าจะเป็นดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อสิ้นเดือนก่อน (ไม่กี่วันก่อนหน้านี้) ค่าความน่าจะเป็นนี้อยู่ที่ประมาณ 50% และถ้าย้อนหลังจากนั้นไปอีกเพียง 2 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น ตลาดมองโอกาสแค่ 30-35% เท่านั้น คำถามคือ อะไรที่ทำให้ตลาดเปลี่ยนความคิดได้เร็วขนาดนี้? จริงอยู่ว่าตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น แต่สาเหตุหลักน่าจะมาจากการส่งสัญญาณของเฟดเสียมากกว่า

 

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานเฟดหลายสาขาได้ออกมาประสานเสียงกันว่าเฟดควรจะขึ้นดอกเบี้ย “เร็วๆ นี้” ไม่ว่าจะเป็น นาย บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์, นาย แลคเกอร์ สาขาริชมอนด์ และนาย แคปแลน สาขาดัลลัส และต่อมา นาย ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) อย่างถาวรโดยตำแหน่ง ก็ออกมาระบุว่าปัจจัยสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดกำลังมีน้ำหนักมากขึ้น อีกทั้ง ล่าสุด นาง เยลเลน ประธานเฟด และ นายฟิชเชอร์ รองประธานเฟด ก็ออกมาส่งสัญญาณถึงการขึ้นดอกเบี้ยด้วย จนดูเหมือนกับว่าเฟดจะออกมาแถลงมติการประชุม ก่อนการประชุมจะเกิดขึ้นเสียอีก ถือได้ว่าเฟดประสบความสำเร็จในการปรับมุมมองของตลาดได้อย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบค่อนข้างน้อย

ทั้งนี้ ในสมัยหนึ่ง เมื่อนานมาแล้ว เฟดไม่ได้มีการเผยแพร่ผลการประชุมต่อสาธารณะชนแต่อย่างใด นักลงทุนต้อง “เดา” เอาเองว่ามติของเฟดในการประชุมนั้นๆ เป็นอย่างไร แต่ต่อมาเริ่มแนวคิดของการดำเนินนโยบายการเงินให้โปร่งใสจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน จนทำให้เฟดเริ่มมีเผยแพร่รายงานผลการประชุมทันทีหลังการประชุม ในช่วงหลังๆ มานี้ เฟดก็ได้จัดให้การแถลงการณ์ของประธานเฟดต่อสื่อมวลชน และมีการนำเสนอ Dot Plot ที่สะท้อนคาดการณ์ดอกเบี้ยในอนาคตของเฟดแต่ละท่าน (โดยไม่เปิดเผยชื่อ) อย่างไรก็ตาม เฟดหยุดอยู่เพียงแค่นั้น และยังไม่ได้ก้าวต่อไปถึงขั้นที่จะระบุความเห็นของเฟดเป็นรายบุคคล หลักๆ ก็เพื่อไม่ต้องการให้เกิดแรงกดดันต่อเฟดมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ท่าทีของเฟดในช่วงที่ผ่านมาแทบจะเป็นการบอกความเห็นของแต่ละท่านอยู่แล้ว และแถมยังเป็นการชี้นำมติที่ประชุมเสียอีก (ซึ่งก็น่าสงสัยว่าหากมติที่ประชุมแตกต่างจากสัญญาณที่สื่ออกมา แล้วจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของเฟดอย่างไร) สัญญาณที่สื่อออกมาไม่จำเป็นต้องรอถึงวันประชุม แต่การแถลงการณ์ต่างๆ กลายเป็นการชี้ถึงทิศทางของนโยบายการเงินในอนาคตไปเสียแล้ว อาจถือเป็นการดำเนินนโยบายการเงินในรูปแบบใหม่ของเฟดก็เป็นได้ วันที่ประชุมเฟดอาจมีความหมายน้อยลง หากสัญญาณสามารถสื่อออกมาได้ตั้งแต่ก่อนหน้านั้น

ในด้านที่ดี นั่นอาจทำให้ความผันผวนของตลาดในช่วงวันประชุมเฟดลดลง เพราะตลาดได้ “รับรู้” ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม  ในเมื่อความผันผวนเป็นเรื่องปรกติของการลงทุน ความผันผวนที่ลดลงจากจุดหนึ่งก็อาจจะไปโผล่ที่อีกจุดแทน ซึ่งอาจกลายเป็น

ในช่วงที่เฟดมีแถลงการณ์, กล่าวสุนทรพจน์ หรือให้สัมภาษณ์ ในแต่ละครั้งแทน (ซึ่งก็บ่อยพอสมควร) ตลาดจะต้องมากังวลว่าจะมีสัญญาณใหม่ๆ ออกมาจากเฟดหรือไม่ Major shock ในวันประชุมอาจจะน้อยลง แต่เราอาจเผชิญกับ Minor shock ที่บ่อยขึ้น

ส่วนมุมมองในด้านการลงทุนจากนี้ไป เดิมหลายคนอาจจะมองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแค่ 2 ครั้งในปีนี้ แต่การที่เฟดเริ่มขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด ทำให้ตลาดเริ่มเชื่อถึงการขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งก็ต่างจากเดิมไม่มาก เรายังเห็นน้อยคนที่จะออกมาชี้ว่าเฟดขึ้นถึง 4 ครั้งในปีนี้ ซึ่งตลาดเองก็กำลัง “ตอบรับ” ต่อคาดการณ์ใหม่นี้ จะเห็นว่า Yield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.39% เมื่อสิ้นเดือนก่อน (ตอนที่ตลาดมองโอกาสขึ้นดอกเบี้ยของเฟดแค่ครึ่งเดียว) มาเป็น 2.52% ในปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 12.8bps (เท่ากับดอกเบี้ยเฟดที่จะปรับขึ้นคูณกับโอกาสที่เพิ่มมาครึ่งหนึ่ง) ขณะที่ดัชนี S&P500 ก็เริ่มทรงตัว ตลาด EM เผชิญแรงขายเล็กน้อย นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังมองว่าการที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นนั้นเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม เราอาจจะกังวลว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะชะลอลงบ้าง รวมถึงความเสี่ยงเรื่องการเมืองยุโรปที่จะเพิ่มขึ้น เราจึงยังมีมุมมองที่ “ระมัดระวัง” ต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระยะสั้นๆ นี้

ส่วนผลกระทบต่อดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้นคงมีน้อย เศรษฐกิจไทยเพิ่งมีส่งสัญญาณที่ดีขึ้นบ้าง นำโดยการใช้จ่ายภาครัฐ, การส่งออก และการท่องเที่ยว แต่ยังต้องติดตามการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคว่าจะฟื้นหรือไม่ ส่วนเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ เรามองว่าอาจจะลดลงในช่วงถัดไปหลังจากฐานของราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เรายังอาจจะกังวลต่อทิศทางค่าเงินบาทว่าจะแข็งขึ้นจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง มากกว่าจะอ่อนจากการไหลออกของเม็ดเงินลงทุน ทำให้เรามองว่า กนง. อาจจะยังไม่มีเหตุผลต้องปรับดอกเบี้ยตามเฟดในปีนี้ครับ